No data was found

โฆษก ก.ล.ต.ยันเดินหน้าสอบทุกปมฉาว “อีสท์ วอเตอร์”

กดติดตาม TOP NEWS

โฆษก ก.ล.ต.ยันเดินหน้าสอบทุกปมฉาว "อีสท์ วอเตอร์"

จากกรณีที่ก่อนหน้านี้ ตัวแทนกลุ่มผู้ถือหุ้นของบริษัท จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก จำกัด (มหาชน) หรือ “อีสท์ วอเตอร์” ในฐานะผู้มีส่วนได้เสีย ได้มีการยื่นคำร้องต่อเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และทาง ก.ล.ต. เพื่อดำเนินการตรวจสอบการบริหารงานของนางอัศวินี ไตลังคะ ประธานคณะกรรมการบริษัทและกระบวนการสรรหากรรมการผู้อำนวยการใหญ่ของบริษัท ที่มีเหตุอันควรสงสัยหลายประการว่า นางอัศวินี อาจมีการกระทำที่ฝ่าฝืนต่อจรรยาบรรณในทางธุรกิจว่าด้วยเรื่องความขัดแย้ง ทางผลประโยชน์ รายการที่เกี่ยวโยงกัน และ การทำธุรกรรมระหว่างกันของกลุ่มบริษัท และต่อมา ได้จัดส่งข้อมูลและเอกสารหลักฐาน เพิ่มเติมเพื่อพิจารณาประกอบคำร้องที่ยื่นมาก่อนหน้า

รวมถึง ผู้ถือหุ้น ยังได้มีการร้องเรียนเพิ่มเติมกับเลขาธิการฯ ก.ล.ต. เพื่อขอให้มีการตรวจสอบการดำเนินการและบริหารงานบุคคลของประธานบอร์ด ผู้บริหาร และบอร์ดบางราย เกี่ยวกับการจัดจ้าง “สระสำรองน้ำสระสำนักบก” ที่จ.ชลบุรี ไม่โปร่งใส

ล่าสุด เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา นางสาวจอมขวัญ คงสกุล ผู้ช่วยเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) ในฐานะโฆษก ก.ล.ต. เปิดเผยกับทีมข่าว TOPNEWS ถึงความคืบหน้าประเด็นต่างๆ ข้างต้น ว่า ขณะนี้ ทางสำนักงานก.ล.ต. อยู่ระหว่างการพิจารณาข้อเท็จจริง ซึ่งทางด้านผู้ถูกร้อง (อีสท์ วอเตอร์) ได้มีการยื่นหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริงมาให้ทางก.ล.ต. แล้ว

โดย ก.ล.ต. จะพิจารณาว่า ข้อมูลที่ได้รับนั้น มีประเด็นอะไรที่เข้าข่ายความผิดตามพ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์หรือไม่ โดยคาดว่าจะได้ผลสอบในช่วง 1-2 เดือนหลังจากนี้

โฆษก สำนักงานก.ล.ต. กล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมา ได้มีตัวแทนผู้ถือหุ้นอีสท์ วอเตอร์ ร้องเรียนเรื่องต่างๆ มายังสำนักงาน ก.ล.ต. อย่างต่อเนื่อง โดยในส่วนของการร้องเรียนเรื่องการทุจริตโครงการอะไรต่างๆ นั้น ได้มีการชี้แจงมาบ้างแล้ว ซึ่งก.ล.ต. อยู่ระหว่างดูข้อเท็จจริง และอาจจะมีการสอบถามบริษัทให้ชี้แจงอีกต่อไป เพราะยังมีประเด็นเพิ่มเติมอีก ยังไม่จบ

