แบงก์ชาติอินโดนีเซียเข้าแทรกแซงค่าเงินรูเปียห์ หลังอ่อนค่าลงต่ำสุดในรอบ 4 ปี
ธนาคารกลางอินโดนีเซีย ได้เข้าแทรกแซงค่าเงินรูปเปียห์แล้ว หลังค่าเงินอ่อนค่าต่ำกว่าระดับ 1 หมื่น 6 พัน 2 ร้อย รูเปียห์ต่อหนึ่งดอลลาร์สหรัฐ โดยข้อมูลเมื่อวันศุกร์เงินรูเปียห์อ่อนค่าลงไปอยู่ที่ 1 หมื่น 2 ร้อย 27 รูเปียห์ ซึ่งถือเป็นการอ่อนค่าต่ำสุดในรอบ 4 ปี พร้อมเสริมความมั่นใจแก่ประชาชน
สำหรับสาเหตุที่รูเปียห์อ่อนค่าลงนั้นนาย อันดรี ซาตริโอ นูโกรโฮ นักเศรษฐศาสตร์จากสถาบันเพื่อการพัฒนาเศรษฐศาสตร์และการเงินของอินโดนีเซีย(INDEF) เชื่อว่า มีสาเหตุหลักอยู่สองประการคือ หนึ่ง อัตราเงินเฟ้อที่สูงในสหรัฐ ทำให้เฟดยังคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับสูงสุดในรอบ 23 ปีที่ประมาณร้อยละ 5.25 ถึงร้อยละ 5.5 และไม่มีสัญญาณว่าจะลดลง และอีกสาเหตุคือสงครามในตะวันออกกลาง ซึ่งทั้ง 2 ปัจจัยนี้กระตุ้นให้เกิดเงินทุนไหลออกจากประเทศกำลังพัฒนา เพื่อไปซื้อพันธบัตรของสหรัฐ ซึ่งให้ผลตอบแทนสูงกว่า อีกทั้งเงินรูเปียห์ยังอ่อนค่าเป็นพิเศษ จากความกังวลเกี่ยวกับการบริหารงานของรัฐบาลชุดใหม่ ที่จะเข้ามารับตำแหน่งในเดือนตุลาคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดการทางการคลัง
แม้ว่าจะยังเป็นช่วงเริ่มต้นของการอ่อนค่าของรูเปียห์ ซึ่งยังอาจไม่เห็นผลกระทบสำคัญในทันที แต่นักวิเคราะห์มีความกังวลว่า มันอาจนำไปสู่ปัญหาเศรษฐกิจที่ใหญ่ขึ้น ทำให้สินค้านำเข้าขึ้นราคา และกำลังซื้อที่อ่อนแอลง และอุตสาหกรรมที่นำเข้าวัตถุดิบจะได้รับผลกระทบ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันทางอุตสาหกรรมของอินโดนีเซีย โดยเฉพาะภาคส่วนที่ใช้วัตถุดิบจากต่างประเทศไม่ว่าจะเป็น ภาคยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ สิ่งทอ และเภสัชกรรม
อีกทั้งรูเปียห์ที่อ่อนค่าหมายความว่า รัฐบาลต้องการเงินมากขึ้น เพื่ออุดหนุนน้ำมันเชื้อเพลิง เนื่องจากอินโดนีเซียเป็นผู้นำเข้าน้ำมันสุทธิ ซึ่งถ้าปัญหายังไม่ได้รับการแก้ไข ในอนาคตอัตราค่าไฟ ก็ต้องเพิ่มตามต้นทุนน้ำมัน รวมถึงต้นทุนวัสดุก่อสร้างที่สูงขึ้น ซึ่งจะทำให้ต้นทุนของโครงการโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาลก็จะเพิ่มขึ้นเช่นกัน
ส่วนผู้ประกอบการให้ความเห็นว่า ค่าเงินที่ผันผวนทำให้คาดการณ์สิ่งต่างๆได้ยากขึ้น แต่การอ่อนค่าของเงินรูเปียห์ไม่ใช่เรื่องใหม่และภาคธุรกิจได้เรียนรู้ปรับตัว ตลอดเวลา 10 ปีที่ผ่านมา ที่รูเปียห์อ่อนค่าลง
อย่างไรก็ดี รัฐบาลได้พยายามให้ความมั่นใจแก่สาธารณชนว่าเศรษฐกิจของประเทศอยู่ภายใต้การควบคุม โดยเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา นาย แอร์ลังกา ฮาร์ตาร์โต รัฐมนตรีประสานงานด้านเศรษฐกิจกล่าวว่า การคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของอินโดนีเซียในปี 2567 อยู่ที่ประมาณร้อยละ 5 ยังสูงกว่าการคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจทั่วโลกที่ร้อยละ 3.2 และให้การรับรองว่า รัฐบาลจะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด พร้อมยืนยันว่า ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศของอินโดนีเซียยังคงมีจำนวนมากถึง 1 แสน 3 หมื่น 6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 5 ล้านล้านบาท) ดังนั้นจึงไม่มีอะไรน่ากังวล