วันที่ 20 ธ.ค. 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่าที่วัดวังตะวันออก ต.คลัง อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช คณะสงฆ์ พร้อมพนักงานเจ้าหน้าที่ได้ร่วมกันจัดเตรียมอาคารสถานที่ในการประกอบพิธีเททองและพุทธา-เทวาภิเษกวัตถุมงคล“พระหนุนดวงเรียกทรัพย์” หลวงพ่อพัฒน์ วัดห้วยด้วน (ธารทหาร) อ.หนองบัว จ.นครสวรรค์ ซึงพระราชมงคลวัชราจารย์ “หลวงพ่อพัฒน์” เจ้าอาวาสวัดหวยด้วน อายุ 100 ปีที่ยอมนั่งเครื่องบินเป็นครั้งแรกในชีวิตเดินทางมาประกอบพิธีด้วยตัวเอง ณ.มณฑลพิธีวัดวังตะวันออก ต.คลัง อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช นับเป็นการจัดสร้างวัตถุมงคลครั้งประวัติศาสตร์ของสองนคร “นครศรีธรรมราช และนครสวรรค์” ในวันที่ 21 ธ.ค. 2564 ทำให้ชาวจังหวัดนครศรีธรรมราชและใกล้เคียงที่ทราบข่าวว่าหลวงพ่อพัฒน์ วัดห้วยด้วน อ.หนองบัว จ.นครสรรค์ จะเดินทางมาเยือนจังหวัดนครศรีธรรมราช ต่างเฝ้ารอต้อนรับกันอย่างคึกคัก โดยมี พระครูวินัยธรสุวิจักขณ์ ปญญฺวโร หรือ “พระอาจารย์ดอน” ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดวังตะวันออก คอยอำนวยความสะดวกและควบคุมสั่งการอย่างใกล้ชิด
โดยการดำเนินการจัดเตรียมสถานที่แยกออกเป็น 3 ส่วน ๆ แรกภายในพระอุโบสถวัดวังตะวันออกซึ่งเป็นสถานที่ประกอบพิธีพุทธภิเษก ซึ่งจะอนุญาติให้เข้าเฉพาะพระเกจิอาจารย์ และผู้หลักผู้ใหญ่ที่เกี่ยวข้องนำโดยนางกนกพร เดชเดโช นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครศรีธรรมราช ประธานฝ่ายฆราวาสเข้าไปอยู่ภายในพระอุโบสถช่วงประกอบพิธีพุทธาภิเษก ไม่เกิน 30 รูป/คนเท่านั้น ส่วนที่ 2 ลานหน้าพระอุโบสถด้านทิศเหนือ เป็นสถานที่ประกอบพิธีเททอง ฯและส่วนที่ 3 ภายในบริเวณวัดที่เหลือทั้งหมด ซึ่งเป็นจุดที่มีการขึ้นเต้นท์ วางโต๊ะเก้าอี้ เตรียมไว้รองรับประชาชนที่จะแห่มาร่วมพิธีและรับแจกวัตถมงคล “หลวงพ่อพัฒน์”ฟรี และการประกอบพิธีเทวาภิเษกโดยราชครู “ครูหมอโนรา”ชื่อดังภาคใต้ คาดว่าจะมีผู้คนเดินทางมาร่วมพิธีตลอดทั้งวันรวมไม่น้อยกว่า 1,000 คน ท่ามกลางมาตรการควบคุมป้องกันโควิดอย่างเคร่งครัด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่านอกจากพระภิกษุ สามเณรวัดวังตะวันออกที่มาช่วยจัดเตรียมสถานภายในวัดวังตะวันออกแล้ว ยังมีพระสังฆาธิการจากหลายวัดมาช่วยอย่างต่อเนื่อง อาทิ พระมหาบุญช่วย ปคุโณ รองเจ้าคณะจังหวัด (มหานิกาย) พระครูสิริวรรณาภรณ์ เจ้าอาวาสวัดเทพพนมเชือด เจ้าคณะตำบลรอนพิบูลย์ อำเภอร่อนพิบูลย์ จ.