เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ร่วมกับ สำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 9 (ปัตตานี) กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง สำนักงานประมงจังหวัดปัตตานี กรมประมง ศูนย์ป้องกันและปราบปรามประมงทะเลปัตตานี เทศบาลตําบลปะนาเระ ชมรมประมงพื้นบ้านตำบลปะนาเระ พร้อมกลุ่มธุรกิจในเครือซีพี โดย บริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด พื้นที่ ปัตตานี ยะลา และ นราธิวาส ร่วมทำกิจกรรมวางซั้งบ้านปลา 50 ชุด จากภูมิปัญญาปราชญ์ชาวประมง เพื่ออนุรักษ์ ปกป้อง ฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลในพื้นที่อ่าวไทยตอนล่าง จ.ปัตตานี โดยมี นายมนตรี หามนตรี ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 9 เป็นประธาน พร้อมด้วย เรือเอกธัญญะ ฉุยโรจน์ธรรม ประมงจังหวัดปัตตานี นายโชคชัย เมืองสง ผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันและปราบปรามประมงทะเลปัตตานี นายสุไลมาน ดาราโอะ ประธานชมรมประมงพื้นบ้านตำบลปะนาเระ นายนนท์ นาคะเสถียร ผู้จัดการทั่วไป สำนักปฏิบัติการความยั่งยืนทางทะเล เครือเจริญโภคภัณฑ์ พร้อมด้วยชาวบ้านจากชุมชนในพื้นที่
นายจอมกิตติ ศิริกุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหาร ผู้บริหารสูงสุดด้านพัฒนาความยั่งยืนภาครัฐและกิจการสัมพันธ์ เครือเจริญโภคภัณฑ์ เปิดเผยว่า กิจกรรมวางซั้งบ้านปลาครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของนโยบาย “SEACOSYSTEM เพื่อทะเลไทยยั่งยืน” ของเครือซีพี ด้านการอนุรักษ์ ปกป้อง ฟื้นฟู ทรัพยากรทางทะเลให้ยั่งยืน พร้อมควบคู่กับการพัฒนาคุณภาพชีวิต การดำเนินงานภายใต้นโยบายนี้สะท้อนถึงความมุ่งมั่นของเครือซีพีในการสร้างความยั่งยืนให้กับทะเลไทย โดยการสร้างสมดุลระหว่างการพัฒนาเศรษฐกิจ การส่งเสริมสังคม และการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนและเป็นประโยชน์ต่อชุมชนชายฝั่งและประเทศชาติในระยะยาว ควบคู่กับการส่งเสริมอาชีพและยกระดับกลุ่มชาวประมงพื้นบ้าน ตลอดจนส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนชายฝั่งเพราะ “ทะเลเป็นทั้งแหล่งอาหารและวิถีชีวิตของคนหลายล้านคน การฟื้นฟูวันนี้คือการลงทุนเพื่ออนาคต ซึ่งชุมชนเป็นเจ้าของอย่างแท้จริง”
ทั้งนี้เครือเจริญโภคภัณฑ์ยังคงเดินหน้าขับเคลื่อนโครงการ “ซีพี ร้อยเรียงความดี SEACOSYSTEM เพื่อทะเลไทยยั่งยืน” จับมือทุกภาคส่วน ร่วมวาง “ซั้งบ้านปลา” โดยในปีนี้มีการวางแผนขยายการวางซั้ง 13 พื้นที่ ทั้งฝั่งอ่าวไทยและฝั่งอันดามัน ซึ่งได้เริ่มวางซั้งในพื้นที่ ปะนาเระ จ.ปัตตานี เป็นที่แรก จำนวน 50 ชุด เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศ และในอนาคตเร่งเพิ่มซั้งบ้านปลา 530 ชุด ทั่วทะเลชายฝั่ง ผ่านการใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นจากปราชญ์ชาวประมงพื้นบ้าน เพื่อฟื้นฟูและอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืน
จากภูมิปัญญาชาวบ้าน สู่จุดเริ่มต้นแห่งความยั่งยืน
ซั้งบ้านปลาที่ใช้ในโครงการนี้ผลิตจากวัสดุธรรมชาติ เช่น ทางมะพร้าวและไม้ไผ่ เป็นการนำองค์ความรู้ดั้งเดิมจากชมรมประมงพื้นบ้านตำบลปะนาเระ มาปรับใช้ในเชิงอนุรักษ์ โดยซั้งทำหน้าที่เป็นแหล่งหลบภัยและอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อน ทั้งยังเป็นจุดดึงดูดให้ทรัพยากรกลับคืนสู่ระบบนิเวศชายฝั่งที่เคยเสื่อมโทรม
จากความร่วมมือกับทุกภาคส่วน โดยเครือเจริญโภคภัณฑ์ ได้ทดลองวางซั้งบ้านปลาเมื่อใน 2567 ซึ่งจากการสำรวจระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงตุลาคม พบความหลากหลายและปริมาณของสัตว์น้ำเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะในเดือนที่ 3 และ 6 หลังจากการวางซั้ง ข้อมูลจากการศึกษาระบุว่า สัตว์น้ำที่พบมากที่สุดคือ ปลาหลังเขียว คิดเป็นสัดส่วนถึง 76.78% ของสัตว์น้ำทั้งหมด รองลงมาคือ ปลาโคก 16.89%, ปลาแมว 3.69%, ปลาแป้นแก้ว 2.46% และ ปลาดาบลาว 0.18% สะท้อนถึงประสิทธิภาพของซั้งบ้านปลาในการดึงดูดและเพิ่มจำนวนสัตว์น้ำได้อย่างเป็นรูปธรรม แม้ซั้งบ้านปลาจะมีอายุการใช้งานที่จำกัด และต้องมีการซ่อมแซมหรือทดแทนอย่างต่อเนื่องทุกปี แต่การมีส่วนร่วมของชุมชน รวมถึงความภาคภูมิใจในภูมิปัญญาและทรัพยากรของตนเอง ได้กลายเป็นแรงผลักดันสำคัญที่ทำให้การอนุรักษ์เกิดขึ้นได้จริงและยั่งยืน
ชาวบ้านยืนยัน “ทะเลมีชีวิต รายได้ก็คืนมา”
ด้านตัวแทนชาวบ้านในพื้นที่สะท้อนว่า ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา พวกเขาสัมผัสได้ถึงการเปลี่ยนแปลงของทะเลชายฝั่ง จากการฟื้นตัวของแนวหญ้าทะเล ธนาคารปู และแหล่งปะการัง ไปจนถึงการเพิ่มขึ้นของสัตว์น้ำที่จับได้ ซึ่งช่วยให้ชุมชนมีรายได้ดีขึ้น และสามารถรักษาวิถีชีวิตดั้งเดิมของชาวประมงพื้นบ้านไว้ได้
ทั้งนี้เครือเจริญโภคภัณฑ์ และพันธมิตรภาคี ยืนยันเดินหน้า “ซีพีร้อยเรียงความดี” อย่างต่อเนื่อง เพื่อขยายผลสู่พื้นที่ชายฝั่งอื่น ๆ ทั่วประเทศ โดยมุ่งหวังให้คนในชุมชนเป็นหัวใจของการดูแลทะเลไทยยั่งยืน