No data was found

 กกร. หั่นจีดีพี ปี 64 เหลือ 0.0 ถึง 1.5% จี้รัฐกระจายวัคซีนภาคอุตสาหกรรม

กดติดตาม TOP NEWS

คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ปรับลดจีดีพี ปี 64 เหลือ 0.0 ถึง 1.5% จากโควิดระลอก 3 เร่งรัฐบาลรีบคุมโควิด-19 สร้างความเชื่อมั่น หวั่นกระทบเป็นเจ้าภาพเอเปคปี 65 และรีบกระจายวัคซีนให้ภาคอุตสาหกรรม หลังมีการระบาดต่อเนื่อง

วันนี้(7 ก.ค.64) การประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประจำเดือนกรกฎาคม 2564 โดยมีนายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย เป็นประธาน กกร. โดยมีนายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) และนายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เป็นประธานร่วม ในการประชุมทางไกล ผ่านจอภาพ (Video Conference)

กกร. ระบุ เศรษฐกิจไทยยังเผชิญความเสี่ยงค่อนข้างมาก จากการระบาดระลอกใหม่ที่รวดเร็วและรุนแรง กระทบอุปสงค์ในประเทศ แม้เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวชัดเจนขึ้น ส่งผลดีต่อแนวโน้มส่งออกของไทย กกร.จึงปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2564 เป็นขยายตัวได้ในกรอบ 0.0% ถึง 1.5% ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโควิด-19 และมาตรการเพิ่มเติมของรัฐ

ด้านการส่งออก กกร. ปรับเพิ่มประมาณการการส่งออกในปี 2564 คาดว่าจะขยายตัว 8.0% ถึง 10.0% จากเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวดีกว่าคาด ภายใต้เงื่อนไขสามารถควบคุมการระบาดในกลุ่มแรงงานภาคอุตสาหกรรมได้ และการฉีดวัคซีนให้แรงงานภายใต้ ม.33 ได้ทั่วถึง ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ในกรอบ 1.0% ถึง 1.2%
ทั้งนี้ ขอให้รัฐบาล เร่งจัดสรรวัคซีนสำหรับภาคอุตสาหกรรม เพื่อรักษาความสามารถในการส่งออกสินค้าให้ได้ตามเป้าหมาย

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธาน ส.อ.ท. กล่าวถึงเรื่องวัคซีนว่า กกร.มองว่าเป็นสิ่งจำเป็น โดยเฉพาะปีหน้าไทยเป็นเจ้าภาพเอเปค ถ้ายังไม่สามารถสร้างความมั่นใจในเรื่องการแพร่ระบาดได้ โอกาสทองก็อาจจะหลุดลอยไปได้ อันนี้ก็เป็นสิ่งที่เป็นกังวล

นอกจากนี้ ยังเป็นห่วงถึงสภาพคล่องของเอสเอ็มอี ค่อนข้างย่ำแย่ เอสเอ็มอีที่มีปัญหาด้านการเงินหลังจากการเกิดการแพร่ระบาดโควิด-19 วงเงินเดิมที่บสย.ตั้งไว้ 40% อาจไม่เพียงพอ อยากให้เกิดความช่วยเหลือสัก 70% ฝากให้รัฐบาลดูแลตรงนี้เพิ่มเติม ให้เอสเอ็มอีเกิดสภาพคล่อง

