No data was found

ซัดประมูล”รถไฟทางคู่”ฉาวสุดในรอบ 10 ปี

กดติดตาม TOP NEWS

ชี้พิรุธ 5 สัญญา 5 บริษัท ประมูลรถไฟทางคู่ 1.28 แสนล้านบาท ซัดฉาวสุดในรอบ 10 ปีของการรถไฟ

องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ “ACT” เปิดเวทีเสวนาออนไลน์ประเด็นร้อน การประมูลรถไฟทางคู่ความโปร่งใสที่ไม่จริงใจ เมื่อวันพฤหสบดีที่ 8 กรกฎาคมที่ผ่านมา

โดยมี ดร.สุเมธ  องกิตติคุณ ผู้อำนวยการวิจัย ด้านนโยบายการขนส่งและโลจิสติกส์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI), รศ.ดร.ต่อตระกูล  ยมนาค อดีตกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ , ดร.ประจักษ์  ทรัพย์มณี ผู้สังเกตการณ์โครงการรถไฟทางคู่ และ ดร.มานะ  นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กร์ต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) เข้าร่วมเสวนา

ดร.สุเมธ กล่าวว่า ถ้าดูจากข้อมูลที่เผยแพร่โครงการนี้ต้องตอบคำถามสังคมหลายประเด็นทั้งเรื่องการประมูลและรายละเอียดของการประมูล เรื่องไม่โปร่งใสนั้นต้องมีหลักฐานที่ชี้ชัดว่ามีความไม่โปร่งใส แต่ผลที่ออกมาเป็นอย่างไร น่าจะมีข้อข้องใจที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรต้องออกมาชี้แจงเพิ่มเติม

“ข้อมูลเบื้องต้นที่ทราบกันคือราคาประมูลที่ต่ำกว่าราคากลางเพียงแค่เล็กน้อยทำให้เกิดข้อสงสัยขึ้นมา หลายคนพูดถึงข้อมูลว่าการแข่งขันด้านราคาการก่อสร้างเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาความโปร่งใส การแข่งขันด้านราคาเมื่อเปรียบเทียบกับโครงการของการรถไฟในอดีตการประมูลรางคู่สายใต้ มีการแข่งขันที่สูงกว่านี้แล้วราคาที่ได้คือถูกลงพอสมควร แต่พอมาเจอรางคู่สายเหนือกับสายอีสานซึ่งราคาถูกลงเพียงเล็กน้อยหลายคนก็เลยตั้งคำถาม”

ผู้อำนวยการวิจัย TDRI กล่าวอีกว่า เป้าหมายของการดำเนินโครงการ คือเราต้องการของดีมีคุณภาพ ตรงเวลาตามที่กำหนดรวมถึงราคาที่เหมาะสม โครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่มีความเสี่ยงค่อนข้างมาก มีความหลากหลายของอุปสรรคในอนาคตที่อาจจะเจอ เท่าที่ทราบโครงการรางคู่สายใต้ที่มีการแบ่งสัญญาย่อย มีการแข่งขันค่อนข้างสูงก็มีปัญหาเรื่องการก่อสร้างบ้าง แต่ขณะนี้ช่องว่างระหว่างโครงการขนาดใหญ่กับขนาดเล็กมีความกว้างมากเกินไปหรือเปล่า ถ้าพิจารณาตามกระบวนการก็มีความโปร่งใสตามกระบวนการที่กำหนด แต่การพิจารณาตามกระบวนการโดยขาดข้อมูลที่เหมาะสมมันก็อาจสร้างปัญหาแล้วปัญหาขณะนี้อาจไม่ได้อยู่ที่การประมูลเพียงอย่างเดียวด้วย เพราะการแข่งขันด้านราคาเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของกระบวนการ

