“อ.วิชา” ชี้ชัดศาลฎีกาฯมีอำนาจเต็ม จัดการ “ทักษิณ” ถ้าเห็นบังคับโทษไม่ถูกต้อง
ข่าวที่น่าสนใจ
21 พฤษภาคม 2568 นายวิชา มหาคุณ อดีตองค์คณะในศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และอดีตกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เปิดเผยกับ ท็อปนิวส์ ถึงกรณีศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนัดไต่สวนนายทักษิณ ชินวัตร ปมชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจในวันที่ 13 มิ.ย. นี้ว่า จะไม่ขอก้าวล่วงเรื่องคดีชั้น 14 เพราะตอนนี้กระบวนการไต่สวนที่อยู่ในอำนาจของศาล แต่จะขอพูดถึงหลักการในกระบวนการหลักนิติธรรมที่กำลังสำแดงความศักดิ์สิทธิ์ในบ้านเมือง นั่นคือ เรื่องความยุติธรรมของผู้ใช้กฎหมายมีความเพียงพอหรือยังที่จะให้ความยุติธรรมแก่ผู้คน โดยเฉพาะในส่วนของขั้นตอนปฏิบัติได้มีการใช้กฎหมายครบถ้วนและถูกต้องตามที่กำหนดไว้หรือไม่ โดยในส่วนคดีชั้น 14 นั้น ศาลเห็นว่ามีประเด็นที่จะสืบต่อไปว่าที่ผ่านมาได้มีการปฏิบัติตามคำบังคับโทษครบถ้วนตามคำพิพากษาของศาลหรือไม่ ซึ่งตามกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ได้กำหนดให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญามีอำนาจให้ผู้พิพากษามีอำนาจดำเนินการเพื่อบังคับโทษได้
อย่างไรก็ตามเมื่อไปดูพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตั้งแต่ปี 40, 50 และ 60 ได้วางหลักเกี่ยวกับการจัดตั้งศาลฎีกาแผนกคดีอาญาฯ หรือศาลพิเศษที่มีกระบวนการจัดตั้งให้พิจารณาคดีเฉพาะผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเช่นผู้สนับสนุนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ดังนั้นการเป็นศาลพิเศษจึงต้องมีการออกข้อบังคับให้ครบถ้วน เพื่อสามารถจัดการผู้ดำรงทางการเมืองได้จริง ๆ ไม่ใช่เลื่อนลอยจนไม่สามารถจัดการผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ และด้วยเหตุนี้จึงต้องจัดลำดับให้ดีว่า คดีที่สงสัยได้ดำเนินการให้เป็นไปตามข้อบังคับของประธานศาลฎีกาหรือไม่ ซึ่งศาลมีอำนาจที่จะดูว่าข้อสงสัยเกี่ยวกับการบังคับโทษได้ดำเนินไปตามลำดับและขั้นตอนตามที่กฎหมายกำหนดไว้หรือไม่ ซึ่งตรงนี้ถือเป็นอำนาจโดยตรง เพราะหากศาลไม่มีอำนาจก็จะทำให้เกิดความไม่แน่นอนในเรื่องประสิทธิประสาทในการอำนวยความยุติธรรม และเมื่อเกิดความไม่แน่นอนผลก็จะทำให้เกิดความเสื่อมความไม่ไว้วางใจต่อศาล ดังนั้นศาลจงต้องดำรงศรัทธาของความถูกต้องอย่างจริงจัง และคงไม่มีใครที่จะชี้ขาดเรื่องดังกล่าวได้ดีเท่าตุลาการของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาอีกแล้ว
นายวิชา กล่าวต่อว่า การไต่สวนปมชั้น 14 ทราบว่ามีองคณะผู้พิพากษาจำนวน 5 คน ซึ่งกระบวนการตรวจสอบที่ศาลจะไต่สวนเป็นไปอย่างโปร่งใส เปิดเผย ไม่มีลับลมคมใน หรือปกปิดไม่ให้ใครเข้ามายุ่งเกี่ยว ซึ่งเรื่องนี้มองว่าเป็นตัวอย่างทีดีในระบบความยุติธรรม โดยสิ่งนี้จะอยู่ในหลัก The Rules of Law หรือหลักนิติธรรมที่ทำให้บ้านเมืองมีความศักดิ์สิทธิ
เมื่อถามว่าหากศาลไต่สวนพบว่ากระบวนการที่เกิดขึ้นไม่ได้มีการปฏิบัติตามคำบังคับพิพากษาจะเกิดอะไรขึ้นนั้น นายวิชา กล่าวว่า เรื่องนี้ขอตอบตามหลักกฎหมายว่า เป็นอำนาจเบ็ดเสร็จชองศาลที่จะตรวจสอบว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องของการบังคับโทษที่ถูกต้องหรือไม่ และหากศาลเห็นว่า ไม่ถูกต้องก็ต้องบังคับให้ถูกต้อง เพราะศาลมีอำนาจที่จะดำเนินการโดยไม่มีใครที่จะไปล่วงละเมิดอำนาจได้ เนื่องจากเป็นอำนาจที่เบ็ดเสร็จเด็ดขาด
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ข่าวล่าสุด
เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น