ทีมนักวิจัยที่มหาวิทยาลัยฮ่องกงระบุว่าแม้วัคซีนเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในการป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ แต่วัคซีนตามฤดูกาลในปัจจุบันครอบคลุมเฉพาะไวรัสบางสายพันธุ์และต้องฉีดกระตุ้นทุกปี โดยหากไวรัสที่ระบาดไม่ตรงกับสายพันธุ์ในวัคซีน ย่อมส่งผลให้ประสิทธิภาพลดลงได้
ทั้งนี้ ทีมนักวิจัยได้พัฒนากลยุทธ์นวัตกรรม 2 รูปแบบ เพื่อสร้างวัคซีนแอลเอไอวีรุ่นใหม่ ซึ่งพบว่าทั้งสองกลยุทธ์สามารถป้องกันสายพันธุ์ย่อยของไวรัสไข้หวัดใหญ่ สายพันธุ์เอ (A) ได้หลายตัว โดยกลยุทธ์แรกเป็นการแทรกยีนเฉพาะเข้าไปในไวรัสไข้หวัดใหญ่เพื่อกระตุ้นแอนติบอดีตามธรรมชาติของมนุษย์ ซึ่งช่วยเพิ่มการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันที่เกิดจากวัคซีน
ส่วนกลยุทธ์สองเป็นการแทรกการกลายพันธุ์แบบเงียบ (silent mutation) เข้าสู่ไวรัสไข้หวัดใหญ่ในมนุษย์ เพื่อเปลี่ยนรูปแบบการใช้โคดอน (codon) หรือรหัสพันธุกรรมจากรูปแบบไวรัสไข้หวัดใหญ่ในมนุษย์ให้คล้ายกับไวรัสไข้หวัดใหญ่ในนก ซึ่งช่วยให้ไวรัสดังกล่าวปลอดภัยต่อการใช้งานเป็นวัคซีนแอลเอไอวี
ลีโอ พูน ลิต-แมน ศาสตราจารย์ประจำคณะแพทยศาสตร์ กล่าวว่าข้อดีของวัคซีนแอลเอไอวีคือให้ทางจมูก ซึ่งสามารถกระตุ้นการตอบสนองภูมิคุ้มกันของเยื่อเมือกตามทางเดินหายใจ ช่วยป้องกันการติดเชื้อได้มากขึ้น โดยวิธีการให้วัคซีนโดยไม่ใช้เข็มนี้จะช่วยลดความกลัวในการฉีดวัคซีน โดยเฉพาะในเด็กเล็ก
เครดิต: ซินหัว