“ที่เรามาโฟกัสกันที่การประมูลก็ถูกส่วนหนึ่งเพราะการประมูลมันเห็นผลค่อนข้างชัดเจน แต่การบริหารสัญญาตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทางมีความสำคัญไม่แพ้การประมูล ทั้งหมดนี้ควรจะมาจากการแข่งขันที่เป็นธรรมและเหมาะสม หลายครั้งที่เราคุยกันอยากให้มีการแข่งขันที่ดี ซึ่งการแข่งขันที่ดีต้องมาจากการแข่งขันที่เหมาะสม ขนาดโครงการ จำนวนผู้ประกอบการที่แข่งขัน ถ้าสามารถนำมาถอดเป็นบทเรียนแล้วให้หน่วยงานภาครัฐนำไปปรับใช้ให้เป็นรูปแบบการประมูลโครงการที่เหมาะสม สิ่งที่เห็นชัดๆคือความล่าช้าของโครงการ และ Cost over run คือก่อสร้างไปแล้วต้นทุนมากกว่าที่คาดการณ์ไว้แล้วต้องมาของบประมาณเพิ่มเติม ถ้าเกิดขึ้นบ่อยๆก็เป็นสิ่งที่ไม่ดี เราเห็นโครงการของการรถไฟหลายๆโครงการเป็นลักษณะนี้” ดร.สุเมธ กล่าว

รศ.ดร.ต่อตระกูล กล่าวว่า กฎหมายและรัฐธรรมนูญกำหนดให้โครงการของรัฐทุกโครงการต้องเปิดเผยข้อมูล ต้องรวมถึงข้อมูลที่ประชาชนต้องการทราบไม่ใช่ข้อมูลที่รัฐอยากให้รู้หรือตอบก็ตอบไม่ตรง

“ความสำคัญของการประมูลคือให้ความเป็นธรรม การที่มีสัญญา 5 โครงการและมีบริษัทเข้าประมูล 5 รายพอดี คำตอบคือให้เข้ามาแล้วแต่ไม่มีใครเข้า เขาไม่มายื่นเองจะทำอย่างไร มี 5 งานยื่น 5 รายแล้วไม่มีใครได้ซ้ำ มันไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปได้ที่จะชนะ 5 รายไม่เหมือนกัน การประมูลต้องให้มีการแข่งขัน ที่ประเทศไทยไม่ให้ต่างชาติเข้ามาก็เพราะผู้รับเหมาเป็นกลุ่มผู้มีอิทธิพล”

การที่นักประมูลชอบมากที่สุดคือการล็อคผู้เข้าแข่งขัน ล็อคกันจนเหลือ 2 รายก็มี สมัยก่อน 2 รายนั้นเป็นญาติพี่น้องกัน ที่อยู่เดียวกันเบอร์โทรศัพท์เดียวกัน แต่ปัจจุบันที่เรียกว่าฮั้วประมูลไม่มีใครเขาทำแล้ว การให้มีคนเข้าแข่งขันเยอะๆเป็นเรื่องที่สำคัญ แต่ในฐานะที่ผมเป็นวิศวกรบริหารโครงการเราก็รู้ว่าถ้าปล่อยให้เข้ามาเสรีเป็นร้อยๆรายไม่ได้ ต้องเป็นผู้มีประสบการณ์พอ ถ้าเรายังปล่อยให้มีแค่ 5-6 บริษัท อีกกี่ปีก็ไม่เกิดความเจริญในบริษัทรับเหมาก่อสร้างในประเทศไทย การประมูลที่ไม่ยุติธรรมทำให้คนรุ่นใหม่ ตั้งใจดีมีวิชาความรู้ มีเทคนิค มีสมองไม่ได้เกิด” รศ.ดร.ต่อตระกูล กล่าว

ในขณะที่ ดร.ประจักษ์ กล่าวว่า ในฐานะสังเกตการณ์ต้องตอบว่าโปร่งใสภายใต้กรอบนโยบายที่ทางกระทรวงจัดทำมาให้การรถไฟแห่งประเทศไทยทำ แต่การกำหนดกรอบมีปัญหาทำให้เกิดการตัดไม่ให้มีผู้เข้าร่วมประมูลรายย่อยเข้ามาได้

