“รมว.ศึกษาธิการ” นำผนึกกำลัง ครู – AI สร้างการเรียนคุณภาพในศตวรรษที่ 21
ข่าวที่น่าสนใจ
“มีดคมเพราะหมั่นลับ” หนึ่งในคำกล่าวสำคัญของ พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ที่เปรียบเปรยให้เห็นภาพว่า “เหล็ก” แม้ดีขนาดไหนก็ตาม แต่หากไม่หมั่นลับ ก็ทำให้ไม่คม ครูและบุคลากรทางการศึกษาก็เช่นกัน แม้มีความรู้ความสามารถแล้ว ก็ยังจำเป็นต้องหมั่นหาความรู้เพิ่มเติม ฝึกฝน เพื่อเพิ่มทักษะและสมรรถนะในความรู้นั้น ๆ อยู่อย่างส่ำเสมอ
และคำกล่าวนี้พูดไว้ภายในงานประชุมวิชาการระดับนานาชาติ ภาวะผู้นำการบริหารระบบการศึกษา ครั้งที่ 4 หรือ ICESML2025 ภายใต้หัวข้อ “การกำหนดภาวะผู้นำแห่งอนาคตและปัญญาประดิษฐ์ ในการบริหารระบบการศึกษา
ซึ่ง รมว.ศธ. ระบุว่า ปัจจุบันการศึกษาของเรากำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว มีเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI เป็นกลไกสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงในด้านต่าง ๆ
การประชุมครั้งนี้ นับเป็นเวทีที่ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ และประสบการณ์ซึ่งกันและกัน เป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์แนวคิดใหม่ๆ และนำไปสู่การกำหนดภาวะผู้นำแห่งอนาคตได้
“สำหรับผม มุมมองของการใช้ระบบ AI คือ ผู้ช่วย ในมิติย่อยก็คือกระบวนการ AI หรือปัญญาประดิษฐ์ คือผู้ช่วยให้เกิดมิติ เรียนดี มีความรู้ เติมสมรรถนะ เพื่อที่จะดึงศักยภาพออกมาเติมสมรรถนะบุคคล แต่ AI ก็ไม่ใช่ทั้งหมดของการศึกษา หากว่าที่เราถาม AI แล้วมองอะไรที่ไม่ใช่ เราจะต้องเข้าไปแก้ ณ วันนี้ ผมก็ยังเข้าใจว่า ครูก็ยังเป็นเป้าสำคัญเพื่อช่วยพัฒนาคุณภาพการศึกษา ช่วยพัฒนาสมรรถนะให้นักเรียนได้มีความพร้อมในทุกๆ ด้าน อย่างไรก็ตามหวังว่าเด็กไทยต่อไปจะมีการยกระดับพัฒนาด้าน AI ได้เท่าทันกับสหรัฐอเมริกาและสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ซึ่งเป็นไปตามแนวทางการทำงาน จับมือไว้ แล้วไปด้วยกัน” รมว.ศธ.กล่าว
สำหรับการประชุมนานาชาติ The International Conference on Educational System Management Leadership (ICESML) จัดการประชุมมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ. 2565 โดยสาขาวิชาภาวะผู้นำการบริหารระบบการศึกษา ภาควิชานโยบาย การจัดการ และความเป็นผู้นำทางการศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
โดยมุ่งหวังให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ระหว่างนักการศึกษา คณาจารย์ เจ้าหน้าที่จากหน่วยงานต่าง ๆ นิสิต และผู้สนใจทั้งในและต่างประเทศ โดยเน้นการสร้างความเข้าใจในแนวคิดการบริหารการศึกษา การกำหนดนโยบายในปัจจุบันและอนาคต เพื่อพัฒนาองค์ความรู้และแนวทางปฏิบัติที่เหมาะสม ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างความร่วมมือและการขับเคลื่อนองค์ความรู้ด้านการบริหารการศึกษาในอนาคตต่อไป
จากความสำเร็จของการจัดประชุมนานาชาติฯ ที่ผ่านมาได้รับการตอบรับและความสนใจอย่างต่อเนื่องจากนิสิต นักวิจัย และผู้สนใจทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศเป็นอย่างมาก ในปี พ.ศ. 2568 จึงได้จัดการประชุมครั้งที่ 4 ขึ้นระหว่างวันที่ 23-24 พฤษภาคม 2568 ณ คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีผู้เข้าร่วมการประชุมกว่า 300 คนจาก 22 ประเทศทั่วโลก
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ข่าวล่าสุด
เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น