ส่วนเรื่องที่ว่า การร้องเรียนดังกล่าว จะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นนักลงทุนหรือไม่ เนื่องจากอีสท์ วอเตอร์ เป็นบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ โฆษก สำนักงานก.ล.ต. กล่าวว่า เรื่องนี้ คงต้องเป็นไปตามขั้นตอน ซึ่งการพิจารณาของสำนักงานก.ล.ต. ต้องให้โอกาสบริษัทในการชี้แจง และดูข้อเท็จจริงว่ามีการดำเนินการที่ไม่เป็นไปตามกฎหมายอย่างไรบ้าง ถึงจะตัดสินได้ว่าโอเค ไม่โอเคยังไง โดยจะต้องใช้ระยะเวลาเพื่อดำเนินการเพื่อให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ซึ่งขณะนี้การดำเนินการของก.ล.ต. ยังไม่ถึงขั้นตอนของการตัดสินและลงโทษผู้กระทำผิด

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของขั้นตอนการดำเนินการตรวจสอบข้อร้องเรียนของก.ล.ต.นั้น จะต้องตรวจข้อเท็จจริงทั้งหมด เพื่อพิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไร หากพบว่า การดำเนินการไม่เป็นไปตามกฎหมาย ก็จะมีขั้นตอนการลงโทษผู้กระทำผิดตามที่ พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ได้กำหนดไว้

” ก็ต้องไปดูว่า ผิดยังไง บริษัทผิด หรือทางด้านของกรรมการ ก็ต้องไปดูการทำหน้าที่ของกรรมการ ซึ่งก็มีมาตราที่เกี่ยวข้อง แต่ยังไม่ได้บอกว่าเค้าผิดหรืออะไร กระบวนการก็ต้องไปดูตามมาตรา 89/7 มั้ย หรือว่าต้องดูว่า มีการทุจริตหรือไม่ ก็จะมีขั้นตอนการลงโทษกรรมการต่อไป ” โฆษก สำนักงานก.ล.ต. กล่าว

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 10 มี.ค. 2565 ตัวแทนกลุ่มผู้ถือหุ้นของ “อีสท์ วอเตอร์” ในฐานะผู้มีส่วนได้เสีย ได้ยื่นคำร้องต่อเลขาธิการ ก.ล.ต. และทาง ก.ล.ต. เพื่อดำเนินการตรวจสอบการบริหารงานของนางอัศวินี ไตลังคะ ประธานคณะกรรมการบริษัทและกระบวนการสรรหากรรมการผู้อำนวยการใหญ่ของบริษัท ที่อาจจะมีการฝ่าฝืนจรรยาบรรณทางธุรกิจ ข้อบังคับบริษัท กฎบัตรคณะกรรมการสรรหาและพิจารณาค่าตอบแทนของบริษัท และความผิดตามหลายมาตราของหมวด 3/1 ว่าด้วยเรื่องการบริหารกิจการของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์ ในส่วนของหน้าที่และความรับผิดชอบของกรรมการและผู้บริหารตามมาตรา 89/7 มาตรา 89/8 มาตรา 89/10 มาตรา 89/11 มาตรา 89/12 และมาตรา 89/14 พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 และหมวด 6 ว่าด้วยเรื่องคณะกรรมการตามมาตรา 85 มาตรา 88 ของ พ.ร.บ.บริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. 2535 แล้ว

โดยตัวแทนกลุ่มผู้ถือหุ้นของ “อีสท์ วอเตอร์” เน้นย้ำว่า จากข้อมูลที่ผู้ถือหุ้นมีอยู่นั้น พบว่ามีเหตุอันควรสงสัยหลายประการว่า นางอัศวินี ประธานคณะกรรมการบริษัทฯ อาจมีการกระทำที่ฝ่าฝืนต่อจรรยาบรรณในทางธุรกิจว่าด้วยเรื่องความขัดแย้ง ทางผลประโยชน์ รายการที่เกี่ยวโยงกัน และ การทำธุรกรรมระหว่างกันของกลุ่มบริษัท

 

