ล็อบบี้วุ่นตั้ง เลขาฯ สภาองค์กรของผู้บริโภค กางบัญชี 6 ปี ฟาดเงินภาษีพันล้าน ใช้จ่ายคุ้มค่าหรือไม่?

ล็อบบี้วุ่นตั้ง เลขาฯ สภาองค์กรของผู้บริโภค กางบัญชี 6 ปี ฟาดเงินภาษีพันล้าน ใช้จ่ายคุ้มค่าหรือไม่?

ความคืบหน้ากรณีสภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) เปิดรับสมัครบุคคลเข้ารับการสรรหาเพื่อคัดเลือกและแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานสภาองค์กรของผู้บริโภค วาระการดำรงตำแหน่ง 4 ปี  โดยเริ่มรับสมัครตั้งแต่วันที่ 21 เมษายน-20 พฤษภาคม 2568  เพื่อแทนนางสารี อ๋องสมหวัง เลขาฯ คนเก่าที่กำลังจะหมดวาระลงในปีนี้
รายงานข่าวจากวงในของสภาองค์กรผู้บริโภคระบุว่า การสรรหาตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานสภาองค์กรของผู้บริโภคมีการพยายามล็อบบี้บรรดาผู้บริหาร และคณะกรรมการเพื่อให้เลือก นางสารี กลับมาดำรงตำแหน่งอีกครั้ง เนื่องจากข้อบังคับสภาองค์กรผู้บริโภคเปิดโอกาสให้เลขาฯคนเดิมกลับมานั่งตำแหน่งได้อีก 1 วาระ คือ 4 ปี  ซึ่งเรื่องนี้กลายเป็นข้อวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างมาก เพราะถือเป็นการให้ผู้สมัครรายอื่นเสียสิทธิหากมีการล็อบบี้กันจริง
สภาองค์กรของผู้บริโภค เกิดจากการรวมตัวของ 151  องค์กรผู้บริโภค ตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 46 และตามพระราชบัญญัติการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. 2562 มีสถานะองค์กรเป็นนิติบุคคล เป็นตัวแทนผู้บริโภคที่มีความเป็นอิสระ และมีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคในทุกด้าน โดยรัฐบาลจ่ายอุดหนุนจำนวน 350 ล้านบาท สำหรับดำเนินการให้องค์กรของผู้บริโภครวมตัวกันอย่างทั่วถึง โดยรัฐบาลเงินต้องอุดหนุนทั่วไปที่จัดสรรให้โดยตรงเป็นรายปีด้วย
อย่างไรก็ตามสภาองค์กรของผู้บริโภคถูกตั้งข้อสงสัยในการทำงานเกี่ยวกับความไม่ชอบมาพาพากลมาเนิ่นนาน โดยหากย้อนไปเมื่อช่วงเดือนตุลาคม ปี2563 นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ยื่นคำร้องต่อปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และกระทรวงยุติธรรม เพื่อให้ตรวจสอบ และเพิกถอนองค์กรผู้บริโภค 151 องค์กรที่ร่วมกันจัดตั้งเป็นสภาองค์กรของผู้บริโภค เพื่อขอรับเงินสนับสนุนงบประมาณแผ่นดินจากรัฐบาลจำนวน 350 ล้านบาท โดยตั้งข้อสังเกตว่า การจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภคมีบางองค์กรอาจถูกจัดตั้งขึ้นมาลอย ๆ  เพื่อให้ครบตามจำนวนที่กฎหมายกำหนด คือ ต้องมีสมาชิกอย่างน้อย 150 องค์กรขึ้นไปตาม พ.ร.บ.การจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค 2562 มาตรา 9 บัญญัติไว้

