นายมนัส โกศล ที่ปรึกษานายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และ ประธานสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย (สพท.) เปิดเผยว่าในขณะนี้เป็นช่วงเวลาที่ผู้ประกอบในฐานะนายจ้าง กับ สหภาพแรงงานฯ ในฐานะตัวแทนลูกจ้างจะมีการยื่นข้อเรียกร้อง “เงินโบนัส” และ “เงินพิเศษ” ย่อมเกิดข้อพิพาททั้งสองฝ่าย ดังนั้นในฐานะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และ ประธาน “สพท.” เป็นการทำงานให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 เกี่ยวกับการต่อรองผลประโยชน์ในการจ้างงานและประสานความเข้าใจอันดีซึ่งกันและกันระหว่างฝ่ายนายจ้างและฝ่ายลูกจ้าง
ทั้งนี้ที่ผ่านมา “สพท.” ได้ข้อยุติไปหลายบริษัทเหลือเพียง 2 บริษัทใหญ่ที่ยังไม่ได้ข้อยุติ ที่มีพนักงานรวมกันประมาณ 5,000 กว่าคน คือ บริษัทผู้ผลิตอะไหล่รถยนต์สัญชาติเยอรมนี ที่มีโรงงานในประเทศไทย ทางบริษัทฯ ให้ข้อเสนอแก่พนักงานด้วยการจ่าย เงินโบนัส 4 เดือนบวกเงินพิเศษ 25,000 บาท ขณะที่ทาง “สหภาพแรงงานฯ” ยื่นข้อเสนอเรียกร้อง เงินโบนัส 4 เดือนบวกเงินพิเศษ 40,000บาท ขณะนี้ยังไม่ได้ข้อสรุป แต่จะนัดเจรจาหารือกันอีกครั้งในวันที่ 1 ธ.ค.2566 แต่จากการพูดคุยหารือท่าทีทั้งนายจ้างและสหภาพแรงงานฯ มีแนวโน้มน่าจะหาข้อยุติได้ด้วยดี
อีกบริษัท คือ บริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายล้ออลูมิเนียมอัลลอยสำหรับรถยนต์และรถจักรยานยนต์ผลิตและจำหน่ายเสื้อสูบรถจักรยานยนต์และชิ้นส่วนอื่น ๆ ทางบริษัทให้ข้อเสนอ เงินโบนัส 6 เดือนบวกเงินพิเศษ 30,000 บาท ขณะที่ทาง “สหภาพแรงงานฯ” เห็นว่าพนักงานควรได้รับโบนัส 7 เดือนบวกเงินพิเศษ 70,000 บาท ขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจานัดสุดท้ายอีกครั้งในวันที่ 28 พ.ย.นี้ ทั้งสหภาพแรงงานฯและนายจ้างมีแรงงานสัมพันธ์ที่ดีด้วยกันตลอดมาน่าจะหาข้อยุติได้ราบรื่นเช่นกัน
นายมนัส กล่าวว่า แนวทางการทำงานของ “สพท.” สอดคล้องกับการทำงานเชิงรุกของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน ที่ได้กำชับให้เจ้าหน้าที่เฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิด หากเกิดข้อพิพาทแรงงาน ขอให้เร่งดำเนินการส่งเสริมแรงงานสัมพันธ์เชิงรุก โดยแนะนำส่งเสริมให้นายจ้าง และลูกจ้าง ใช้ระบบทวิภาคี เจรจากันด้วยความสุจริตใจ เข้าอกเข้าใจกัน เปิดเผยข้อมูลระหว่างกัน การเจรจาต่อรองก็จะสามารถยุติกันได้ไม่นำมาซึ่งข้อขัดแย้งและข้อพิพาทแรงงาน โดยเฉพาะ “เงินโบนัส” และ “การปรับค่าจ้าง” ประจำปี 2566 นับเป็นการแก้ไขข้อขัดแย้งที่จะนำมาสู่ข้อพิพาทแรงงานที่อาจมีความรุนแรง เช่น การปิดงาน นัดหยุดงานหรือการผละงานที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งจะสร้างความเสียหายให้กับสถานประกอบกิจการและลูกจ้างตลอดจนความน่าเชื่อถือในด้านการลงทุนของประเทศ