logo

“นักเศรษฐศาสตร์ มธ.” ตั้งโจทย์ 5 ข้อ ค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท ทำอย่างไรให้ไปถึงฝัน

“ดร.เกียรติอนันต์” ตั้งคำถาม 5 ข้อ ค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท ทำอย่างไรให้ไปถึงฝัน แนะทางเลือกที่เป็นไปได้ รักษาการเติบโตเศรษฐกิจไว้ที่ 5-8% แล้วกระจายผลประโยชน์ให้ไปถึงแรงงานที่รับค่าแรงขั้นต่ำให้มากขึ้น ชี้ต้องเป็นการเติบโตที่แท้จริง ไม่ได้มาจากการกระตุ้นกำลังซื้อของภาครัฐ แรงงานกับผู้ประกอบการต้อง Win-Win ยกระดับทักษะฝีมือ และป้องกันปัญหาแรงงานข้ามชาติทะลัก

วันนี้( 9 ธ.ค.65) ดร.เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุ ค่าแรงขั้นต่ำ 600 บาท ทำอย่างไรให้ไปถึงฝัน…

ผมมีคำถามในใจ 5 ข้อที่ผมคิดว่าถ้าสามารถช่วยกันหาคำตอบได้ ก็น่าจะพอมีทางผลักดันค่าแรงขั้นต่ำให้ถึง 600 บาทโดยไม่ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจในภาพรวมมากจนเกินไปนัก (และบางประเด็นอาจจะเหมาะกับการยกระดับเงินเดือนเป็น 25,000 บาทนะครับ) เราวางสี วางพรรคลงก่อน แล้วช่วยผมหน่อยนะครับว่าถ้าเราต้องขับเคลื่อนนโยบายนี้จริง เราจะรับมือกับประเด็นเหล่านี้ยังไง…(จริง ๆ มีอีกคำถาม 2-3 ข้อแต่ขอเก็บไว้เป็นข้อสอบปลายภาคให้นักศึกษาช่วยกันคิดในเทอมหน้านะครับ)

ข่าวที่น่าสนใจ

1. ถ้าสามารถทำให้เศรษฐกิจเติบโตติดต่อกันได้ 5% ต่อปี เป็นเวลา 4 ปี จะทำให้เศรษฐกิจเราโตขึ้นอีกประมาณ 21.6% หากเพิ่มค่าแรงแบบค่อยเป็นค่อยไปเป็นเวลา 4 ปี สมมติว่าเป็นกรุงเทพมหานครที่ตอนนี้ค่าแรงชั้นต่ำเท่ากับ 353 บาท การเพิ่มเป็น 600 บาท ใน 4 ปี เป็นการเพิ่มขึ้นประมาณ 70% นั่นหมายความว่า ในแต่ละปีค่าแรงขั้นต่ำจะต้องเพิ่มขึ้นเร็วกว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจ ถ้าจะให้เศรษฐกิจกับค่าแรงโตไปด้วยกันแต่ละปีเศรษฐกิจต้องโตไม่น้อยกว่าปีละ 14.2% ซึ่งเป็นเรื่องที่ท้าทายมาก ผมเลยขอตัดทางเลือกนี้ออกไปนะครับ อีกทางเลือกหนึ่งที่เป็นไปได้มากกว่า คือ ยังรักษาการเติบโตไว้ที่ 5%-8% แล้วหาทางกระจายผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจให้ไปถึงแรงงานที่รับค่าแรงขั้นต่ำให้มากขึ้น การออกแบบกลไกนี้มันซับซ้อนกว่า “การเติบโตแบบทั่วถึง” (Inclusive Growth) มันต้องเป็นกลไกระดับ “การเติบโตแบบกึ่งมุ่งเป้า” (Semi-Exclusive Growth) ที่ให้ความสำคัญกับคนตัวเล็กตัวน้อย ให้ความสำคัญภาคธุรกิจรายย่อยและ SMEs และให้ความสำคัญกับระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจของแต่ละจังหวัด กลไกที่ว่านี้ควรจะหน้าตาเป็นยังไงกันดีครับ?

2. สืบเนื่องจากข้อ 1 การเติบโตที่เกิดขึ้นจะต้องเป็นการเติบโตที่แท้จริง ไม่ได้เกิดจากนโยบายกระตุ้นกำลังซื้อของภาครัฐ ดังนั้นเราตัดโครงการตระกูลคนละครึ่ง เราเที่ยวด้วยกัน หรือการแจกเงินแบบต่าง ๆ ออกไปจากตัวเลือกได้เลยครับ เพราะนโยบายแบบนี้ใช้รักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจระยะสั้น สิ่งที่เราต้องการเห็นคือคุณภาพชีวิตที่ดีของแรงงานในระยะยาว จึงต้องเป็นการเติบโตที่เกิดจากเนื้อแท้ของระบบเศรษฐกิจ เกิดจากขีดความสามารถในการแข่งขัน เกิดจากการพัฒนาคุณภาพของคน นโยบายสารพัดแบบที่รัฐบาลหลายชุดที่ผ่านมาเพื่อทำสิ่งเหล่านี้มันไม่ได้ผลเท่าที่ควร ดังนั้น เราคงต้องหาเครื่องมือใหม่ หรือวิธีการใหม่ไปใช้กับแนวทางเดิม เครื่องมือ/แนวทางใหม่ที่ว่าจะเป็นแบบไหนได้บ้างครับ?