ข่าวที่น่าสนใจ

การร้องเรียนครั้งนั้นนายศรีสุวรรณได้รับเรื่องร้องเรียน จากเครือข่ายสื่อมวลชนท้องถิ่น ว่าชื่อองค์กรผู้บริโภคตามที่ระบุให้การจดแจ้งนั้น ในจังหวัดไม่มีตัวตนอยู่จริง  และจากการสุ่มตรวจสอบองค์กรผู้บริโภคตามบัญชีรายชื่อที่สำนักปลัดนายกรัฐมนตรีประกาศในระดับจังหวัดพบว่า หลายองค์กรเป็นองค์ทิพย์ไม่มีที่ตั้งตามที่แจ้งไว้ ซ้ำร้ายกว่านั้นยังพบว่า ที่อยู่ที่จดแจ้งในทะเบียนราษฎรไม่มีเลขที่ในสารบบเลย บางองค์กรไม่มีที่ตั้ง และไม่มีคนที่อ้างว่า เป็นประธานเครือข่ายอยู่ในพื้นที่  โดยพบว่า 16 องค์กรไม่มีคุณสมบัติตามที่กฎหมายกำหนด ดังนั้นจึงเชื่อว่าอีก 136 องค์กรที่เหลือ อาจมีลักษณะเดียวกันกับที่สุ่มตรวจก็ได้
ต่อมากระทรวงยุติธรรมได้มอบหมายเจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษเข้าตรวจสอบสถานะความเป็นองค์กรของผู้บริโภคจำนวน 151 องค์กรในหลายจังหวัด เช่น นครนายก ฉะเชิงเทรา  แต่ปรากฏว่า สภาองค์กรของผู้บริโภคตั้งโต๊ะแถลงข่าวโวยวายว่า ดีเอสไอตรวจสอบไม่ถูกต้อง ไปแบบโจร ไม่แจ้งล่วงหน้า พร้อมโยนบาปไปที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีว่า หากองค์กรสมาชิกใดตั้งขึ้นมาไม่ถูกต้องให้ไปตรวจสอบกับสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี
อย่างไรก็ตามในวันที่  21 ก.พ.65 นายศรีสุวรรณ ยื่นฟ้องปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ต่อศาลปกครองกลาง เพื่อขอให้ศาลมีคำพิพากษาสั่งเพิกถอนสมาชิกองค์กรผู้บริโภค “บางองค์กร” ที่มีคุณสมบัติไม่เป็นไปตามกฎหมาย รวมถึงเพิกถอนการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค จากนั้นในเดือนพฤษภาม 2565 ปลัดสำนักนายกฯ แจ้งผลการตรวจสอบกลับมาที่นายศรีสุวรรณว่า มี 3 องค์กรใน 151องค์กร เข้าข่ายมีลักษณะต้องห้ามที่จะรวมตัวจดแจ้งจัดตั้งเป็น “สภาองค์กรของผู้บริโภค” ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ.2562 คือ1.กลุ่มเอ็มลี้รักสุขภาพ จังหวัดลำพูน 2.กลุ่มพึ่งตนเองแม่ป๊อก จังหวัดลำพูน และ 3.ศูนย์คุ้มครองผู้บริโภคตำบลหนองหล่ม อำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง และนั่นย่อมจะให้การจดทะเบียนของ 3 องค์กรเป็นโมฆะ และการที่ 3 องค์กรมาร่วมเข้าชื่อเพื่อจดแจ้งจัดตั้งเป็น”สภาองค์กรของผู้บริโภค”ย่อมเป็นโมฆะด้วยหรือไม่
ขณะเดียวกันล่าสุด วันที่ 8 พ.ค.68  “ท็อปนิวส์” ตรวจสอบไปยังสำนักปลัดนายกรัฐมนตรี ได้รับการชี้แจงจากนายวิสุทธิ์ ฉัตรานุฉัตร  ผู้อำนวยการสำนักกฎหมายและระเบียบการสำนักปลัดนายกรัฐมนตรี ให้ข้อมูลว่า ในปี 2568 ที่ผ่านมาทาง”สภาองค์กรของผู้บริโภค”ได้รับเงินสนับสนุนไปจำนวน 150 ล้าน ขณะที่ปี 2569  สภาองค์กรของผู้บริโภคยื่นขอมากว่า 300 ล้าน ซึ่งได้นำเสนอ และอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของสำนักงบประมาณว่าจะจัดสรรให้จำนวนเท่าใด ส่วนเรื่องข้อพาทเกี่ยวกับปัญหาที่สภาองค์กรของผู้บริโภคถูกนายศรีสุวรรณร้องเรียนนั้น ขณะนี้เรื่องอยู่ที่ศาลปกครอง และจนถึงปัจจุบันนี้ยังไม่มีคำสั่งจากศาลปกครองให้มารับฟังการพิจารณาแต่อย่างใด ซึ่งในส่วนของสำนักปลัดนายกฯก็รอคำสั่งศาลปกครองว่าจะออกมาเช่นใด
อย่างไรก็ตามหากศาลปกครองพิจารณาว่าการจัดตั้งองค์กรของสภาองค์กรผู้บริโภคไม่ชอบด้วยกฎหมาย และเป็นไปตามที่นายศรีสุวรรณร้องเรียนนั้น  สภาองค์กรของผู้บริโภคจะต้องยุบไปตามกฎหมาย แต่ในตามกฎหมายสภาองค์กรของผู้บริโภคสามารถจัดตั้งองค์กรขึ้นมาใหม่ได้ แต่จะไม่ได้งบประมาณจำนวน 350 ล้านบาทอีกต่อไป เพราะกฎหมายกำหนดไว้ว่า งบประมาณจำนวน 350 ล้านจะใช้ได้ในการตั้งองค์กรครั้งแรกเท่านั้น แต่หากถามในแง่จริยธรรมส่วนตัวมองว่า สภาองค์กรของผู้บริโภคชุดเดิมไม่ควรกลับเข้ามาอีก เพราะมีเรื่องที่มัวหมองไปแล้ว
เมื่อถามว่า ที่ผ่านมาสำนักปลัดนายกฯได้ตรวจสอบว่า สภาองค์กรของผู้บริโภค มีการจัดตั้งองค์กรทิพย์หรือไม่ และปัจจุบันยังมีการร้องเรียนเกี่ยวกับความไม่ชอบมาพากลต่อสภาองค์กรของผู้บริโภคหรือไม่  นายวิสุทธิ์ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้สำนักปลัดสำนักนายกฯได้ลงพื้นที่ตรวจสอบพบว่าองค์กรที่จัดตั้งในหลายแห่งไม่มีอยู่จริงตามข้อร้องเรียน ซึ่งถือเป็นการผิด พ.ร.บ.การจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค 2562 มาตรา 9 และในปัจจุบันสภาคุ้มครองของผู้บริโภคยังมีเรื่องร้องเรียนอยู่ แต่จะเป็นเรื่องเกี่ยวกับการใช้งบประมาณไม่สมเหตุสมผล ซึ่งทางปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีได้ส่งเรื่องให้สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินเข้ามาทำการสอบสวนว่า การกระทำดังกล่าวมีความผิดจริงตามที่ถูกร้องเรียนหรือไม่
ทั้งนี้ตั้งแต่ปี 2564จนถึงปัจจุบัน สภาองค์กรผู้บริโภค ได้รับเงินอุดหนุนไปแล้วกว่า 1,000 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินตั้งต้นปี 2564 จำนวน 350 ล้านบาท ,ปี 2566 จำนวน 153 ล้านบาท ,ปี 2567 จำนวน 150 ล้านบาท และปัจจุบันสำหรับงบปี 2569 คณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติวันที่ 28 มกราคม 2568 จำนวน 377.40 ล้านบาท  ซึ่งหารวมล่าสุด สภาองค์กรของผู้บริโภคได้รับเงินอุดหนุนรวม 1,030 ล้านบาทเศษ ถือเป็นงบประมาณที่มาจากภาษีของคนทั้งประเทศ 
ดังนั้นคำถามที่เกิดขึ้น คนไทยได้ประโยชน์อะไรจากองค์กรที่มีข้อกังขาว่า เป็นองค์กรทิพย์ ไม่มีรูปแบบองค์กรที่แท้จริง ทำให้การจัดตั้งองค์กรขัดต่อ พ.ร.บ.การจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. 2562  และปัจจุบันยังมีเรื่องร้องเรียนอยู่ในการพิจารณาของศาลปกครองกลางว่า สภาองค์กรของผู้บริโภคจะเป็นองค์กรฯที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ … ?