ข่าวที่น่าสนใจ

ต่อมา เมื่อวันที่ 18 เม.ย.65 ทางตัวแทนกลุ่มผู้ถือหุ้นฯ อีสท์วอเตอร์ ที่ร้องเรียน ได้รับการประสานจากทาง ก.ล.ต. ขอให้จัดส่งข้อมูลและเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องร้องเรียนซึ่งเป็นการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ 2535 เพิ่มเติม เพื่อพิจารณาประกอบคำร้องที่ยื่นมาก่อนหน้า

ทางกลุ่มผู้ถือหุ้นฯ จึงรวบรวมข้อมูลและพยานหลักฐานเอกสารเพื่อนำส่ง ก.ล.ต. จำนวน 11 รายการ รวมทั้งสิ้น 244 หน้า เพื่อให้มีการพิจารณาในประเด็นที่ร้องเรียนไปใน 3 ประเด็น คือ

1. ประเด็นความเคลือบแคลงสงสัยเกี่ยวกับการดำเนินการต่างๆ ของประธานคณะกรรมการบริษัทฯ และในกระบวนการสรรหาแต่งตั้งกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ของบริษัทฯ

2. ประเด็นรายการที่เกี่ยวโยงกัน และ ธุรกรรมระหว่างกันของกลุ่มบริษัท ที่อาจจะเข้าข่ายการฝ่าฝืนกฎหมาย กฎระเบียบที่ออกโดยหน่วยงานรัฐ จรรยาบรรณทางธุรกิจ ข้อบังคับของบริษัท

3. ประเด็นการพิจารณาแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาและพิจารณาค่าตอบแทนเพื่อสรรหาผู้มาดำรงตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการใหญ่แทนผู้ที่ดำรงตำแหน่งอยู่เดิมที่กำลังจะหมดวาระนั้นมีการฝ่าฝืนกฎบัตรคณะกรรมการสรรหาและพิจารณาค่าตอบแทนของบริษัท”

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นต่อเนื่องตามมา โดยเมื่อวันที่ 8 มิ.ย.65 ผู้ถือหุ้นอีสท์ วอเตอร์ ได้ส่งข้อมูลร้องเรียนก.ล.ต.เพิ่มเติม กรณีพบว่าการจัดซื้อจัดจ้าง โครงการพัฒนา “สระสำรองน้ำสระสำนักบก” ต.สำนักบก อ.เมือง จ.ชลบุรี มูลค่า 75,000,000 บาท (เจ็ดสิบห้าล้านบาทถ้วน) ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม เพื่อให้สามารถกักเก็บน้ำได้ที่ความจุ 5 ล้านลูกบาศก์เมตร อาจเข้าข่ายมีพฤติกรรมไม่โปร่งใส รวมถึงฝ่าฝืน หลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีของบริษัทฯ เรื่องความรับผิดชอบต่อคู่ค้า รวมถึงมีกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างและเงื่อนไขสัญญา หรือข้อตกลงที่ไม่เป็นธรรม ขาดธรรมาภิบาล และไม่มีวิธีปฏิบัติเพื่อผลประโยชน์ของบริษัทและผู้ถือหุ้นโดยรวมเป็นสำคัญ

โดยมีรายชื่อบุคคลที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย

1. นางอัศวินี ไตลังคะ ประธานคณะกรรมการบริษัท
2. พลเรือเอก สุชีพ หวังไมตรี ประธานคณะกรรมการการลงทุน ของบริษัทฯ
3. นายเชิดชาย ปิติวัชรากุล กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ และกรรมการการลงทุน ของบริษัทฯ
4. คณะกรรมการบริษัท ของบริษัทฯ

พร้อมสรุปรายละเอียดเป็นไทม์ไลน์ประกอบดังนี้

1. ช่วงเดือนสิงหาคม 2562 สระสำรองน้ำสระสำนักบก ต.สำนักบก อ.เมือง จ.ชลบุรี ของ “อีสท์ วอเตอร์” เกิดความชำรุดเสียหาย และต่อมาอีก 22 เดือน บริษัทอีสท์วอเตอร์ ได้มีการประกาศประชาสัมพันธ์เพื่อคัดเลือกราคาเมื่อ 30 มิถุนายน 2564

