No data was found

สภาฯ ถกพ.ร.ก.ฟื้นฟูช่วยผู้ประกอบธุรกิจ เหตุโควิด-19 พ่นพิษ

กดติดตาม TOP NEWS

กรุงเทพฯ 27 พ.ค.- “อาคม” แจงเหตุผลความจำเป็นพ.ร.ก.ฟื้นฟู ช่วยผู้ประกอบธุรกิจ เหตุโควิด-19 พ่นพิษ ด้าน “พิจารณ์” แนะ 4 แนวทาง แก้จุดอ่อน  “กนก” เสนอให้ 3 ธนาคารรัฐ ปล่อยกู้ ให้เอสเอ็มอี

เมื่อเวลา 13.30 น. ที่รัฐสภา นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาพ.ร.ก.การให้ความช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2564 (ซอฟท์โลน) โดยเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมพ.ร.ก.ฉบับเดียวกันที่มีผลบังคับใช้ เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2563 เพื่อผ่อนปรนเงื่อนไขให้กลุ่มผู้ประกอบธุรกิจสามารถเข้าถึงการกู้เงินตามพ.ร.ก.ดังกล่าวได้

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า จากการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ทำให้เมื่อวันที่ 23 มี.ค. 64 คณะรัฐมนตรี ได้เห็นชอบให้ตราพ.ร.ก.การให้ความช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2564 หรือพ.ร.ก.ฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจฯ จากนั้นได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งรัฐธรรมนูญ มาตรา 172 กำหนดให้การตราพ.ร.ก.ทำได้เมื่อ ครม.เห็นว่าเป็นกรณีฉุกเฉินเร่งด่วนอันไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ และให้คณะรัฐมนตรีเสนอต่อรัฐสภาเพื่อพิจารณาเพื่อไม่ชักช้า โดยมีเหตุผลและความจำเป็นว่าการแพร่ระบาดไวรัสโควิด -19 ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างและยาวนานกว่าที่คาดการณ์ไว้เดิม ส่งผลให้ความเสี่ยงด้านเครดิตในระบบการเงินของประเทศปรับสูงขึ้นมา

นายอาคม กล่าวว่า แม้ช่วงที่ผ่านมาภาครัฐจะช่วยลูกหนี้อย่างต่อเนื่อง แต่ผู้ประกอบธุรกิจได้รับผลกระทบจำนวนมาก จำเป็นต้องได้รับการฟื้นตัว และได้รับการช่วยเหลือเพิ่มเติม เพื่อให้สามารถกลับมาประกอบธุรกิจได้ จึงจำเป็นต้องมีมาตรการทางการเงินเพื่อสร้างสภาพคล่องเพิ่มเติมให้สอดคล้องกับวัฎจักรการฟื้นตัวเศรษฐกิจโลก รวมถึงมีมาตรการลดภาระหนี้ให้ผู้ประกอบธุรกิจ โดยเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบธุรกิจโอนทรัพย์สินชำระหนี้แก่สถาบันการเงิน โดยมีเงินไว้ซื้อคืนราคาที่โอนไป และมีสิทธิ์เช่าทรัพย์สินนั้นไปประกอบธุรกิจ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดสภาวะขาดสภาพคล่อง เพราะจะส่งผลต่อเสถียรภาพทางการเงินของประเทศ ซึ่งต้องเร่งทำอย่างเร่งด่วนไม่ให้เกิดปัญหาลุกลามบานปลาย เพื่อรักษาความมั่นคงทางเศรษฐกิจในประเทศ จำเป็นต้องตราพ.ร.ก.ฉบับนี้

ทั้งนี้ในการอภิปรายของส.ส.นั้น มีประเด็นน่าสนใจ โดยนายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า การช่วยเหลือผู้ประกอบการตามพ.ร.ก.ดังกล่าวไม่สามารถทำได้จริง เพราะพบว่ามีธนาคารปฏิเสธการให้กู้ยืมเงิน เช่น กรณีของผู้ประกอบการธุรกิจในจังหวัดภูเก็ต ที่ต้องการเงินกู้ไปพัฒนาฟื้นฟูธุรกิจและเตรียมพร้อมเข้าสู่โครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ แต่พบว่าถูกปฏิเสธการให้กู้เงินด้วยหลายเหตุผล เช่น ธุรกิจโรงแรมที่ขอสินเชื่อไม่มีใบอนุญาต, ติดเครดิตบูโร, วงเงินกู้เต็มแล้ว ทำให้ผู้ประกอบการไม่สามารถได้รับความช่วยเหลือจากพ.ร.ก.ดังกล่าว ตนจะรวบรวมข้อมูลและเชิญผู้ประกอบการ หารือกับธนาคารแห่งประเทศไทยเพื่อหาทางช่วยเหลือต่อไป

นายพิจารณ์ กล่าวว่า ตนมีข้อเสนอเพื่อช่วยธุรกิจขนาดเล็กในช่วงวิกฤต คือธนาคารแห่งประเทศไทย ควรเร่งสร้างความมั่นใจกับการค้ำประกันหนี้ เพื่อสร้างความเชื่อมั่น จ่ายค่าธรรมเนียมพิเศษให้ธนาคาร หากพบการขอกู้เงินของเอสเอ็มอีต่ำกว่า 2 ล้านบาท เร่งปล่อยสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการรายย่อย ผ่านสถาบันการเงินของรัฐ และรัฐบาลต้องตั้งคลีนิกช่วยกู้ โดยเปิดคอลเซ็นเตอร์ ช่วยผู้ประกอบการให้เข้าถึงสินเชื่อของสถาบันเงิน

