ทวงแชมป์โลกกุ้งไทย ไม่ใช่แค่ลมปาก

กดติดตาม TOP NEWS

ไทยเสียแชมป์ส่งออกกุ้งอันดับ 1 ของโลกไป ราวปี 2555 จากปริมาณที่เคยส่งออกสูงสุดกว่า 6 แสนตัน เหลือเพียง 2 แสนกว่าตันเท่านั้น ตกมาอยู่อันดับที่ 6 ในปีที่ 2564 เป็นรองประเทศอินเดีย เอกวาดอร์ เวียดนาม อินโดนีเซีย และสินค้าเกษตรตัวที่ 2 ที่เราสูญเสียมูลค่าทางเศรษฐกิจและสถานะแชมป์โลกอีกหนึ่งรายการ คือ ข้าวอันดับ 1 ของโลก ไปเมื่อปี 2561 จนถึงปัจจุบันตกลงมาเป็นอันดับ 3 รองจากอินเดียและเวียดนาม ตามลำดับ จากปริมาณส่งออก 11.23 ล้านตัน เหลือ 6.12 ล้านตัน สินค้าอาหารทั้งสองรายการมีความเหมือนกัน คือ “เสียตำแหน่ง” แต่ก็มีความแตกต่างกันที่ปัจจัยของมูลเหตุ

วันนี้ ขอปักหมุดประเด็นน่าสนใจเรื่องการนำเข้ากุ้งจากเอกวาดอร์และอินเดีย ที่มีการวิพากย์กันกว้างขวาง เพราะเชื่อมโยงกับการเสียแชมป์โลกส่งออกกุ้ง ขณะที่การนำเข้าดังกล่าวทำคนในอุตสาหกรรมเสียงแตกออกเป็น 2 ฝ่าย คือ ที่ยกมือเห็นด้วยคือห้องเย็น โรงงานแปรรูปและเกษตรกรบางส่วน โดยให้เหตุผลว่าจำเป็นต้องนำเข้าเพราะวัตถุดิบในประเทศขาดแคลนหนัก กับอีกฝ่ายออกเสียงคัดค้านประกอบด้วยสมาคมกุ้งไทยและเกษตรกรหลายพื้นที่ ด้วยมองการณ์ไกลว่าระยะยาว จะทำลายภาพลักษณ์สินรค้าคุณภาพดีที่ 1 ที่ไทยสั่งสมไว้ และความภักดีในแบรนด์สินค้าของผู้บริโภค (Brand Royalty) มายาวนาน ที่จะส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันของกุ้งไทยในอนาคตด้วย

สืบไปต้นทาง หลังส่งออกกุ้งไทยตกเป็นรองอินเดียและเวียดนาม เพราะโรคระบาดแพร่กระจาย เช่น โรคตัวแดงดวงขาว (WSD) โรค EMS เป็นต้นเหตุทำให้ผลผลิตลดลงต่อเนื่อง ส่งออกเลยร่วงตาม เป็นที่มาของการแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการห่วงโซ่การผลิตกุ้งทะเลและผลิตภัณฑ์ (Shrimp Board) ที่มี เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงนามแต่งตั้ง ขณะที่ เฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ อธิบดีกรมประมง ที่ชื่อเหมือนเจ้ากระทรวงผนึกกำลังกัน นั่งหัวโต๊ะ ร่วมกับ เกษตรกร ชมรม-สหกรณ์ผู้เลี้ยงกุ้ง ห้องเย็น และโรงงานแปรรูป (แต่ไม่มีสมาคมกุ้งไทย) เพื่อหาแนวทางการแก้ปัญหาและแบบบูรณาการในการแก้ปัญหาด้านโรคกุ้งทะเล โดยมีเป้าหมายเพิ่มผลผลิตกุ้งในประเทศให้ได้ 4 แสนตัน ในปี 2566

