“ทนายยิ่งลักษณ์” ยันขอศาลพิจารณาคดีใหม่ ชี้นำรายได้ขายข้าวจำนำ หักมูลหนี้หมื่นล้านเป็นช่องทางกม.
ข่าวที่น่าสนใจ
25 พ.ค.2568 นายนรวิชญ์ หล้าแหล่ง ทนายความของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ให้สัมภาษณ์ทีมข่าวท็อปนิวส์กล่าวถึงกรณีศาลปกครองสูงสุด สั่งนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ชดใช้ค่าเสียหายโครงการรับจำนำข้าว 10,028 ล้านบาทว่า มีแนวคิดในส่วนที่ 2 ที่จะขอทำการพิจารณาคดีใหม่ ซึ่งหลักเกณฑ์การขอพิจารณาคดีใหม่ คือจะต้องมีคดีหนึ่งที่สิ้นสุดไปแล้ว แต่หากพบพยานหลักฐานใหม่ กฎหมายก็เปิดช่องให้ทำได้ และหากพยานหลักฐานนั้นจะเป็นเหตุทำให้ศาลเปลี่ยนแปลงคำพิพากษาในสาระสำคัญ ก็เปิดโอกาสให้อีกฝ่ายได้ขอทำการพิจารณาคดีใหม่ โดยทำการยื่นผ่านศาลปกครองชั้นต้น ส่วนที่มีคนออกมาบอกว่า ตนดิ้นเกินไปหรือไม่ยอมรับนั้น ยืนยันว่าตนไม่ได้ไม่ยอมรับ แต่เป็นช่องทางทางกฎหมาย และบังเอิญว่าหลักฐานนั้นมีอยู่จริง
ทนายความนางสาวยิ่งลักษณ์ กล่าวอีกว่า การพิจารณาคดีในศาลปกครอง จะทำการพิจารณาคดีในประเด็นที่นำขึ้นมาสู่ศาล ไม่สามารถจะไปหยิบยกในประเด็นอื่นที่อยู่นอกสำนวนมาไม่ได้ ไม่เช่นนั้นจะเป็นการพิพากษาเกินคำขอ และเมื่อมาดูคำสั่งของกระทรวงการคลัง ก็ระบุไว้ว่าให้นางสาวยิ่งลักษณ์รับผิด พร้อมทั้งชดเชยค่าสินไหมทดแทน 3.5 หมื่นล้านบาท โดยในคำสั่งของกระทรวงการคลังในท่อนท้ายได้ระบุไว้ว่า หากทางราชการสามารถขายข้าวที่อยู่ในโครงการรับจำนำข้าว ได้สูงกว่าที่คณะอนุปิดบัญชี กำหนดมูลค่าคงเหลือไว้ ณ วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ก็ให้นำเงินในส่วนนี้มาหักทอนที่นางสาวยิ่งลักษณ์จะต้องชดใช้ ดังนั้นเขียนไว้อย่างชัดเจน นี่คือประเด็นที่ตนได้บอกไว้ว่าสามารถนำมาหักลบกลบหนี้ได้ ไม่ได้ทึกทักเอาเอง ส่วนตัวจึงมองว่ายอดเงินที่ รัฐบาลขายข้าวในโครงการรับจำนำข้าวได้นั้น สามารถนำมาหักลบกลบหนี้ในการระบายข้าวแบบจีทูจีได้
ส่วนกรณีที่นายแพทย์วรงค์ เดชกิจวิกรม ประธานพรรคไทยภักดี แย้งว่าคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดระบุว่า เป็นการชดใช้ค่าสินไหมในส่วนของการระบายข้าวแบบจีทูจี เท่านั้น ไม่ใช่การชดเชยความเสียหายทั้งโครงการ จึงไม่สามารถนำยอดเงินในการขายข้าวคงค้างในโกดัง มาหักกลบลบหนี้ได้นั้น นายนรวิชญ์ กล่าวว่า นายแพทย์วรงค์ก็เป็นนักการเมือง ตนไม่ขอตอบโต้ แต่ตนขอพูดในเชิงกฎหมายศาลปกครองในเรื่องของการฟ้องความรับผิดทางละเมิด เมื่อมีคำสั่งของกระทรวงการคลังออกมา เราเห็นว่าไม่ชอบ ถึงจะมีการฟ้องขึ้นไปที่ศาล
