สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติลงมติอย่างท่วมท้น ให้สิทธิเพิ่มเติมแก่ชาวปาเลสไตน์ในสหประชาชาติ และสนับสนุนการขับเคลื่อนของพวกเขา ในการเป็นสมาชิกเต็มรูปแบบ ซึ่งมติดังกล่าวนี้ ถูกนำเสนอโดยสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ที่ระบุว่า รัฐปาเลสไตน์มีคุณสมบัติสำหรับการเป็นสมาชิกในสหประชาชาติ ตามมาตรา 4 ของกฎบัตร และด้วยเหตุนี้ จึงควรได้รับการยอมรับ ทั้งนี้ มติดังกล่าวจะเป็นการอนุญาตให้ชาวปาเลสไตน์ ได้รับเลือกให้นั่งในคณะมนตรีความมั่นคง หรือลงคะแนนเสียงในสมัชชาใหญ่ และช่วยให้พวกเขายื่นข้อเสนอและแก้ไขได้โดยตรง โดยไม่ต้องผ่านประเทศอื่นอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน นอกจากนี้ ยังให้สิทธิแก่รัฐปาเลสไตน์ ในการนั่งในหมู่ประเทศสมาชิกตามลำดับตัวอักษรด้วย โดยจะเริ่มตั้งแต่การประชุมสมัชชาใหญ่ครั้งถัดไปในเดือนกันยายน
อย่างไรก็ดี นายโมฮาเหม็ด อิสซา อาบูชาฮับ เอกอัครราชทูตสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ประจำสหประชาชาติ ก็ได้ย้ำว่า มติดังกล่าวยังไม่ได้เป็นการให้ความยุติธรรมกับรัฐปาเลสไตน์ เนื่องจากให้แค่สิทธิเพิ่มเติมเท่านั้น ซึ่งหมายความว่าปาเลสไตน์ จะยังคงเป็นสถานะผู้สังเกตการณ์ ที่ยังไม่มีสิทธิ์ลงคะแนนในสมัชชาใหญ่ ดังนั้น ตนจึงขอเรียกร้องให้มีการออกข้อเสนอแนะเชิงบวก เกี่ยวกับการเป็นสมาชิกของรัฐปาเลสไตน์ด้วย
ด้านนายริยาด มานซูร์ เอกอัครราชทูตปาเลสไตน์ประจำสหประชาชาติ ได้ขึ้นกล่าวก่อนที่จะมีการลงมติว่า ปาเลสไตน์ไม่เคยได้รับการโหวตที่มีนัยสำคัญ มากไปกว่าการลงคะแนนเสียงที่กำลังจะเกิดขึ้น ซึ่งจะเป็นการลงคะแนนครั้งประวัติศาสตร์ นี่คือการลงคะแนนเสียงเพื่อให้ชาวปาเลสไตน์ยังดำรงอยู่ ไม่ได้เป็นการต่อต้านรัฐใดๆ แต่เป็นการต่อต้านความพยายามที่จะกีดกันชาวปาเลสไตน์ และนั่นคือสาเหตุที่รัฐบาลอิสราเอลต่อต้านอย่างมาก พวกเขาต่อต้านเอกราชของปาเลสไตน์ และการแก้ปัญหาแบบสองรัฐโดยสิ้นเชิง
ส่วนนายโรเบิร์ต วูด รองเอกอัครราชทูตสหรัฐประจำสหประชาชาติ ก็ได้กล่าวว่า ร่างมตินี้ไม่ได้เปลี่ยนสถานะของชาวปาเลสไตน์ ในฐานะผู้สังเกตการณ์ที่ไม่ใช่สมาชิก มติดังกล่าวเป็นข้อความที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ การลงคะแนนเสียงนี้ ไม่ได้สะท้อนถึงการต่อต้านความเป็นรัฐปาเลสไตน์ สหรัฐก็ยังคงมีความเห็นว่า มาตรการที่เกิดขึ้นฝ่ายเดียวนี้ จะไม่ทำให้เป้าหมายนี้ก้าวหน้าไปได้
ทั้งนี้ นายริชาร์ด โกแวน นักวิเคราะห์จากอินเตอร์เนชั่นแนล ไครซิส กรุ๊ป (International Crisis Group) ได้แสดงความเห็นว่า ความเคลื่อนไหวเชิงสัญลักษณ์นี้คือสิ่งสำคัญ มตินี้เป็นสัญญาณที่ชัดเจนมาก สำหรับอิสราเอลและสหรัฐว่า ถึงเวลาแล้วที่จะต้องให้ความสำคัญกับความเป็นรัฐของชาวปาเลสไตน์อย่างจริงจัง
ท่ามกลางสงครามในฉนวนกาซาที่โหมกระหน่ำชาวปาเลสไตน์ ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา ปาเลสไตน์ได้ยื่นคำขอย้อนหลังไปถึงปี 2011 เพื่อเข้าเป็นสมาชิกเต็มรูปแบบของสหประชาชาติ ซึ่งในสถานะปัจจุบันของปาเลสไตน์นั่นคือ รัฐผู้สังเกตการณ์ที่ไม่เป็นสมาชิก ทั้งนี้ เพื่อให้ประสบความสำเร็จ สิ่งนี้จำเป็นต้องได้รับไฟเขียวจากคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ และต้องได้รับคะแนนเสียงข้างมาก 2 ใน 3 ในสมัชชาใหญ่ แต่สหรัฐซึ่งเป็น 1 ใน 5 สมาชิกที่มีสิทธิยับยั้งในคณะมนตรีความมั่นคง และเป็นพันธมิตรที่ใกล้ชิดที่สุดของอิสราเอล ได้ใช้สิทธิ์ยับยั้งไปเมื่อวันที่ 18 เมษายนที่ผ่านมา