“คณะผู้สังเกตการณ์ได้แจ้งว่าไม่เห็นพ้องด้วยกับเหตุผลที่ รฟท.เปลี่ยนกติกาการประมูล คือยกเลิกกติกาที่ทางซูเปอร์บอร์ดของการจัดซื้อจัดจ้างทำไว้ตั้งแต่ปี 2560 ว่าให้แยกงานออกเป็นงานย่อยๆ เพื่อให้ผู้ประกอบการรายเล็กขนาดกลางเข้าร่วมได้ แต่ ทีโออาร์นี้ไปรวบงานโยธา ระบบราง และระบบอาณัติสัญญาณเข้าด้วยกันทำให้ผู้ประกอบการขนาดกลางหรือแม้แต่รายใหญ่ก็เข้าร่วมไม่ได้ต้องเฉพาะผู้ที่มีความเชี่ยวชาญ ซึ่งก็มีอยู่เพียง 5 รายเท่านั้น ทำให้ประเทศไทยถูกผูกขาดอยู่เพียง 5-6 บริษัทใหญ่ๆเท่านั้นเอง อย่างที่ 2 คือที่กระทรวงกำหนดเลยว่า Thai First เพราะเป็นโครงการที่ใช้เงินกู้ภายในประเทศต้องให้บริษัทไทยเท่านั้นเข้าประมูล เราไม่เห็นด้วย กับการกีดกันบริษัทต่างชาติเข้ามาทำให้ไม่มีการถ่ายทอดเทคโนโลยี ไม่เห็นด้วยกับการเปลี่ยน TOR รวบระบบราง ทำให้มีผู้ประมูลเพียง 5 สัญญา” ดร.ประจักษ์ กล่าวและว่า

การกำหนดราคากลางส่วนใหญ่ในโครงการรัฐจะสำรวจเส้นทางและโหวตราคาเพิ่มกำหนดงบประมาณให้สูง โดยไม่มีใครไปดูว่าตรงตามสัญญาที่ระบุหรือไม่ เช่น ระบุว่าบริเวณนี้มีสะพานแต่ถ้าไปดู กลับไม่มีแม่น้ำ เมื่อปฏิบัติจริงๆแล้วเงินจะเหลือ โดยหลักก็คือจะต้องคืนรัฐบาล แต่วิธีการคือมีการเปลี่ยนแปลงแบบก่อสร้าง เช่น บอกว่าประชาชนร้องขอให้ทำสะพาน ทำถนนลอด บางโครงการใช้เงิน 400 ล้านบาทก็มี แค่ทำแบบมาขออนุมัติจากรถไฟ สามารถก่อสร้างได้เลย ปัญหาคือมันคุ้มค่าหรือไม่ มีทางเลือกอื่นหรือไม่

ด้าน ดร.มานะ กล่าวว่า โครงการนี้ดูเหมือนจะโปร่งใสแต่อยู่ภายใต้กรอบของนักการเมือง กรอบกระทรวงคมนาคม แล้วหน่วยงานต้องปฏิบัติ เมื่อการรถไฟทำก็บอกว่าเป็นไปตามกรอบกระทรวง โปร่งใส ถูกต้อง ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาโครงการนี้เป็นโครงการที่อื้อฉาวและถูกตั้งคำถามมากที่สุดของการรถไฟ ทำไมสังคมจึงตั้งคำถามมาก กติกาในการประมูล ข้อมูลที่ให้สังคมรับรู้เกิดอะไรขึ้น

“การที่รัฐบาล  พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี บอกว่าจะทำให้ประเทศไทยปลอดคอร์รัปชั่น ทำให้การปลอดคอร์รัปชั่นเป็นวาระแห่งชาติ เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราเห็น การจัดซื้อจัดจ้าง ให้สิทธิสัมปทาน ต้องใช้ข้อตกลงคุณธรรม เดือนที่แล้วยังเห็นรัฐบาลถอดร่าง พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสาร หลังจากที่ภาคประชาชนชี้ว่าไม่ถูกต้องหลายๆอย่างและขัดต่อการปฏิรูปประเทศที่วางแผนไว้ พล.อ.ประยุทธ์ ยังไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรรมนูญมาตรา 144 และ 185 นี่เป็นการหยุดการคอร์รัปชั่นที่จะเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นหากยังเป็นประเด็นใหญ่ที่สังคมคลางแคลงใจ คนข้องใจว่ายังไม่เปิดเผย ไม่ทำอะไรตรงไปมา อย่าเพิ่งด่วนสรุปว่าไม่มีการโกง”