นครศรีธรรมราช เป็นต้น รวมทั้งมีฆราวาสหลายคณะจาก จ.นครศรีธรรมราช และ จ.พัทลุง เดินทางมาช่วยงานเตรียมสถานที่อย่างพร้อมเพรียง หามรุ่งหามค่ำอีกด้วย สำหรับวัตถุมงคลที่จะจัดสร้างและพุทธาภิเษก ประกอบด้วย พระหนุนดวง หลวงพ่อพัฒน์ วัดห้วยด้วน “หัวตาพรานบุญ”เนื้อโลหะและเนื้อว่าน ,วัตถุมงคล “หัวนะโมสองนคร” ,ผ้ายันต์เปิดเมือง พิธีสวดนพเคราะห์เปิดฟ้าเมือง 12 นักษัตรและพุทธา-เทวาภิเษกปฐมฤกษ์กลางเมืองนครศรีธรรมราช เมื่อวันที่ 2 ก.ค.2559 ซึ่งเก่าเก็บเปิดกรุนำมาร่วมพุทธาภิเษกซ้ำประมาณ 500 ผืน รวมทั้งผ้ายันต์และวัตถุมงคลวัดเขาพระทอง อ.ชะอวด จ.นครศรีธรรมราช อีกจำนวนหนึ่งด้วย
พระครูวินัยธรสุวิจักขณ์ ปญญฺวโร หรือ พระอาจารย์ดอน” กล่าวอีกว่า หลังการประกอบพิธี ฯในวาระแรกในวันที่ 21 ธ.ค. 2564 “พระราชมงคลวัชราจารย์” หรือหลวงพ่อพัฒน์ จะนำวัตถุมงคล “หลวงพ่อพัฒน์”วัดห้วยด้วน ซึ่งเป็นวัตถุมงคลที่ต้องการและเสาะหาของเซียนพระทั่วประเทศมาแจกจ่ายให้กับประชาชนผู้เข้าร่วมในพิธีทุกคนอีกด้วย โดยในภาคเช้าเป็นการประกอบพิธีเทวาภิเษก โดยคณะฆราวาสจอมขมังเวทย์ และคณะพระราชครูโนราห์ หรือ “ครูหมอโนราห์”ตามความเชื่อและศรัทธาของเหล่าศิลปินพื้นบ้านหนังตะลุง มโนราห์ เพลงบอก โดยมีอาจารย์ธนิสร์ ศรีกลิ่นดี ศิลปินแห่งชาติ เป่าขลุ่ยถวายครูบาอาจารย์ เทพยดา ฟ้าดิน สิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายในจังหวัดนครศรีธรรมราชและจังหวัดนครสวรรค์ หลังพิธีเทวาภิเษกเสร็จสิ้นจะมีการมอบรางวัลเกียรติยศให้กับศิลปินพื้นบ้านผู้มุ่งมั่นสืบสานศิลปะประจำถิ่นศิลปินพื้นบ้าน ประกอบด้วย โนราห์ 15 ท่าน หนังตะลุง 3 คณะ เพลงบอก 2 คณะ และลิเกป่า 1 คณะ จึงนับได้ว่าในวันดังกล่าวเป็นอีกหน้าหนึ่งของประวัติศาสตร์เมืองนครศรีธรรมราชและเมืองนครสวรรค์ ซึ่งผู้สนใจสามารถติดพต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่อาตมาพระครูวินัยธรสุวิจักขณ์ โทร.080-6954622 หรือติดตามรายละเอียดได้ทางสื่อมวลชนทุกแขนง และติดตามบรรยากาศผ่านการถ่ายทอดสดทางเพจเฟซบุ๊ค “คิดถึงจังเรดิโอ” และ “เพจข่าวตีแผ่” ตั้งแต่เวลา 09.39-14.39 น.วันที่ 21 ธ.ค. 2564 พระครูวินัยธรสุวิจักขณ์ ปญญฺวโร หรือ พระอาจารย์ดอน” กล่าวในที่สุด.
กัญญาณัฐ เพ็ญสวัสดิ์ /จ.นครศรีธรรมราช