“วันนี้ เรื่องการส่งออก ตัวเลขดีขึ้นอย่างชัดเจน แต่อุตสาหกรรม ผู้ผลิตกำลังมีปัญหาเรื่องการระบาดอยู่ค่อนข้างเยอะ วัคซีนที่รัฐบาลจัดให้ตามมาตรา 33 ตอนนั้นเราดีใจ ว่าได้มีการช่วยเหลือภาคอุตสาหกรรมจริง จาก 1.5 ล้านโคส ก็ถูกตัดมาเหลือ 1 ล้านโดส วันนี้เองก็ได้ไม่ถึง 1 ล้านโดส และโรงงานต่างๆ ที่ทำเรื่องส่งออกทั้งหมด ก็อยู่ในปริมณฑลเป็นหลัก แต่วัคซีนที่จัดมาอยู่ในกรุงเทพฯ ก็เป็นที่น่ายินดี แต่โรงงานจำนวนมากที่อยู่ในปริมณฑล ไม่ว่าจะเป็นชลบุรี สมุทรสาคร อยุธยา ระยอง ล้วนแต่ไม่ได้รับการดูแลวัคซีนตรงนี้ ก็ยังน่าเป็นห่วง ทำให้เกิดการติด วันนี้เองก็ระบาดไปในหัวเมืองใหญ่ที่มีฐานการส่งออก อย่างสงขลา และตาก ซึ่งมีการแพร่ระบาดสู่ภาคอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง ก็ฝากว่า ถ้ารัฐจัดสรรวัคซีนก็อยากให้รัฐบาลมองถึงภาคอุตสาหกรรมตอนนี้ ซึ่งเราเป็นกำลังที่จะเสริมให้กับจีดีพีของประเทศอยู่”


ด้านนายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สนับสนุนเป็นอย่างยิ่ง ว่ารัฐบาลต้องรีบเร่งในการจัดวัคซีนมาให้มากและเร็วที่สุด ซึ่งมีความสำคัญเรื่องความปลอดภัย โดยเฉพาะในกรุงเทพและปริมณฑล รวมถึงภาคเศรษฐกิจด้วย

ส่วนเรื่องการฟื้นฟูเศรษฐกิจของไทย การเตรียมพร้อม 120 วัน ที่ทางภาครัฐต้องการเปิดประเทศ ทางหอการค้าจะมีการจัดการพบปะกับ CEO 40 ท่าน ในวันที่ 8 ก.ค. ซึ่งจะหารือเรื่องมาตรการต่างๆ และจะมีการนัดถกกับนายสุพัฒนพงษ์ พันธุ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี วันที่ 9 ก.ค. เพื่อนำเสนอเกี่ยวกับเอสเอ็มอีจะเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้เร็วที่สุดอย่างไรบ้าง ไม่เช่นนั้นผู้ประกอบการจะได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก

 

ขณะที่นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย ในฐานะประธานกกร. กล่าวว่า การประชุมกกร.ในวันนี้ ยังมีสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) สภาธุรกิจตลาดทุนไทย และสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เข้าร่วมหารือ ซึ่งจากการหารือในวันนี้ เห็นว่า

  • การระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่รุนแรงและยาวนานขึ้นกว่าที่ประเมินไว้ก่อนหน้า การแพร่ระบาดระลอกใหม่รุนแรงขึ้นจากเชื้อไวรัสโควิด-19 กลายพันธุ์ โดยเฉพาะสายพันธุ์เดลต้า ทำให้จำเป็นต้องใช้มาตรการที่เข้มงวดในการควบคุมการระบาด ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการดำเนินธุรกิจ การจ้างงานและรายได้แรงงาน ในพื้นที่ควบคุม นอกจากนี้ มาตรการจำกัดการเดินทางและข้อจำกัดในการกักตัว คาดว่ายังส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวในประเทศตลอดช่วงไตรมาสที่สาม และอาจจะกระทบแผนการเปิดประเทศได้ ดังนั้น ทุกฝ่ายจำเป็นต้องร่วมมือกันในการควบคุมการระบาดให้ได้โดยเร็ว โดยให้ความสำคัญสูงสุดกับการเร่งจัดหาวัคซีนให้เพียงพอและดำเนินการฉีดวัคซีนให้ได้ตามเป้าหมาย
  • ภาคการส่งออกของไทยยังมีแนวโน้มเติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง มีแนวโน้มเติบโตได้มากกว่าที่คาดไว้เดิม แม้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจทั่วโลกมีแนวโน้มแผ่วลงเล็กน้อยจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้าที่แพร่กระจายอย่างรวดเร็วไปเกือบ 100 ประเทศทั่วโลก ส่งผลให้หลายประเทศอย่างอังกฤษ รัสเซีย ฝรั่งเศส ออสเตรเลีย ต้องกลับมายกระดับมาตรการควบคุมโรคอีกระลอก ซึ่งเป็นปัจจัยที่อาจกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจและการค้าโลกในระยะต่อไป แต่ภาคส่งออกไทยยังมีศักยภาพและมีโอกาสในการเติบโตมากกว่าที่คาดไว้เดิม อย่างไรก็ตามภาคการผลิตของไทยยังมีความเสี่ยงจากการระบาดของโควิด-19 และการกระจายวัคซีนที่ยังไม่ทั่วถึง
  • เศรษฐกิจไทยยังต้องการแรงสนับสนุนจากทั้งนโยบายการเงินและการคลังเพิ่มเติม การแพร่ระบาดที่มีแนวโน้มยืดเยื้อทำให้ผู้ประกอบการขาดความเชื่อมั่น สะท้อนการสำรวจโดย ธปท. ในเดือน มิ.ย. ที่พบว่าผู้ประกอบการคาดการณ์ว่าธุรกิจอาจจะฟื้นตัวได้ในครึ่งหลังของปี 2565 เป็นต้นไป ซึ่งช้ากว่าเดิม 6 เดือน โดยธุรกิจส่งออกเป็นเพียง Engine เดียวของเศรษฐกิจ สอดคล้องกับประมาณการการเติบโตของเศรษฐกิจไทยที่ต่ำลงกว่าเดิม ดังนั้น เศรษฐกิจไทยยังต้องการแรงสนับสนุนจากนโยบายเพิ่มเติม เพื่อพยุงกิจกรรมทางเศรษฐกิจในระยะข้างหน้าและสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้ประกอบการ
  • เศรษฐกิจไทยยังเผชิญความเสี่ยงค่อนข้างมากจากการระบาดระลอกใหม่ที่รวดเร็วและรุนแรง กระทบต่ออุปสงค์ในประเทศ แม้ว่าเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวชัดเจนขึ้นต่อเนื่องจะส่งผลดีต่อแนวโน้มส่งออกของไทยในระยะต่อไป ที่ประชุม กกร. จึงปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2564 เป็นขยายตัวได้ในกรอบ 0.0% ถึง 5% ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโควิด-19 และมาตรการเพิ่มเติมของรัฐ ด้านการส่งออก กกร. ปรับเพิ่มประมาณการการส่งออกในปี 2564 คาดว่าจะขยายตัว 8.0% ถึง 10.0% จากเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวดีกว่าคาด ภายใต้เงื่อนไขสามารถควบคุมการระบาดในกลุ่มแรงงานภาคอุตสาหกรรมได้ และการฉีดวัคซีนให้แรงงานภายใต้ ม.33 ได้ทั่วถึง ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ในกรอบ 1.0% ถึง 1.2%

 

ข้อเสนอของ กกร.   

• มาตรการให้ความช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ประกอบการธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เพื่อให้ผู้ประกอบการเข้าถึงสินเชื่อฟื้นฟูธุรกิจได้มากขึ้น กกร.ขอเสนอให้ บสย.เพิ่มวงเงินค้ำประกันให้แก่ลูกหนี้ของธนาคาร และจัดกลุ่มลูกหนี้ที่เป็น NPL ที่ได้รับผลกกระทบจากโควิด-19 แยกจากลูกหนี้ NPL ทั่วไป รวมไปถึงการยกเว้นค่าธรรมเนียมค้ำประกันในปีที่ 1-3 เนื่องจากอยู่ในช่วงเดือดร้อนที่สุด เพื่อช่วยลดภาระให้ผู้ประกอบการ นอกจากนี้ การให้ความช่วยเหลือ SME ภายใต้โครงการ Faster Payment ของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยให้ผู้ประกอบการได้รับการชำระเงินค่าสินค้าได้เร็วขึ้นภายใน 30 วัน ซึ่งจะดำเนินการขยายไปยัง SET100 และภาคส่วนอื่นๆ ต่อไป เพิ่มจากเดิมที่ได้ดำเนินการ MOU ไปแล้ว 163 แห่ง

