พันตำรวจเอกเนติ วงษ์กุหลาบ ผู้กำกับการ 4 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค หรือ ปคบ. เปิดเผยว่า หลังจากที่พิมรี่พายเข้าแจ้งความเมื่อวานนี้(16 ธ.ค.) พนักงานสอบสวนก็ได้สอบปากคำไว้ โดยสรุปสามารถแบ่งกลุ่มผู้เสียหายได้เป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มคุณพิมรี่พายและคลินิก / กลุ่มแพทย์วิชาชีพที่ถูกนำชื่อไปแอบอ้างสวมรอยทำใบประกอบวิชาชีพปลอม / และกลุ่มคนไข้ที่เข้ารับการรักษา
เบื้องต้นจากการสอบปากคำพิมรี่พาย ก็ทราบว่า หญิงสาวรายนี้นำใบประกอบวิชาชีพปลอมมาสมัครงานกับคลินิก ในตำแหน่งเป็นแพทย์ศัลยกรรมที่รับฉีดโบท็อก และเป็นลักษณะงานพาร์ทไทม์ โดยจะถูกเรียกตัวมาให้ช่วยรักษาเฉพาะวันจันทร์ที่มีคนไข้จำนวนมากเท่านั้น ทำมาประมาณ 3 เดือนแล้ว ดังนั้นขณะนี้ทางคลินิกอยู่ระหว่างการตรวจสอบว่าหญิงสาวรายนี้ได้รักษาคนไข้รายใดไปแล้วบ้าง และหากมีคนไข้รายใดที่เข้ารับการรักษากับหญิงสาวรายนี้แล้วเกิดความเสียหาย หรือผลกระทบจากการรักษาก็สามารถแจ้งความได้ทันที
ส่วนการสอบปากคำแพทย์วิชาชีพตัวจริงที่ถูกแอบอ้าง เบื้องต้นเจ้าตัวอยู่ต่างประเทศ ตำรวจจึงกำลังติดต่อให้ส่งหลักฐานการเดินทางเข้าออกประเทศ และสอบปากคำญาติให้ยืนยันว่าช่วงเวลาที่เกิดเหตุ หมอตัวจริงไม่ได้อยู่ในประเทศไทย รวมทั้งสอบถามถึงเอกสารส่วนตัวว่าถูกนำไปปลอมแปลงได้อย่างไร ซึ่งพนักงานสอบสวนจะเร่งรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อออกหมายจับโดยเร็วที่สุด
สำหรับหญิงสาวรายนี้มีพฤติกรรมเข้าข่ายความผิด 4 ข้อหาหลัก คือ ฉ้อโกงโดยแสดงตนเป็นคนอื่น , ประกอบวิชาชีพเวชกรรมโดยไม่ได้รับอนุญาต , แสดงให้ผู้อื่นเข้าใจว่าเป็นผู้ประกอบวิชาชีพ , และเอาไปซึ่งเอกสารของผู้อื่น ซึ่งตำรวจทราบชื่อและนามสกุลจริงของหญิงสาวรายนี้แล้ว ตรวจสอบประวัติไม่พบว่าเคยต้องคดีอาญา แต่มีข้อมูลว่านอกจากคลินิกของพิมรี่พายแล้ว หญิงสาวรายนี้ได้ไปทำงานที่คลินิกอื่นด้วย
ทั้งนี้ ยืนยันว่าหญิงสาวรายนี้ ไม่ใช่คนเดียวกับที่เคยมีข่าวถูกจับกุมกรณีปลอมใบแพทย์เพื่อใช้สมัครงานเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา แต่การกระทำความผิดเป็นลักษณะเดียวกัน โดยสันนิษฐานว่าต้นทางใบประกอบวิชาชีพปลอมอาจมาได้จากการที่หมอปลอมไปโพสต์ตามเว็บเพจหรือเว็บไซต์ อ้างกำลังจะเปิดคลินิก จึงประกาศรับสมัครแพทย์พยาบาลวิชาชีพ และให้เหยื่อที่สนใจส่งเอกสารหลักฐานและใบประกอบวิชาชีพต่างๆ ไปให้ทางออนไลน์ ซึ่งแท้ที่จริงแล้วมิจฉาชีพเหล่านี้จะนำใบประกอบวิชาชีพไปใช้ปลอมแปลง ใส่รูปของตนเองแล้วนำไปสมัครตามคลินิกเสริมความงาม
ทั้งนี้ พันตำรวจเอกเนติ เตือนผู้ประกอบการคลินิกเวชกรรมว่าควรตรวจสอบทั้งประวัติและใบอนุญาตประกอบวิชาชีพโดบละเอียด เพื่อป้องกันผู้ที่แอบอ้างเป็นแพทย์มาสมัครงาน ซึ่งหากไปรักษาคนไข้แล้วเกิดอันตรายหรือความเสียหาย ทางคลินิกจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบด้วย ซึ่งตามกฎหมายเจ้าของคลินิกไม่สามารถปฏิเสธการเรียกร้องค่าเสียหายในคดีแพ่งได้ แต่ในทางคดีอาญาหากคลินิกไม่มีเจตนารับผู้ที่แอบอ้างมาทำงาน ก็จะตกเป็นผู้เสียหายด้วยและสามารถฟ้องร้องผู้แอบอ้างได้
นอกจากนี้ตำรวจได้หารือร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ในฐานะผู้กำกับดูแลสถานเสริมความงาม ให้เพิ่มช่องทางการตรวจสอบใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรมให้สะดวกมากขึ้น เพื่อป้องกันการถูกแอบอ้าง