ดังนั้นในประเด็นการพิจารณาของศาลไม่สามารถทิ้งคำสั่งนี้ไปได้ และการที่นายแพทย์วรวงค์ระบุว่า คำวินิจฉัยของศาลไม่เกี่ยวกับคำสั่งดังกล่าวนั้น เป็นไปไม่ได้ เพราะต้นเหตุแห่งการฟ้องมาจากคำสั่งของกระทรวงการคลัง และคำสั่งดังกล่าวไม่ได้ระบุว่าให้มีการชดใช้ความผิดด้านความรับผิดทางละเมิดในขั้นตอนการระบายข้าว ตรงนี้จึงเกิดความเห็นแย้งของตุลาการเสียงข้างน้อยว่าให้ตรวจสอบ เพื่อให้เกิดความชอบด้วยกฎหมาย อีกทั้งการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าวในขั้นตอนของการระบายแบบจีทูจี ยังไม่มีสอบความรับผิดทางละเมิด และนางสาวยิ่งลักษณ์เองก็ยังไม่ได้ถูกตั้งคณะกรรมการสอบความรับผิดทางละเมิดในเรื่องนี้ กระทรวงการคลังก็ยังไม่ได้พิจารณาเรื่องนี้ และยังไม่มีคำสั่งให้รับผิดการทุจริตในขั้นตอนความเสียหายในการระบายข้าว ดังนั้นการที่นายแพทย์วรงค์ออกมาระบุว่าศาลวินิจฉัยชัดเจนว่าเป็นเรื่องของความเสียหายแค่ในระบบการระบายข้าว จึงไม่สามารถเอาการขายข้าวในโครงการมาหักลบได้นั้น เป็นการเข้าใจคนละแนว
เมื่อถามว่า หากท้ายที่สุดแล้ว ศาลปกครองชั้นต้นไม่ประทับรับฟ้อง พิจารณาคดีใหม่ที่ยื่นไป จะทำอย่างไร นายวรวิชญ์ กล่าวว่า เมื่อกฎหมายเปิดช่องทางให้ทำได้ ก็ต้องทำ เราไม่สามารถที่จะไปก้าวล่วงทางความเห็นหรือดุลพินิจของศาลได้ แต่ก็เป็นไปได้ทั้งหมดทั้งรับหรือไม่รับ และหากศาลชั้นต้นไม่รับ เราก็ยังมีขั้นตอนการอุทธรณ์ไปได้อีก ไม่ใช่ว่ายุติเลย ซึ่งเส้นทางสุดท้ายก็จะไปตกที่ศาลปกครองสูงสุดเช่นเดิม
เมื่อถามว่า ภายหลังจากมีคำตัดสินของศาลปกครองสูงสุด ได้พูดคุยเป็นการส่วนตัวกับนางสาวยิ่งลักษณ์หรือไม่ นายนรวิญช์ กล่าวว่า ตนยังไม่กล้าที่จะต่อสายกับนางสาวยิ่งลักษณ์ แต่ก็ได้สื่อสารกับคนใกล้ชิด และจากการเห็นการโพสต์ข้อความผ่านโซเซียลมีเดีย ก็ต้องยอมรับว่านางสาวยิ่งลักษณ์รู้สึกเสียใจ และต้องยอมรับว่าวันที่ศาลมีคำตัดสินออกมานั้นตรงกับวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ซึ่งเป็นวันที่นางสาวยิ่งลักษณ์ถูกทำการรัฐประหาร ฉะนั้นนางสาวยิ่งลักษณ์ก็มองว่าตนเป็นผู้ถูกกระทำ เหมือนกับว่า 10 ปีที่ผ่านมาก็กำลังจะทำใจได้กำลังจะลืม กลับย้อนเข้ามาอีก ทำให้ตนยังไม่กล้าที่จะรบกวน แต่ในส่วนของทีมทนายขณะนี้ก็กำลังรวบรวมปรึกษาหารือถึงแนวทางต่างๆ รวมถึงนำคำวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นนำมาวิเคราะห์ร่วม และทำให้เรามีความระมัดระวังยิ่งขึ้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ข่าวล่าสุด
เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น