2. ช่วงเดือนกรกฎาคม 2564 “อีสท์ วอเตอร์” ขออนุมัติเห็นชอบรายชื่อผู้มีสิทธิเสนอราคา จำนวน 5 ราย แต่ในเดือนสิงหาคม 2564 มีผู้ยื่นซองเสนอราคาเพียง 2 ราย ไม่ครบตามระเบียบจัดซื้อจัดจ้าง จึงขออนุมัติคัดเลือกราคาจัดหาผู้รับจ้าง (เพิ่มเติม)

3. ช่วงเดือนสิงหาคม 2564 “อีสท์ วอเตอร์” ไม่เชิญผู้รับจ้าง (บริษัท โกบอล โปรสเปคเตอร์ แอนด์ คอนซัลแตนท์ จำกัด) ซึ่งเป็นผู้รับจ้างออกแบบ เข้าร่วมการคัดเลือกเป็นผู้รับจ้างในโครงการสระสำนักบก โดยแผนกจัดซื้อของ “อีสท์ วอเตอร์” ให้เหตุผลว่าขัดกับหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี และ “อีสท์ วอเตอร์” ยังได้ปฏิเสธการขายแบบ ไม่ยอมให้ผู้รับจ้าง เข้าร่วมการคัดเลือกราคา โดยอ้างเหตุผลว่าจะขัดต่อหลักความเป็นธรรมและการแข่งขันที่เท่าเทียม

4. ช่วงปลายเดือนสิงหาคม – ปลายเดือนตุลาคม 2564 “อีสท์ วอเตอร์” ไม่สามารถจัดหาผู้รับจ้างตามกระบวนการได้

5. ช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 2564 “อีสท์ วอเตอร์” กลับมาอนุมัติจัดจ้างผู้รับจ้างที่เป็นผู้ออกแบบงานดังกล่าวโดยวิธีเฉพาะเจาะจง ทั้ง ๆ ที่บริษัทฯ เคยแสดงความเห็นว่าเป็นผู้รับจ้างที่ขาดคุณสมบัติ เพราะละเมิดหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีและขัดกับความเป็นธรรมและการแข่งขันที่เท่าเทียม

6. ช่วงปลายเดือนมีนาคม 2565 “อีสท์ วอเตอร์” ตรวจพบว่าผู้รับจ้างจัดส่งเอกสารหนังสือค้ำประกันของธนาคารเป็นของปลอม หรือเป็นไปในลักษณะการลงนามโดยไม่ถูกต้องจากเจ้าหน้าที่ธนาคาร และแสดงให้เห็นว่าผู้รับจ้างขาดความน่าเชื่อถือ ทางการเงิน เพราะไม่สามารถจัดหาเอกสารค้ำประกันของธนาคารได้ตามหลักเกณฑ์ของบริษัทฯ รวมถึงขาดความน่าเชื่อถือเรื่องความสุจริต (Good faith) ในการทำธุรกิจ

7. แต่ปรากฎว่า ช่วงเดือนพฤษภาคม 2565 “อีสท์ วอเตอร์” กลับยินยอมว่าจ้างบริษัทรายเดิม (บริษัท โกบอล โปรสเปคเตอร์ แอนด์ คอนซัลแตนท์ จำกัด) ต่อไป โดยไม่มีการพิจารณาโทษ หรือ ความผิดใด ๆ รวมถึงยังมีการปรับปรุงผ่อนผันเงื่อนไขสัญญาจ้าง ให้เข้ากับลักษณะเงื่อนไขของผู้รับจ้าง คือปกติผู้รับจ้างต้องส่งมอบหนังสือค้ำประกันจากธนาคาร 2 ฉบับ คือ 1. ค้ำประกันสัญญาร้อยละ 5 และ 2. ค้ำประกันการเบิกเงินล่วงหน้าร้อยละ 10 แต่รอบใหม่ของสัญญาว่าจ้าง “อีสท์ วอเตอร์” เลือกอนุโลมให้ผู้รับจ้าง แค่วางแคชเชียร์เช็คเพื่อค้ำประกันสัญญาร้อยละ 5 โดยไม่ต้องวางแคชเชียร์เช็คเพื่อค้ำประกันการเบิกเงินล่วงหน้าร้อยละ 10

