“ปราชญ์ สามสี” ฉะเขมรเคลมมั่ว เปิดหลักฐาน ตัวอักษรบนปราสาท “ตาเมือนธม” คือมรดกอารยธรรมอินเดีย ฝังรากในแผ่นดินไทย
20 ก.ค. 2568 เพจเฟซบุ๊กปราชญ์ สามสี โพสต์ สืบจากอักษร: ปราสาทตาเมือนธม ใช้อักษร ปัลลวะ ไม่ใช่ เขมรอย่างที่บางคนเข้าใจ กลางเชิงเขาพนมดงรัก คือสถานที่ตั้งของปราสาทหินเก่าแก่ที่ชื่อ “ตาเมือนธม” ในเขตตำบลตาเมียง จังหวัดสุรินทร์ ฝั่งแผ่นดินไทย ปราสาทแห่งนี้ถูกสร้างขึ้นอย่างวิจิตรบนผืนหินภูเขา โดยมีแผนผังเชิงยุทธศาสตร์ที่แสดงให้เห็นถึงความสำคัญในอดีต ไม่ใช่เพียงในแง่ศาสนา แต่ยังรวมถึงการควบคุมเส้นทางสัญจรระหว่างที่ราบลุ่มอีสานกับชายฝั่งทะเลในอุษาคเนย์
ตาเมือนธมไม่ใช่เพียงซากปรักหักพัง หากแต่ยังเก็บรักษาหลักฐานสำคัญที่สุดไว้นั่นคือ จารึกบนหินทราย ที่จารไว้ด้วย ภาษาสันสกฤต และเขียนด้วย อักษรหลังปัลลวะ อักษรที่พัฒนามาจากอินเดียใต้ และแพร่กระจายเข้ามาสู่คาบสมุทรอินโดจีนพร้อมกับศาสนาพราหมณ์
เนื้อหาของจารึกแม้จะชำรุดไปบางส่วน แต่ข้อความที่ยังคงปรากฏได้อย่างชัดเจนคือ:
“พึงให้ผู้ใดผู้หนึ่งทำงานที่เกี่ยวข้องกับเทพ ด้วยความภักดีในพระศิวะ…”
“ท่านทั้งหลายพึงถึงพระศิวะ โดยความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับเทพเจ้า… ตามกรรมที่ได้กระทำแล้ว”
จากข้อความนี้ เราเข้าใจได้ว่า ปราสาทแห่งนี้คือศาสนสถานในลัทธิ ไศวนิกาย หนึ่งในสายของศาสนาพราหมณ์ ซึ่งเน้นการบูชาพระศิวะ ไม่มีความเกี่ยวข้องกับพุทธมหายานที่รุ่งเรืองในยุคอาณาจักรเจนละหรือขอมในยุคหลัง ดังนั้นผู้ที่สร้างและใช้งานสถานที่แห่งนี้ ย่อมไม่ใช่ชนชาติที่เรียกว่า “เขมร” ในความหมายปัจจุบัน