3. แรงงานกับผู้ประกอบการเป็นเหมือนลิ้นกับฟัน ยังไงก็ต้องอยู่ไปด้วยกัน อาจมีกัดกันแรงบ้างเบ้าบาง แต่ก็หนีกันไม่พ้น การปรับค่าแรงขึ้น การทยอยปรับค่าแรงถือว่าช่วยให้ผู้ประกอบการมีเวลาปรับตัวได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีมาก แต่ให้นึกภาพแบบนี้ครับ เราเปิดร้านขายอาหาร ถ้าหน้าร้านมีลูกค้ามาเข้าแถวยาวเหยียดรอซื้ออาหาร การที่พนักงานในร้านเก่งขึ้น ช่วยให้ทำอาหารเสร็จ อร่อยและขายได้ไว้ขึ้น เจ้าของร้านที่ไม่ใจร้ายก็พอรับได้กับค่าแรงที่เพิ่มขึ้น แต่ถ้าหน้าร้านมีลูกค้าหรอมแหรมแล้วยังต้องเพิ่มค่าแรงให้พนักงาน เจ้าของร้านก็อยู่ลำบาก ฉันใดก็ฉันนั้นหากคิดแบบ Win-Win ในเมื่อรัฐเป็นคนออกนโยบายนี้ รัฐก็มีหน้าที่ช่วยเหลือผู้ประกอบการควบคู่กันไปด้วย ทั้งในด้านการบรรเทาผลกระทบต่อต้นทุนในช่วงเวลาปรับตัว และการช่วยหาลูกค้ามาเข้าแถวหน้าร้าน เราจะทำแบบนี้ได้ยังไงบ้างครับ?

4. สืบเนื่องจากข้อ 3 การ Upskill หรือ Reskill แรงงานจะยกระดับทักษะได้มากแค่ไหนขึ้นอยู่กับทักษะที่เป็นทุนเดิมของแรงงาน แรงงานที่รับค่าแรงขั้นต่ำ ทักษะที่เป็นทุนเดิมอาจจะไม่พอให้สามารถ Upskill หรือ Reskill ให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของตลาดแรงงานได้ การยกระดับค่าแรงโดยไม่ยกระดับทักษะฝีมือของแรงงานให้เพิ่มขึ้นมาด้วย ยิ่งบีบให้ผู้ประกอบการต้องหาทางออกด้วยการลดต้นทุน ลดคน หรือเปลี่ยนโมเดลธุรกิจไปใช้เทคโนโลยีแทน เราจะช่วยให้แรงงานกลุ่มนี้เก่งขึ้นใน 4 ปีได้อย่างไร?

5. การเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำแบบนี้แรงงานข้ามชาติก็ได้ประโยชน์เช่นกัน เราจะป้องกันปัญหาแรงงานข้ามชาติทะลักเข้ามาได้อย่างไร? ที่สำคัญถ้าเขาเข้ามาในประเทศแล้วเราต้องไม่เลือกปฏิบัติว่าใครเป็นแรงงานไทยใครเป็นแรงงานข้ามชาตินะครับ อย่าลืมว่าเป้าหมายหลักของค่าแรงขั้นต่ำคือช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย แต่ถ้าคนส่วนใหญ่ที่ได้ประโยชน์เป็นแรงงานข้ามชาติ มันก็ออกจะแปลกไปนิดนึงนะครับ

สุดท้ายนี้ ผมว่า ถ้าเรามีคำตอบที่ดีให้กับคำถาม 5 ข้อนี้ได้ เราไม่น่าจะหยุดแค่ 600 บาท กับ 25,000 บาท ลองคิดกันเล่น ๆ ดูครับว่า จริง ๆ ตัวเลขในใจของค่าแรงขั้นต่ำ และเงินเดือนคนจบ ป.ตรี ควรเป็นเท่าไหร่ดี

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด

ทำกันได้ลงคอ หนุ่มแต่งตัวดี แอบฉกลอตเตอรี่-เงินทอน "คนพิการ" วิ่งหนีหายไปต่อหน้า
สลดกลางดึก ชาย 74 จมดับคาสระว่ายน้ำคอนโดหรู ย่านบางละมุง ลูกเมียเศร้า ทำกับข้าวรออยู่บนห้อง
สภาพอากาศวันนี้ กรมอุตุฯ เตือน 34 จว. โดนฝนถล่มหนัก กทม.ก็ไม่รอด
รวบไอ้หื่น จับสาวน้อย 11 ปีมัดมือเท้า หวังขยี้กาม
จีนออกมาตรฐานฟื้นฟูนิเวศน์เหมืองแร่
จีน ผู้ประกอบการมุกเจ้อเจียง ใช้การไลฟ์สดดึงดูดลูกค้าใหม่
สอบสวนกลาง ผนึกกำลัง "The United States Secret Service" เสริมความแกร่งชุดสืบสวนในการตรวจพิสูจน์ดอลลาร์ปลอม
"นายกฯ" นำถกครม.เศรษฐกิจนัดแรก ผู้ว่าธปท.ร่วม "พิชัย" แจงภาพรวมศก.ต่ำกว่าคาด เร่งแก้แหล่งทุนช่วย SME เพิ่มงบฯสร้างมาตรการเสริมรายได้ปชช.
รวบหนุ่มอังกฤษ หมัดพิฆาตต่อย หนุ่มรัสเซีย ทีเดียวดับ อ้างแค้นคนตายขอมีเซ็กส์กับลูกสาว
รฟฟท. เฉลิมฉลองการให้บริการก้าวสู่ปีที่ 14 จับมือ ทิพยประกันภัย มอบสิทธิประโยชน์สุดพิเศษให้แก่ผู้โดยสาร

ดู LIVE รายการ

X

เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น