• การจัดสรรวัคซีน
– ขณะนี้สถานการณ์การแพร่ระบาดรุนแรงมาก โดยเฉพาะที่กรุงเทพและปริมณฑล การกระจายวัคซีนไปยังศูนย์ฉีดวัคซีนของภาคเอกชนทั้ง 25 ศูนย์ ที่พร้อมจะสนับสนุนการฉีดวัคซีนให้ประชาชน ซึ่งในขณะนี้ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนจากรัฐบาลมากระจายและเร่งการฉีดที่ 25 ศูนย์ที่มีความพร้อมที่จะสนับสนุนการฉีดได้มากถึง 80,000 โด๊สต่อวัน และมีมาตรฐานในการรองรับผู้ฉีดทุกกลุ่ม โดยขอให้รัฐบาลใช้ประโยชน์จากการเปิดศูนย์ฉีดฯ ให้เต็มประสิทธิภาพเพื่อลดผลกระทบในภาพรวม โดยภาคเอกชนพร้อมที่จะช่วยรัฐบาลในการเร่งฉีดและกระจายวัคซีนให้ถึงมือประชาชนให้เร็วที่สุดเพื่อความปลอดภัยของประชาชน

– นอกจากนั้น ควรเร่งแผนการจัดหาวัคซีนและมีจุดยืนชัดเจนทางเลือกเป็นวัคซีนเข็มที่ 3 เพื่อพลิกสถานการณ์สร้างความเชื่อมั่นและความมั่นใจให้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวหรือนักลงทุนต่างชาติที่จะเข้ามาลงทุนในระยะยาว เพื่อการควบคุมการแพร่ระบาด โดยนำบทเรียนจากจัดหาวัคซีนรอบแรกมาปรับแผนเพื่อให้ประเทศไทยได้มีวัคซีนที่พร้อมต่อการรับมือกับเชื้อโควิด 19 ที่กลายพันธุ์

– ขอให้จัดสรรวัคซีนสำหรับภาคอุตสาหกรรมเพื่อรักษาความสามารถในการส่งออกสินค้าให้ได้ตามเป้าหมาย
• สำหรับแผนในระยะยาว กกร. สนับสนุนให้ประเทศไทยต้องดำเนินการในการพัฒนาระบบ Digital Vaccine Passport โดยเฉพาะเพื่อเตรียมความพร้อมในการเปิดประชุม APEC 2022 เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้เดินทางมาจากต่างประเทศไม่ว่าจะเป็นนักท่องเที่ยว นักธุรกิจ นักลงทุน รวมทั้งคนไทยในประเทศที่ได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว โดยต้องให้ระบบและข้อมูลเป็นไปตามมาตรฐานที่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติเพื่อสนับสนุนทั้งในประเทศ INBOUND OUTBOUND ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะ Open API ในการเชื่อมต่อต่อข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขกับภาคส่วนต่างๆ

• การจัดตั้งสายการเดินเรือแห่งชาติ
– กกร. สนับสนุนการพัฒนากองเรือของชาติ เพื่อส่งเสริมเรือที่เป็นของบริษัทจดทะเบียนในประเทศไทย ชักธงไทยบนเรือ โดยให้รัฐช่วยอำนวยความสะดวกด้านกฎ/ระเบียบ ตลอดจนโครงสร้างภาษี รวมทั้ง เร่งรัดการออก พ.ร.บ. ส่งเสริมการพาณิชยนาวี พ.ศ. … ให้มีผลใช้บังคับโดยเร็ว เพื่อมีระเบียบรองรับการจัดตั้งองค์กรกำกับดูแลพาณิชยนาวี แบบองค์การมหาชน ทำหน้าที่ พัฒนาและส่งเสริมกิจการพาณิชยนาวีโดยตรง เพื่อให้กองเรือไทย ธุรกิจพาณิชยนาวีไทยแข่งขันกับต่างชาติได้อย่างเท่าเทียม
– หากภาครัฐต้องการมีบทบาทในการผลักดันกองเรือไทย โดยการมีกองเรือที่ภาครัฐมีส่วนร่วม ขอให้ใช้กลไกที่มีอยู่ในปัจจุบัน คือ บริษัท บทด จำกัด ซึ่งรัฐถือหุ้นอยู่แล้ว เป็นกลไกส่งเสริมกองเรือและพาณิชยนาวีไทย ก็จะมีความคล่องตัวและเหมาะสม ตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้
– นอกจากนี้ ขอให้รัฐบาลจัดตั้งคณะทำงานเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนากองเรือของชาติ ซึ่งมี ภาคเอกชน โดย กกร. เข้าไปมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนร่วมกับภาครัฐ เพื่อการสร้างสภาพแวดล้อมทางธุรกิจให้ผู้ประกอบการไทยสามารถแข่งขันได้

