กรมชลประทาน เร่งปรับระบายน้ำ เขื่อนเจ้าพระยา รับมืออิทธิพล “พายุวิภา” 20-24 ก.ค. นี้ กำจัดผักตบชวากีดขวางทางน้ำ
ข่าวที่น่าสนใจ
21 กรกฎาคม 2568 สถานการณ์น้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยายังคงมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ทางกรมชลประทานได้มีการทยอยปรับเพิ่มการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยาในรูปแบบขั้นบันได และยังได้มีการผันน้ำเข้าสู่ระบบชลประทานทั้ง 2 ฝั่งของลุ่มน้ำเจ้าพระยา เพื่อลดผลกระทบของพื้นที่ทางด้านท้ายน้ำ นอกจากนี้ ทางโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเจ้าพระยา ได้มีการนำเครื่องจักร ลงพื้นที่เก็บผักตบชวา และวัชพืช ที่มีมากกว่า 20,000 ตัน ทางด้านเหนือเขื่อนเจ้าพระยา เพื่อเปิดทางไหลของน้ำให้สะดวก
สำหรับปัจจุบัน สถานการณ์น้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ที่สถานีวัดน้ำ C.2 อ.เมือง จ.นครสวรรค์ มีปริมาณน้ำไหลผ่านอยู่ที่ 1,170 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ที่เขื่อนเจ้าพระยา มีปริมาณน้ำทางด้านเหนือเขื่อนอยู่ที่ 15.46 เมตร/ระดับน้ำทะเลปานกลาง (รทก.) มีปริมาณน้ำทางด้านท้ายเขื่อนอยู่ที่ 10.06 เมตร/ระดับน้ำทะเลปานกลาง ระดับน้ำห่างจากตลิ่งอยู่ที่ 6.28 เมตร และเขื่อนเจ้าพระยามีอัตราการระบายน้ำผ่านเขื่อนอยู่ที่ 755 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที
ด้านนายเถลิงกิตติ์ สุวรรณชาติ ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเจ้าพระยา เผยว่า จากการคาดการณ์ของกรมชลประทานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการปรับเพิ่มการระบายน้ำจากสถานีวัดน้ำ C.2 อ.เมือง จ.นครสวรรค์ ช่วงนี้เป็นช่วงเริ่มต้นมวลน้ำก้อนที่ 2 ในห่วงของเดือนกรกฎาคม ซึ่งการระบายน้ำต่าง ๆ ต้องมีการคาดการณ์
ทั้งนี้ต้องดูปริมาณน้ำที่สถานีวัดน้ำ C.2 อ.เมือง จ.นครสวรรค์ เพราะปัจจุบัน มีปริมาณฝนตกกระจายในพื้นที่ บางช่วงพื้นที่ของลุ่มน้ำน่าน ที่มีปริมาณฝนตกด้านเหนือก็มีเขื่อนสิริกิติ์รับน้ำเอาไว้ เขื่อนภูมิพลก็เช่นกัน หากมีปริมาณฝนตกด้านท้ายเขื่อน ทางกรมชลประทานก็ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษเพื่อการบริหารจัดการน้ำของเขื่อนเจ้าพระยา ทั้งนี้ต้องดูปริมาณน้ำของพื้นที่ทางด้านพื้นที่ด้านเหนือเขื่อนและท้ายเขื่อนเจ้าพระยา รวมไปถึงอาคารระบายน้ำเขื่อนเจ้าพระยาต้องมีความปลอดภัย
สำหรับการกำจัดวัชพืช อยู่ใน 9 มาตรการหลัก ของ กอนช. (กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ) ทางเขื่อนเจ้าพระยาได้มีการขับเคลื่อนดำเนินการกำจัดออก โดยนำเครื่องจักรเครื่องมือ เรือกำจัดวัชพืช ลงพื้นที่จัดเก็บ ซึ่งปัจจุบันมีปริมาณผักตบชวา และวัชพืช มากกว่า 20,000 ตัน ทั้งนี้การจัดเก็บวัชพืชต่าง ๆ เพื่อเป็นการเปิดทางการไหลของน้ำ ไม่มีสิ่งกีดขวางและให้น้ำไหลได้สะดวก
อย่างไรก็ตามกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้แจ้งเตือน 57 จังหวัด ในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมขัง น้ำล้นตลิ่ง และดินโคลนถล่ม ในช่วงวันที่ 20-24 ก.ค.2568
ทั้งนี้ จัดทีมปฏิบัติการและเครื่องจักรกลสาธารณภัยเข้าประจำพื้นที่เสี่ยงเพื่อเข้าเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัยทันที โดยเฉพาะพื้นที่จุดเสี่ยงที่เคยเกิดน้ำท่วมบ่อยครั้ง และพื้นที่ที่ยังมีสถานการณ์น้ำท่วมอยู่ให้เร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่อย่างเต็มกำลัง เพื่อลดผลกระทบจากเหตุอุทกภัยให้ได้มากที่สุด รวมถึงแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยทราบล่วงหน้า และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนปฏิบัติตามประกาศแจ้งเตือนภัยจากทางราชการอย่างเคร่งครัด
นายภาสกร บุญญลักษม์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) ได้ติดตามสภาวะอากาศและพิจารณาปัจจัยเสี่ยงมาอย่างต่อเนื่องประกอบกับกรมอุตุนิยมวิทยาได้มีประกาศฉบับที่ 1 (187/2568) ประกาศ ณ วันที่ 19 ก.ค.2568 เรื่อง พายุ “วิภา” และฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณประเทศไทย โดยได้ระบุว่า ในช่วงวันที่ 20-24 ก.ค.2568 พายุ “วิภา” จะส่งผลกระทบบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ รวม 57 จังหวัด
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ข่าวล่าสุด
เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น