อย่างไรก็ตาม ผ่านมา 2 ปี ช่วงโรคกุ้งยังเป็นปัญหาเรื้อรัง เป้าหมายผลิตกุ้งปีนี้ 2.7-2.8 แสนตัน จากที่ฝันไว้ 3 แสนตัน ราคาก็ดีดตัวขึ้น ตามหลักการผลผลิตน้อยความต้องการสูง กระทบห้องเย็นและโรงงานแปรรูปผลผลิตไม่เพียงพอและต้นทุนสูง และอาจผิดสัญญาส่งมอบกับลูกค้าได้ จึงขอมติ Shrimp Board นำเข้าเอากุ้งราคาถูกจากต่างประเทศคือเอกวาดอร์เข้ามาเติมเต็มคำสั่งซื้อ ด้วยเงื่อนไขประกันราคารับซื้อในประเทศในราคาตลาด “ขายผ้าเอาหน้ารอด” หวังผลเฉพาะหน้า

ที่สำคัญ กรมประมง ไม่กระโตกกระตากให้สังคมรับรู้ แต่ดันปล่อยให้สื่อต่างประเทศป่าวประกาศว่าไทยอนุญาตให้นำเข้ากุ้งเอกวาดอร์ 36 ฟาร์ม โดยมีการตรวจสอบรับรองมาตรฐานด้านความปลอดภัยทางชีวภาพและยอมรับกันทั้งไทยและเอกวาดอร์ นับว่ารัฐบาลเอกวาดอร์มีเทคนิคการสร้างภาพลักษณ์แบบมืออาชีพในการยกระดับสินค้ากุ้งของตัวเอง โดยเกาะประเทศไทยไว้ ในฐานะประเทศผู้ส่งออกกุ้งคุณภาพสูงและราคาดี “ยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว”

หากมองระยะยาวว่าการนำเข้าครั้งนี้ เป็นการส่งเสริมให้เอกวาดอร์ขึ้นมาผงาดในตลาดโลกทัดเทียมเรา จากความได้เปรียบทั้งปริมาณการผลิต ต้นทุนที่ต่ำกว่าและราคาที่จูงใจผู้ซื้อมากกว่าไทยแล้ว ขณะที่ดึงกุ้งไทยให้ต่ำลงในสายตาผู้นำเข้าเพราะกุ้งของเอกวาดอร์คุณภาพเป็นรองไทย ความน่าเชื่อถือที่สั่งสมมาเนิ่นนานต้องตกต่ำลง ที่สำคัญการนำเข้าวัตถุดิบกุ้งราคาถูกเข้ามา ใครจะรับประกันว่าจะไม่มีการกดราคาในประเทศไทย

ปัญหาของภาครัฐ คือ ทำไมยังหาทางแก้ปัญหาโรคให้เกิดผลสัมฤทธิ์ไม่ได้ วาระแห่งชาติที่เป็นรูปธรรมควรชัดเจนหากต้องทวงตำแหน่งแชมป์โลกคืน งานวิจัยเพื่อการพัฒนาต้องดำเนินการอย่างรวดเร็วกับสถาบันการศึกษาและผู้เชี่ยวชาญ เพื่อเดินหน้าสู่ความสำเร็จ เพื่อหารูปแบบฟาร์มและวิธีป้องกันโรคที่เหมาะสม และถ่ายทอดให้เกษตรกรนำไปเพิ่มผลผลิตอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อความ “มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน” แทนที่จะปล่อยให้ห้องเย็นนำเข้ากุ้งราคาถูกมาผสมกับกุ้งราคาแพงของไทยเพื่อลดต้นทุนการผลิต และสำราญกับผลประโยชน์จนเกิดเป็นความเคยชิน แบบนี้กุ้งไทยก็เดินหน้าไปไม่ถึงฝั่งฝัน ที่สำคัญผู้บริโภคทั่วโลกก็จะลดเกรดกุ้งไปอยู่กลุ่มเดียวกับเอกกวาดอร์ ถึงเวลานั้นสถานะกุ้งไทยคงไม่เหลืออันดับใดๆ ในตลาดโลก

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

-

เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น