“โครงการใหญ่ขนาดนี้ไม่ใช่แค่คนไทยเห็น ต่างชาติก็เห็น ถ้าคอร์รัปชั่นขนาดใหญ่ เสียงประชาชนทักท้วงกันมากมาย สื่อมวลชนทักท้วง นักวิชาการทักท้วงใครๆก็พูดแล้วยังปล่อยเลยตามเลยให้ออกไปได้ มันจะทำให้ต่างชาติหรือนักลงทุนใหญ่เขาตั้งข้อสงสัยว่ามีประเทศไทยมีมาตรฐานการลงทุนอย่างไร ถ้าเข้ามาจะเชื่อมั่นเรื่องความโปร่งใสตรงไปตรงมาได้อย่างไร

สิ่งที่ตามมาคือเสียภาพลักษณ์ของประเทศ เมื่อจัดอันดับประเทศที่คอร์รัปชั่นระดับโลกแล้วอันดับตกก็อย่าไปร้องแรกแหกกระเชอเพราะสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่รัฐกระทำ เราไม่อยากให้ประชาชนเสื่อมศรัทธาต่อรัฐบาล เพราะประชาชนคาดหวังตลอดว่ารัฐบาลที่เข้ามาจะปราบปรามคอร์รัปชั่น อยากให้รัฐบาลทั้งคณะได้ฟังแล้วใช้อำนาจในการควบคุมทำให้เป็นที่ยอมรับของสังคม”  เลขาธิการองค์กร์ต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) กล่าว

ข่าวที่น่าสนใจ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด

ผู้ว่าชลฯ บูรณาการ ทุกหน่วยงานเร่งแก้ปัญหาภัยแล้งบนเกาะล้าน พร้อมแจกจ่ายน้ำให้ประปาให้ชาวบ้านบรรเทาความเดือดร้อนเบื้องต้น
อบต.ตะพง ชวนเที่ยวงานเทศกาลดนตรี สีสัน ผลไม้สไตล์ตะพง ของดีเมืองระยอง เลือกซื้อ ชิม ช้อปผลไม้ขึ้นชื่อเมืองระยอง ทั้งทุเรียน เงาะ ลองกอง มังคุด
น้องชายยิงพี่ชายทนายความรุ่นใหญ่ ดับคาบ้าน เหตุหึงเมีย
เมียนมาห้ามชายวัยเกณฑ์ทหารออกไปทำงานตปท.
สลด "หนุ่มใหญ่" ดกเหล้าขาวดับคาโต๊ะ คาดเป็นฮีทสโตรก หลังร้อนจัด 44 องศาฯ
"มณฑลทหารบกที่ 32" แปรอักษรถวายกำลังใจ "กรมสมเด็จพระเทพฯ"
"สมาคมคนตาบอดฯ" ยืนยันจัดสรรโควต้าสลากฯครบถึงมือสมาชิก ไม่การันตีแทนองค์กรอื่นปล่อยยี่ปั๊ว-ออนไลน์
"ทนายอนันต์ชัย" ยันเอาผิดก๊วนเชื่อมจิต ย้ำลัทธิบิดเบือนหลักพุทธศาสนา รับไม่ได้ใช้เด็กหาผลประโยชน์
กมธ.ศึกษานิรโทษฯ เคาะนิยามบุคคล มีมูลเหตุการเมืองจูงใจทำผิดคดีไม่รุนแรง ตั้งแต่ปี 48 ไม่รวมละเมิด 112
“สงคราม กิจเลิศไพโรจน์” เจ้าของห้างอิมพีเรียล เปิดตัวเป็นแฟนคลับ Top News บอกชอบมานานแล้ว

ดู LIVE รายการ

X

เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น