 

ดังนั้น กลุ่มตัวแทนผู้ถือหุ้นจึงต้องการให้มีการตรวจสอบการดำเนินการดังกล่าว เนื่องจากผู้บริหาร อีสท์ วอเตอร์ มีการตกลงจ้างผู้รับจ้างที่ขาดความน่าเชื่อถือทางการเงิน โดยเฉพาะอาจมีการทิ้งงานในอนาคตหรือดำเนินการล่าช้าได้ เมื่อประสบปัญหาทางการเงิน และการดำเนินการตรวจสอบหนังสือค้ำประกันดังกล่าวมีความล่าช้าผิดปกติ

และเมื่อขยายผลการตรวจสอบมีข้อมูลว่า ประเด็นข้อร้องเรียนดังกล่าว เป็นผลสืบเนื่องจากประเด็น การใช้เอกสารหลักประกันการรับเงินค่าจ้างล่วงหน้า ตามสัญญาต่อผู้ว่าจ้าง จำนวนเงิน 7,500,000 บาท (เจ็ดล้านห้าแสนบาทถ้วน) ซึ่งเท่ากับร้อยละสิบ (10%) ของมูลค่าทั้งหมดของสัญญา และ หนังสือค้ำประกัน วงเงิน 3,750,000 บาท (สามล้านเจ็ดแสนห้าหมื่นบาทถ้วน) หรือเท่ากับร้อยละห้า (5%) ของมูลค่าทั้งหมดของสัญญา ซึ่งมีการแสดงว่าออกโดยผู้แทนธนาคารกสิกรไทย สาขา สำนักพหลโยธิน

แต่ภายหลังพบเป็นเอกสารไม่ถูกต้อง เนื่องจากเมื่อมีการส่งหนังสือค้ำประกันสัญญาของผู้รับจ้างฉบับแรก ให้ธนาคารกสิกรไทย สำนักงานใหญ่ ตรวจสอบ ปรากฎว่าได้รับการปฏิเสธจากธนาคารกสิกรไทย (สำนักงานใหญ่) จนมีข้อสงสัย ผู้รับจ้างอาจยื่นหนังสือค้ำประกันสัญญาปลอม เพื่อให้สามารถรับว่าจ้างงานก่อสร้างที่มูลค่าสูงมากขึ้นแต่เดิม

อีกทั้งในรายงานการประชุมคณะกรรมการ อีสท์ วอเตอร์ ครั้งที่ 4/2565 วันจันทร์ที่ 28 มีนาคม 2565 ในระเบียบวาระที่ 5 เรื่องรายงานความก้าวหน้าการดำเนินการตามนโยบายและมติคณะกรรมการบริษัทฯ ยังพบด้วยว่า ก ารประชุมครั้งดังกล่าวมีการแสดงความเห็นจากกรรมการบริษัทหลายคนที่เห็นว่า ควรมีมาตรการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อให้เกิดความถูกต้อง ในฐานะเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ โดยกรรมการรายหนึ่ง ระบุชัดเจนว่า เนื่องจากหนังสือค้ำประกันสัญญาเป็นสาระสำคัญ ที่ทำให้การทำสัญญาไม่สมบูรณ์ ดังนั้น บริษัทฯ ไม่ควร แจ้งเริ่มงาน และเห็นว่า หากมีการยื่นหนังสือค้ำประกันสัญญาปลอม ควรแจ้งความ เนื่องจากเป็นคดีอาญา

