“สบท.” รุกยื่นหนังสือ “นายกฯ” สอบสภาองค์ของผู้บริโภค ชี้ประเด็นใช้งบฯ 600 ล้าน-สรรหาเลขาธิการไม่โปร่งใส
ข่าวที่น่าสนใจ
20 พ.ค. 2568 ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของรัฐบาล นายจินดา เจริญสุข ตัวแทนเครือข่ายสิทธิผู้บริโภคเพื่อที่อยู่อาศัย หรือ สบท. พร้อมคณะกว่า 10 คน เดินทางยื่นหนังสือถึง นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้รักษาการตามกฎหมายสภาองค์กรของผู้บริโภค เพื่อขอให้ตรวจสอบการปฎิบัติหน้าที่ของสภาองค์กรของผู้บริโภค เลขาธิการสำนักงานสภาองค์กรของผู้บริโภค และกระบวนการเปิดรับสมัครเลขาธิการสำนักงาน สภาองค์กรของผู้บริโภค เนื่องจากไม่โปร่งใส และไม่ปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องโดยมีนายสมพาศ นิลพันธ์ ที่ปรึกษาสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับหนังสือ
นายจินดา กล่าวว่า วันนี้มายื่นหนังสือให้นายกรัฐมนตรีเพื่อระงับการสรรหาเลขาธิการสำนักงานสภาองค์กรของผู้บริโภคที่จะปิดรับสมัครในวันนี้ (20 พ.ค.) ออกไปก่อน เนื่องจากขณะนี้สภาองค์กรฯ ยังมีประเด็นฟ้องร้องคาอยู่ที่ศาลปกครอง และทางสำนักงานตรวจเงินเเผ่นดิน หรือ สตง. ซึ่งอยู่ระหว่างการตรวจสอบ ขอให้การพิจารณาทั้งหมดสิ้นสุดก่อนจึงดำเนินการสรรหาเลขาคนใหม่ต่อไป เพื่อความโปร่งใสขององค์กร จึงขอให้นายกรัฐมนตรี ซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงต่อการจัดสรรงบอุดหนุนให้แก่หน่วยงานดังกล่าวและเป็นผู้ที่มีอำนาจในการกำกับดูแลการปฎิบัติงานของสภาองค์กรของผู้บริโภคใช้อำนาจของฝ่ายบริหารในการระงับยับยั้งความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น จากการขึ้นทะเบียนองค์กรของผู้บริโภค เพื่อฝ่าฝืนหรือละเมิดกฎหมายรวมตัวกันเป็นสภาองค์กรของผู้บริโภค ได้สั่งแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยให้เร่งรัดพิจารณาตรวจสอบข้อเท็จจริง เกี่ยวกับคุณสมบัติขององค์กรต่าง ๆ ที่มาขึ้นทะเบียนกว่า 160 องค์กร ที่ได้รวมตัวกันเพื่อจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภคมีคุณสมบัติครบถ้วนและถูกต้องตามกฏหมายหรือไม่ หากการแจ้งข้อมูลไม่เป็นไปตามกฎหมายกำหนดให้ยกเลิกเพิกถอนสถานภาพองค์กรและดำเนินการทางกฎหมายกับผู้กระทำความผิด
นายจินดา กล่าวว่า ขอให้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง เรื่องการใช้งบประมาณของสำนักงานสภาองค์กรของผู้บริโภค และการปฎิบัติงานที่ซ้ำซ้อนกับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ตลอดจนผลประโยชน์ทับซ้อนหรือความขัดแย้งระหว่างผลประโยชน์ส่วนตนและผลประโยชน์ส่วนรวม อันเนื่องมาจากบุคคลที่เกี่ยวข้องได้อยู่ในกระบวนการผลักดันการออกกฏหมาย รวมทั้งกรรมการของสภาองค์กรฯ บางคนที่เคยต้องคำพิพากษาในคดีอาญาอันเป็นลักษณะต้องห้ามในการดำรงตำแหน่งในคณะกรรมการตามกฎหมายทั่วไปแต่สามารถดำรงตำแหน่งในสภาองค์กรของผู้บริโภคได้
