logo

“รมว.แรงงาน” หนุนภาคีเครือข่ายแรงงาน “สพท.” ผนึก “สสส.” ผ่าทางตันความเห็นต่าง ขับเคลื่อน “ร่างพรบ.แรงงานอิสระ” ดูแลแรงงานอิสระ 20 ล้านคน

กดติดตาม TOP NEWS

"รมว.แรงงาน" หนุนภาคีเครือข่ายแรงงาน "สพท." ผนึก "สสส." ผ่าทางตันความเห็นต่าง "ร่างพรบ.แรงงานอิสระ" เร่งตกผลึกทางความคิด ปมตั้ง "กองทุนส่งเสริมและคุ้มครองแรงงานอิสระ" กำหนดคำนิยาม "แรงงานอิสระ" สัดส่วนความเหมาะสมการจัดตั้ง "สภาองค์กรแรงงาน" ในภาพรวมทุกกลุ่มแรงงานเห็นตรงกันต้องมีกฎหมายใหม่ที่ส่งเสริม คุ้มครอง และพัฒนาทักษะแรงงานอิสระให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงการจ้างงานในอนาคต

TOP News รายงานข่าวเมื่อวันที่ 22 เมษายน สภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย (สพท.) ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ภายใต้โครงการขับเคลื่อนนโยบายเพื่อสร้างความเป็นธรรมทางสิทธิและสุขภาพในกลุ่มผู้ใช้แรงงาน จัดเวทีเสวนาเชิงนโยบาย หัวข้อ “การจ้างงานและคุ้มครองแรงงานอิสระในอนาคต” ได้รับเกียรติจากนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน หรือ รมว.แรงงาน มากล่าวเปิดงาน

“สสส.” ฉายภาพรวมแนวทางการพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานอิสระ

ขณะที่ นางภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ฉายภาพรวมบทบาท สสส.ต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบ หรือ แรงงานอิสระ ด้วยการร่วมขับเคลื่อนข้อเสนอเชิงนโยบายร่วมกับเครือข่ายแรงงาน ลาคลอด 180 วัน สวัสดิการลูกจ้างเหมาบริการภาครัฐ 1 อส.แรงงานข้ามชาติ 1 โรงงาน เป็นต้น พร้อมกับผลิตงานวิจัยและต้นแบบการดำเนินงานด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยแก่อาชีพอิสระในหลากหลายอาชีพ รวมถึงข้อเสนอเชิงนโยบายต่อแรงงานแพลตฟอร์ม 3 ด้าน คือ งานที่เป็นธรรม , ผลตอบแทนที่เป็นธรรม และ การแข่งขันที่เป็นธรรม

ทั้งนี้นิยามคำว่าลูกจ้างให้ครอบคลุมอาชีพที่เกิดขึ้นใหม่เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงในการจ้างงานในอนาคต อาทิ มีความคุ้มครองเกี่ยวกับสุขภาวะ เช่น ชดเชยจากอุบัติเหตุ การเสียชีวิต มีกองทุนอุบัติเหตุสืบเนื่องจากการทำงาน รวมประกันสังคมมาตรา 33 , 39 , 40 ให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน ประกันรายได้ขั้นต่ำ กำหนดกอรบค่าจ้างที่เป็นธรรมในระดับที่เพียงพอต่อการเลี้ยงดูครอบครัวและเป็นไปตามกรอบค่าจ้างในอุตสาหกรรมนั้น ๆ และการส่งเสริมและพัฒนาแรงงานนอกระบบ ด้วยการจัดตั้งกองทุนเพื่อดูแลสวัสดิการและคุณภาพชีวิตของแรงงานในชุมชน เป็นต้น

นายมนัส โกศล ประธาน สพท. กล่าวว่า การจัดเวทีเสวนาเรื่อง การจ้างงานและคุ้มครองแรงงานอิสระในอนาคต มีวัตถุประสงค์เพื่อพิจารณาถึงความซับซ้อนของการจ้างงานในอนาคตรูปแบบใหม่ๆ อันจะนำไปสู่ความเข้าใจในลักษณะการทำงานหรืออาชีพนั้นๆ อย่างแท้จริง ซึ่งปัจจุบันคาดการณ์ไม่ได้ว่าในอนาคตจะเกิดงานใหม่แบบใดขึ้น ทำให้นโยบาย กฎหมาย มาตรการต่างๆ ที่จะออกมาบังคับใช้ในอนาคต โดยเฉพาะกรณีร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและคุ้มครองแรงงานอิสระ พ.ศ. …จำเป็นต้องปรับให้เท่าทันสถานการณ์ดังกล่าว เพื่อเอื้อให้เกิดการคุ้มครองคนทำงานที่เป็นแรงงานอิสระในอาชีพต่างๆที่หลากหลายต่อไป

