เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 27 พฤษภาคม 2555 ที่สนามเซ็นซ่า สไตรเดอร์ Cenza Strider ศูนย์การค้าเซ็นทรัล โคราช นายสมเกียรติ วิริยะกุลนันท์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธานงานแถลงข่าว โครงการ “Low Carbon City & EV Expo 2022 “ขับเคลื่อนเมืองคาร์บอนต่อด้วยยานยนต์ไฟฟ้า” ซึ่งเป็นกิจกรรมเพื่อเปิดตัว “โครงการวิจัยต้นแบบเมืองคาร์บอนต่ำที่น่าอยู่กรณีศึกษาการพัฒนาระบบโครงข่ายขนส่งเมืองโคราช” โดยมหาวิยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน และมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ภายใต้การสนับสนุนโดยหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ร่วมกับภาคีเครือข่ายในเมืองนครราชสีมา
นายสมเกียรติ วิริยะกุลนันท์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า จังหวัดนครราชสีมาร่วมกับ โครงการวิจัยต้นแบบเมืองคาร์บอนต่ำที่น่าอยู่กรณีศึกษาการพัฒนาระบบโครงข่ายขนส่งเมืองโคราช ขับเคลื่อนเมืองคาร์บอนต่ำภายใต้ความร่วมมือของภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนในจังหวัดนครราชสีมา ทั้งนี้เพื่อสนับสนุนการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีคาร์บอนต่ำและเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า ทดแทนการใช้พลังงานฟอสซิล ถือเป็นการดำเนินงานที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ การพัฒนาจังหวัดนครราชสีมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการเดินทาง และการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ดังนั้นโครงการนี้จึงถือเป็นการนำร่องเมืองโคราชมุ่งสู่การเป็นเมืองคาร์บอนต่ำ และเชื่อมั่นว่าในอนาคตอันใกล้ทุกภาคส่วนในจังหวัดนครราชสีมา จะร่วมมือกันส่งเสริมเทคโนโลยีคาร์บอนต่ำ และนำยานยนต์พลังงานไฟฟ้ามาทดแทนยานยนต์พลังงานน้ำมัน ซึ่งจะส่งผลให้เมืองโคราชกลายเป็นเมืองไร้มลพิษอย่างแท้จริง
ดร.สฤษดิ์ ติยะวงศ์สุวรรณ หัวหน้าโครงการวิจัยต้นแบบเมืองคาร์บอนต่ำที่น่าอยู่กรณีศึกษาการพัฒนาระบบโครงข่ายขนส่งเมืองโคราช กล่าวถึงโครงการว่า โครงการฯ มีเป้าหมายในการพัฒนากรอบแนวคิดการพัฒนาเมืองสู่ความเป็นเมืองและสังคมคาร์บอนต่ำที่น่าอยู่อย่างยั่งยืน มีวัตถุประสงค์โครงการวิจัย 3 ประเด็น คือ 1) พัฒนาระบบข้อมูลเปิดอัจฉริยะสำหรับการพัฒนาต้นแบบเมืองคาร์บอนต่ำที่น่าอยู่ 2) พัฒนาระบบโครงข่ายขนส่งสาธารณะสู่ต้นแบบเมืองอัจฉริยะสังคมคาร์บอนต่ำที่น่าอยู่ของเมืองโคราช 3) ยกระดับความรู้การพัฒนาเมืองของชาว โคราชสู่ความเป็นสังคมและเมืองคาร์บอนต่ำที่น่าอยู่ โดยการศึกษาระดับเมืองจะดำเนินการวิจัยภายใต้ กรอบแนวคิด 4 องค์ประกอบคือ 1) สิ่งแวดล้อมเมือง 2) ระบบคมนาคมเมือง 3) ด้านโครงสร้างพื้นฐานของเมือง และ 4) ด้านอาคาร มีการออกแบบและ วิธีการรวบรวมข้อมูลอย่างเป็นระบบที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) ทั้งนี้ผลจะการวิจัย จะดำเนินการสรุปประเด็นเนื้อหาเข้าสู่การบรรจุลงในแผนยุทธศาสตร์ จังหวัดนครราชสีมาและแผนยุทธศาสตร์องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องตลอดจนสามารถนำผลผลิตไปสู่การเกิดผลลัพธ์และผลกระทบในการประยุกต์ใช้กับหน่วยงานต่าง ๆ ในท้องถิ่นหรือเมืองอื่นๆ สู่การขับเคลื่อนความเป็นเมืองคาร์บอนต่ำที่น่าอยู่อย่างยั่งยืนต่อไป.
ภาพ/ อภิรักษ์ ศรีอัศวิน
ข่าว/ประสิทธิ์ วนะชกิจ ผู้สื่อข่าวภูมิภาค จังหวัดนครราชสีมา