นายจินดา กล่าวว่า ขอให้ตรวจสอบกระบวนการได้มาซึ่งเลขาธิการสำนักงานสภาองค์กรของผู้บริโภคว่าชอบด้วยกระบวนการ ขั้นตอน แนวทางปฏิบัติตามที่กฎหมายกำหนด มีความโปร่งใสหรือผลประโยชน์ทับซ้อนของบุคคลผู้ดำรงตำแหน่งในปัจจุบัน หรือที่จะเข้ามารับตำแหน่งใหม่หรือไม่ เนื่องจากเกิดกระแสเกี่ยวกับความไม่ชอบมาพากลและความไม่โปร่งใสในการสรรหาบุคลากร มาปฎิบัติหน้าที่เลขาธิการ สำนักงานสภาองค์กรของผู้บริโภคมาตั้งแต่ต้นรวมทั้งการดำเนินการรอบใหม่
ทั้งนี้ ในระหว่างการตรวจสอบขอให้ระงับยับยั้งกระบวนการในการคัดเลือกสรรหาเลขาธิการสำนักงานสภาองค์กรของผู้บริโภค และให้เลขาคนปัจจุบันหยุดปฏิบัติหน้าที่ไปก่อน จนกว่ากระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริงจะยุติและมีการคัดเลือกสรรหาบุคลากรมาปฎิบัติหน้าที่แทนเลขาธิการสำนักงานสภาองค์กรของผู้บริโภคคนใหม่มารับหน้าที่ต่อจากคนเดิม
ต่อข้อถามว่าการยื่นหนังสือเพื่อระงับการสรรหาเลขาคนใหม่มาจากสาเหตุใด นายจินดา กล่าวว่า ที่มายื่นหนังสือให้ระงับการสรรหาไว้ก่อนเนื่องจากมีความไม่โปร่งใสเกิดขึ้น และเรื่องร้องเรียนต่างๆ ก็ยังอยู่ระหว่างการตรวจสอบของ ป.ป.ช. หรือ สตง. โดยเฉพาะเรื่องการบริหารงบประมาณที่มาจากภาษีของประชาชนของเลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภคคนเก่าที่หมดวาระลง และจะกลับเข้ามาในการสรรหาใหม่ เนื่องจากในการ สรรหาเลขาธิการสภาองค์การของผู้บริโภคคนใหม่ไม่มีการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับทราบจึงไม่มีบุคคลใดเข้ามาสมัครในครั้งนี้
นายจินดา กล่าวว่า เนื่องจากสภาองค์กรของผู้บริโภคขาดการประชาสัมพันธ์จึงทำให้ประชาชนไม่รับรู้การมีอยู่ของสภาฯ เป็นวงกว้าง ทำให้การบริหารจัดการงบประมาณกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มของคนใกล้ชิดไม่กระจายไปยังหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อช่วยเหลือ ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน หลังการจัดตั่งสภาฯ 3- 4 ปี งบประมาณที่ได้รับกว่า 600 ล้านบาทได้กระจุกตัวในกลุ่มเล็ก ๆ ส่วนประชาชนไม่ได้รับรู้ถึงเรื่องนี้เลย จึงต้องขอให้มีการตรวจสอบให้ชัดเจนต่อไป
ต่อข้อถามว่างบประมาณกระจุกตัวเป็นไปในรูปแบบไหน นายจินดา กล่าวว่า การกระจุกตัวของงบประมาณอยู่ในกลุ่มเฉพาะซึ่งแบ่งเป็นกลุ่มใคร กลุ่มใคร โดยอยู่ระหว่างการตรวจสอบและประชาชนทุกคนมีสิทธิคิดได้ถึงการกระจุกตัวของงบประมาณ รวมถึงความไม่โปร่งใสที่เกิดขึ้น จึงต้องมีการตรวจสอบให้ชัดเจนก่อน ขณะเดียวกัน ในการจัดตั้งสภาฯ สมาชิกของสภาฯ บางกลุ่มมีความไม่ถูกต้องจึงต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงเสียก่อน ส่วนการบริหารของอดีตเลขาสภาฯ มีความไม่โปร่งใสหรือไม่นั้น เรื่องนี้ทุกคนสามารถมองได้ เนื่องจากสภาฯ ใช้เงินภาษีของประชาชนในการบริหารจัดการองค์กร โดยบางคนอาจจะมองว่าการดำเนินงานมีความโปร่งใส และบางคนอาจจะมองว่าไม่โปร่งใส ตนจึงไม่อยากจะปรักปรำใคร
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ข่าวล่าสุด
เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น