ทั้งนี้เพื่อเวทีในครั้งนี้ สะท้อนปัญหารวมถึงการรับข้อเสนอแนะจากทุกฝ่ายมารวบรวมเพื่อเสนอต่อกระทรวงแรงงาน และมีวัตถุประสงค์เพื่อรวบรวมข้อมูลสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับร่างกฎหมายและรวบรวมพัฒนาข้อเสนอเชิงนโยบายต่อการปรับปรุงกฎหมายหรือนโยบายที่คุ้มครองผู้ใช้แรงงานและเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจในกฎหมายและนโยบายด้านการคุ้มครองแรงงานต่อผู้ใช้แรงงาน

“มูลนิธิเพื่อนหญิง” ชี้อนาคตนับวันแรงงานในระบบเล็กลง “แรงงานอิสระ” ขยายตัวใหญ่มากขึ้น

นายบัณฑิต แป้นวิเศษ มูลนิธิเพื่อนหญิง กล่าวว่าต้องการนำเสนองานวิชาการและผลศึกษาวิจัยร่างกฎหมายแรงงานอิสระ มุ่งเน้นอนาคตการจ้างงานในอนาคต จะมีรูปแบบอย่างไร และจะมีแนวทางในการส่งเสริม คุ้มครองและพัฒนาทักษะแรงงานไทยให้ดีขึ้นได้อย่างไร โดยจะรับฟังให้มากที่สุดเพื่อเป็นฐานข้อมูล และสอดคล้องกับสถานการณ์ เพราะนับวันแรงงานในระบบจะเล็กลงไปเรื่อย ๆ และแรงงานอิสระจะขยายตัวใหญ่มากขึ้น

นางนภสร ทุ่งสุกใส ที่ปรึกษาวิชาการแรงงาน กระทรวงแรงงาน กล่าวว่ากฎหมายแรงงานอิสระ ควรแก้ไขปัญหาเรื้อรังนั้นคือ สภาพการจ้างงานไม่เหมาะสม ค่าตอบแทนไม่เป็นธรรม และการคุ้มครองด้านสุขภาพจากสภาพแวดล้อมการทำงานที่ไม่ปลอดภัย จึงต้องมีการส่งเสริมการจ้างงานที่หลากหลายครอบคลุม 3 มิติด้วยกัน คือ 1.ส่งเสริมสิทธิแรงงานขั้นพื้นฐาน 2.คุ้มครองให้ได้รับหลักประกันทางสังคม และ 3.พัฒนาทักษะอาชีพที่ดีเท่าเทียมกับแรงงานในระบบ อาทิ ค่าแรงขั้นต่ำ สิทธิเข้าถึงประกันสังคม โดยเฉพาะควรมีการจัดตั้ง “กองทุนส่งเสริมและคุ้มครองแรงงานอิสระ” นอกจากนี้ต้องมีการนิยมความหมาย แรงงานอิสระจริง กับ แรงงานกึ่งอิสระ เพราะโลกยุคใหม่มีการจ้างงานผ่านแพลตฟอร์ม อาทิ แม่บ้านทำความสะอาด หรือ ไรเดอร์ ทำงานผ่านแพลตฟอร์มที่เป็นทั้งการทำงานที่เป็นอิสระ แต่ก็มีนายจ้างผ่านระบบแพลตฟอร์ม จึงกลายเป็นความยากในการส่งเสริม คุ้มครองและพัฒนาแรงงาน จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงหรือมีกฎหมายเฉพาะมาดูแลแรงงานแต่ละประเภท