และกรรมการอีกรายหนึ่ง ให้ความเห็นด้วยกับการยกเลิกสัญญา การจัดซื้อจัดจ้าง โครงการพัฒนา “สระสำรองน้ำสระสำนักบก” และเสนอให้ฝ่ายบริหารควรเตรียมการ กรณีหากเกิดการฟ้องร้องระหว่างกันในอนาคตตามสัญญาและข้อกฎหมาย

ส่วนกรณีข้ออ้างว่า รายละเอียดบางส่วนอยู่ในระหว่างการตรวจสอบเพิ่มเติม โดยฝ่ายบริหารอยู่ระหว่างขอหนังสือยืนยันจากธนาคารกสิกรไทย สำนักงานใหญ่ ซึ่งทีมข่าว TOPNEWS ได้สอบถามไปยังแหล่งข่าวจากธนาคารกสิกรไทย สำนักงานใหญ่ ได้รับคำตอบในครั้งแรกว่า ธนาคารไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลของลูกค้าได้

แต่ต่อมาเมื่อทำการตรวจสอบซ้ำจากข้อมูลที่ปรากฎเป็นเอกสารของธนาคารกสิกรไทย สาขาพหลโยธิน จึงได้รับคำยืนยันชัดเจนว่า “จากการตรวจสอบพบว่าหนังสือค้ำประกัน LG หรือ Letter of Guarantee เป็นเอกสารปลอม ไม่ได้ออกจากระบบของธนาคารกสิกรไทยแต่อย่างใด” และเมื่อทีมข่าวพยายามติดต่อไปยังหมายเลขโทรศัพท์ ท้ายหนังสือสัญญาค้ำประกันฉบับดังกล่าว พบว่า ไม่มีสัญญาณตอบรับใด ๆ ทั้งสิ้น

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด

พบศพชายวัย 54 นอนเสียชีวิตกลางป่า ตรวจโควิคผลบวก
“อนุทิน” ประกาศคืนชายหาดเลพังให้ชาวภูเก็ต หลังกรมที่ดินต่อสู้ ยืดเยื้อกับผู้บุกรุก
ไถ่ชีวิตควายเกือบ 400 ชีวิตรอดพ้นโรงเชือดวันเกษตรกรไทย
ตร.กองปราบปราม รวบลูกครึ่งอังกฤษ ขนทัวร์ให้คะแนนร้านอาหารภูเก็ต 1 ดาว ไม่พอใจเดินผ่านเข้าห้องพักไม่ได้
นายอำเภอบางละมุง เตือนประชาชนและผู้ประกอบการ ระวังมิจฉาชีพ หลังถูกปลอมไลน์ เตรียมรวบรวมหลักฐานดำเนินคดีขั้นเด็ดขาด
กล้องหน้ารถจับภาพ! รถทัวร์เบียดจักรยานทำนักท่องเที่ยวต่างชาติแขนหัก
นักเรียนภาคเหนือแห่สมัคร "Kid Dee camp" ล้นหลาม "สนง.สลากฯ-มูลนิธิยังมีเรา" จัดเต็ม เปิดรับจำนวนเด็กค่ายเพิ่มเท่าตัว ขยายโอกาส แบ่งปันการเรียนรู้
“กบน.” ขยับขึ้นราคาดีเซล 50 สต.ต่อลิตร ดันขายปลีกทะลุลิตรละ 31.44 บาท
รมต.-ทูตอิสราเอล รุมสับ-แซะไบเดน หลังขู่หยุดส่งอาวุธ
"สุดาวรรณ" เข้าปฏิบัติงานกระทรวงวธ.วันแรก ผลักดันวัฒนธรรมขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ตั้งเป้า 1 ภาค 1 มรดกโลก

ดู LIVE รายการ

X

เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น