“ผมเห็นใจธนาคารแห่งประเทศไทย แม้จะตั้งหลักเกณฑ์และมาตรการให้ดี ยากชนะกลไกการตลาด ที่ธนาคารพาณิชย์ต้องคำนึงถึงผู้ถือหุ้น และผลประกอบการ ดังนั้นเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อย ขอให้รัฐบาลหยุดโม้ว่าสามารถหยุดเชื้อได้ เพราะตัวเลขผู้ติดเชื้อไม่สูง แต่ควรพิจารณาถึงความเสียหายทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตามรัฐบาลเป็นผู้ยื่นความเป็นหนี้ให้ ทั้งที่ผลกระทบไม่ได้เกิดจากการวางแผนธุรกิจ หรือการเงินที่ไม่รอบคอบ หรือความผิดพลาดของผู้ประกอบธุรกิจ แต่กลับเป็นรัฐบาลที่ล้มเหลว ไม่รอบคอบ ทำให้เสียสมดุลระหว่างสาธารณสุขและการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ รัฐบาลการ์ดตก ล้มเหลว สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจ” นายพิจารณ์ กล่าว

ขณะที่นายกนก วงษ์ตระหง่าน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายว่า การออกพ.ร.ก.ดังกล่าว ไม่สามารถทำให้สถาบันการเงินที่กังวลต่อการปล่อยกู้ ในประเด็นไม่คุ้มค่ากับความเสียหายกลับมาปล่อยกู้ได้ อีกทั้งการประกอบธุรกิจขณะนี้ พบว่าเกิดลักษณะ ซอมบี้ คอมปานี หรือธุรกิจผีดิบที่ไม่เติบโต และไม่ตาย เชื่อว่าธนาคารจะไม่ปล่อยเงินให้กู้ ซึ่งจากการติดตามของกรรมาธิการฯ พบว่ามีกลุ่มธุรกิจรายย่อยมาร้องเรียนกับกรรมาธิการ และเมื่อกลับไปยังภูมิลำเนา พบว่าธนาคารปฏิเสธไม่ร่วมทำการค้าด้วย ดังนั้นความคิดและทัศนคติของธนาคารไม่เหมาะสม

“หากเอสเอ็มอีตาย เศรษฐกิจอยู่ไม่ได้ และธนาคารอยู่ไม่ได้ ดังนั้นผมขอให้กระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย คิดให้มาก ผมเห็นด้วยกับพ.ร.ก.ฉบับนี้ ผมยกมืออนุมัติให้ แต่พ.ร.ก.ฉบับนี้มีจุดอ่อน คือไม่ช่วยธุรกิจเอสเอ็มอีให้เข้มแข็ง เพราะไม่มีการให้คำปรึกษาทางธุรกิจแบบใหม่ หลังจากวิกฤตโควิด-19 คลี่คลาย ด้วยข้อจำกัดที่ช่วยการเงินให้เอสเอ็มอี ที่ช่วยไม่ครบและธนาคารพาณิชย์ไม่ให้ เนื่องจากกลัวเอ็นพีแอล เพราะมีหนี้มาก ทั้ง หนี้บัตรเครดิต 8 ล้านล้านบาท หนี้ครัวเรือน ดังนั้นควรใช้ธนาคารพาณิชย์ของรัฐ เช่น ธนาคารออมสิน ธนาคาร ธกส. ธนาคารกรุงไทย เป็นต้น กล้าเสี่ยงเพื่อช่วยเอสเอ็มอี ต้องออกระเบียบคู่ขนาน เพื่อช่วยปรับโมเดลธุรกิจของเอสเอ็มอี” นายกนก กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าจนถึงเวลา 18.00 น. ที่ประชุมสภายังคงอภิปรายกันอยู่

 

ข่าวที่น่าสนใจ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด

กระบะฝ่าไฟแดง พุ่งเสยรถจอดติดไฟแดง กลางเมืองศรีราชา พังเสียหาย 4 คันรวด
"ผู้การแต้ม" เตือน "บิ๊กโจ๊ก" ระวังทำผิดกม.เพิ่ม ย้ำรักษาการผบ.ตร. สั่งให้ออกจากราชการ ทำถูกกม.ทุกประการ
วงจรปิดจับชัด ลูกน้อง "บิ๊กโจ๊ก" ปลดป้ายหน้าห้องทำงาน พร้อมขนของออกจากสำนักงาน
ร้อนทะลุ 42 องศาฯ "ควาญช้าง" เฝ้าระวัง อาบน้ำให้วันละ 8 ครั้ง กังวลช้างหงุดหงิด คลั่ง
"สันติสุข" ชี้ทำทีวีไม่ง่าย แบกรับต้นทุน ขอบคุณแฟนข่าว เจ้าของสินค้า นำพา Top News ทำหน้าที่สื่อต่อไป
บุกจับ "แก๊งพระ" ลอบล่าสัตว์ป่าภูเขียว พบหลักฐานแน่น ช็อกหนักมีรองเจ้าคณะจังหวัดร่วมด้วย
โฆษกภูมิใจไทย แจง "บี พุฒิพงษ์" ค้านดิจิทัล วอลเล็ต เป็นเรื่องส่วนตัว เผย 1 ปีแล้วไม่เข้าร่วมกิจกรรมพรรค
ศาลพิพากษา ลงโทษปรับหนักผู้ต้องหาคดีหมูเถื่อนคนละ 8.6 ล้านบาท
อุกอาจ หนุ่ม Messenger ติดพนันออนไลน์ กระชากสร้อยต่อหน้ารถสายตรวจ สุดท้ายไม่รอด
สภาพอากาศวันนี้ กรมอุตุฯ เผยอากาศร้อนจัดในตอนกลางวัน เตือน 33 จว. มีฝน

ดู LIVE รายการ

X

เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น