ดร.บวร ทรัพย์สิงห์ สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงความสำคัญของกฎหมายแรงงานอิสระ เนื่องจากแนวโน้มการจ้างงานในอนาคตจะเกิดปัญหาว่างงานเพิ่มสูงขึ้น ตั้งแต่ภายหลังเกิดสถานการณ์โควิด 19 ได้ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจไปทั่วโลกทำให้แนวโน้มนายจ้างเปลี่ยนรูปแบบการจ้างงาน เพราะต้องการกำไรให้ได้มากที่สุดแต่ใช้กำลังแรงงานคนให้น้อยที่สุด เป็นเหตุให้เกิดการจ้างงานนอกระบบมากขึ้น ปัญหาที่ตามมาคือแรงงานนอกระบบขาดหลักประกันการคุ้มครองทางสังคม และ สถานการณ์การจ้างงานกลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่จะเผชิญปัญหาว่างงานเพิ่มสูงขึ้น นี่คือทิศทางการจ้างงานที่เป็นแรงงานนอกระบบ หรือ แรงงานอิสระ ที่มีอยู่ประมาณ 21 ล้านคน ดังนั้นการยกระดับคุ้มครองประกันสังคมควรเข้ามาตรา 33 และ มาตรา 40 พร้อมกับการแบ่งกลุ่มกึ่งแรงงานอิสระ อาทิ ลูกจ้างทำงานบ้าน พนักงานเสริฟ นวด เกษตรพันธสัญญา ไรเดอร์ หรือ กลุ่มแรงอิสระ อาทิ แท็กซี่ , เก็บของเก่า หาบเร่แผงลอย และ เกษตรกร

อีกโจทย์ท้าทายต่อกฎหมายแรงงานอิสระที่เป็นผลพวงจากปัญหาสังคมผู้สูงอายุ คือ จะทำอย่างไรให้มีการคุ้มครองแรงงานผู้สูงอายุที่ต้องเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจต้องทำงานต่อไปหลังเกษียณเพื่อหารายได้มาเลี้ยงตัวเองและครอบครัว จึงเคลื่อนย้ายตัวเองไปทำงานเป็นแรงงานนอกระบบ หรือ แรงงานอิสระสูงขึ้น

ทั้งนี้ได้เปิดเวทีให้แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ส่วนใหญ่ให้ความเห็นไปในทิศทางเดียวกัน คือ สนับสนุนร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและคุ้มครองแรงงานอิสระ พ.ศ. แต่ยังมีข้อถกเถียงบางประเด็น อาทิ การจัดตั้ง “กองทุนส่งเสริมและคุ้มครองแรงงานอิสระ” ยกระดับคุณภาพชีวิตและอาชีพต้องเกิดประโยชน์ต่อลูกจ้างให้ได้มากที่สุด , การส่งเสริมเสรีภาพในการรวมตัว “สภาองค์กรแรงงาน” ควรมีขอบเขตจำนวนผู้ยื่นจดทะเบียนจัดตั้ง ที่กำหนดไว้ต้องรวมตัวให้ได้ 5 คนขึ้นไป ขณะที่อาชีพอิสระวินมอเตอร์ไซด์รับจ้าง มีวินมอเตอร์ไซด์นับหมื่นแห่ง จึงควรมีการปรับตัวเลขให้เหมาะสมได้หรือไม่ และ คำนิยามแรงงานอิสระไม่ควรแบ่งแยกระหว่างอาชีพใดเป็นกึ่งหรือแรงงานอิสระ เป็นต้น ข้อเสนอแนะทั้งหมดจะนำไปสู่การจัดเวทีสาธารณะกลุ่มย่อยเพื่อให้ได้ข้อสรุปจากนั้นจะนำเสนอต่อกระทรวงแรงงานและคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป

สำหรับ ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและคุ้มครองแรงงานอิสระ พ.ศ. …. ได้มีการแบ่งเนื้อหาของบทบัญญัติออกเป็น 9 หมวด ได้แก่ หมวด 1 บททั่วไปหมวด 2 สิทธิในการรวมกลุ่มของแรงงานอิสระ หมวด 3 สิทธิประโยชน์ของผู้ประกอบอาชีพอิสระ หมวด 4 ผู้ประกอบอาชีพกึ่งอิสระ หมวด 5 คณะกรรมการส่งเสริมและคุ้มครองแรงงานอิสระ หมวด 6 กองทุนส่งเสริมและคุ้มครองแรงงานอิสระ หมวด 7 พนักงานตรวจแรงงานอิสระหมวด 8 โทษอาญา และ หมวด 9 มาตรการปรับเป็นพินัย

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด

แท็กที่เกี่ยวข้อง

ดู LIVE รายการ

เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น