 

นอกจากนี้ นายผยง ยังกล่าวถึง โครงการของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ทั้ง 2 มาตรการ ในส่วนของสินเชื่อฟื้นฟู ณ 28 มิ.ย. สินเชื่อฟื้นฟูที่อนุมัติไปแล้วอยู่ประมาณ 6 หมื่นล้านบาท เกือบ 2 หมื่นราย ส่วนพักทรัพย์พักหนี้ อนุมัติแล้ว 900 กว่าล้านบาท จำนวน 11 ราย

โดยประเด็นที่เร่งดำเนินการ คือ กฎเกณฑ์ที่ยกเว้นค่าธรรมเนียมในการโอนทรัพย์ต่างๆ ออกมา คิดว่าธปท.จะสรุปประเด็นนี้ได้โดยเร็ว

ข่าวที่น่าสนใจ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด

"สพท." แตะมือ "สสส." ร่วมหนุนเสริมโครงการ Gig Worker กระทรวงแรงงาน หวังบรรเทาปัญหาปากท้อง "แรงงานอิสระ" สู้วิกฤตเศรษฐกิจเปราะบาง
สุดตื่นตา โขลงช้างป่าละอู กว่า 30 ตัว เล่นน้ำคลายร้อน นทท.แห่ถ่ายรูปไว้เป็นที่ระลึก
วิกฤตภัยแล้งน้ำแห้งคลองชาวสวนทุเรียนขาดน้ำ ผลผลิตร่วงเสียหายต้นทุเรียนตาย ต้องซื้อน้ำรดพอประทังผลผลิตที่เหลือ วอนภาครัฐเข้าช่วยเหลือและเยียวยา
รวบแล้ว ไอซ์ ห้วยยายพรม ก่อเหตุยิงปืนขึ้นฟ้า ลักรถชาวบ้าน ขณะนั่งไลฟ์สดเย้ยตำรวจ
กลุ่มติดอาวุธ จับทหารเมียนมาหลายร้อยนาย หลังโจมตี-ยึดพื้นที่ตะวันตกของรัฐยะไข่ได้สำเร็จ
สะเทือนใจเด็กชายวัย 12 ปี ถูกแม่เมาสุราใช้มีดขว้างใส่ถูกคมมีดบาดขาเป็นแผลได้รับบาดเจ็บ เพื่อนบ้านเกรงเด็กได้รับอันตรายจึงขอความช่วยเหลือมูลนิธิเป็นหนึ่ง
เมียนมา กลุ่มติดอาวุธจับทหารเมียนมาหลายร้อยนายที่รัฐยะไข่
"ภูมิธรรม" ลั่น "ชลน่าน" ยังอยู่ในใจเสมอ ย้ำ 3 รัฐมนตรีหลุดครม. ไม่ได้ลาออกจากเพื่อไทย
บลูมเบิร์กชี้จีนจะมีบทบาทมากที่สุดต่อเศรษฐกิจโลกในอีก 5 ปี
ทัพ ‘นักท่องเที่ยวจีน’ เยือนไทยปีนี้ ทะลุ 2 ล้านคนแล้ว

ดู LIVE รายการ

X

เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น