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด

“สันติสุข” ถามดัง “ดิไอคอน” DSI อย่าเงียบ ผู้ต้องหาล็อตสองจะมากี่โมง 2 บอสดังจะรอดจริงหรือ?
รมว.ศธ. “เพิ่มพูน” ย้ำความมั่นใจเปิดเทอม นักเรียน-ผู้ปกครองอย่าตื่นตระหนกข่าวลือโควิด-19 ชี้สถานการณ์ยังอยู่ภายใต้การควบคุม
50 ปีสัมพันธ์ไทย-จีน จีนเปิดเขตสาธิตรวมอีคอมเมิร์ซข้ามชาติที่เอ้อโจว
"หมอวรงค์" เตือน "สมศักดิ์" อ่านระเบียบแพทยสภาดีๆ ใช้อำนาจสธ.1เกินตัว ระวังผิด ม.157
50 ปีสัมพันธ์ไทย-จีน จีนยกระดับหลักสูตร AI ในโรงเรียนอย่างเต็มรูปแบบ
(50 ปีสัมพันธ์ไทย-จีน) เกษตรกรจีนที่กวางตุ้งใช้ 'รถรางสายแตงกวา' ขนส่งผลผลิต
"เปรมชัย" นั่งวีลแชร์ นำทีมมอบตัว โดนหมายจับคดีก่อสร้างตึกสตง.ถล่ม
ล็อบบี้วุ่นตั้ง เลขาฯ สภาองค์กรของผู้บริโภค กางบัญชี 6 ปี ฟาดเงินภาษีพันล้าน ใช้จ่ายคุ้มค่าหรือไม่?
แบไต๋วีโต้แน่ "สมศักดิ์" ตั้งคกก.พิจารณามติแพทยสภา ลงโทษ 3 หมอ ชื่อทนายเสื้อแดง โผล่ร่วมด้วย
"อุตุฯ" เตือน 48 จังหวัด รับมือฝนตกหนักมาก ระวังน้ำท่วมฉับพลัน-น้ำป่าไหลหลาก กทม.ก็ไม่รอด

ดู LIVE รายการ

X

เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น