"รทสช." หนุนชง "ศาลรธน." ชี้ขาดแก้ "รธน." ประกาศจุดยืนต้องไม่แตะหมวด 1 และ 2 ป้องสถาบัน ปลดเขี้ยวเล็บปราบโกงออกจาก "รัฐธรรมนูญ" เด็ดขาด "ก้าวไกล" ผวายื่นดาบ "ศาลรธน." ดับฝันฉีกรธน.ทั้งฉบับ
ข่าวที่น่าสนใจ
“รทสช.” ประกาศจุดยืนแก้ “รธน.” ต้องไม่แตะหมวด 1 และ 2 ปลดเขี้ยวเล็บปราบโกงออกจาก “รัฐธรรมนูญ”
นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) อภิปรายว่า เห็นด้วยกับญัตติ จะได้หายสงสัยในกระบวนการ ว่าต้องทําอย่างไร และไม่ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยอย่างไร ก็น้อมรับคําตัดสินทุกประการ อย่างไรก็ตาม หัวใจสําคัญของเรื่องดังกล่าว ไม่ใช่การทําประชามติ แต่เป็นวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
นายเอกนัฏ กล่าวว่า เข้าใจว่าเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญ มีสมาชิกหลายคนไปให้คํามั่นสัญญาไว้ในช่วงหาเสียง ซึ่งตนไม่ติดใจ แต่ต้องขอเตือนสติว่า หากเดินหน้าแก้รัฐธรรมนูญเกือบทั้งฉบับ นอกจากจะใช้เวลานานแล้ว ยังมีความเสี่ยง และสิ้นเปลืองงบประมานมาก ดังนั้น หากยื่นศาลรัฐธรรมนูญเพื่อตัดการทําประชามติไป 1 ครั้ง ก็จะช่วยประหยัดงบประมาณไป 3,250 ล้านบาท อาจจะเป็นข่าวดีก็ได้ อย่างไรก็ตาม หากถอยกลับมาทบทวนการแก้รัฐธรรมนูญ ไม่จําเป็นต้องยกร่างใหม่ทั้งฉบับ เพราะร่างที่ใช้ในปัจจุบัน ก็มีสิ่งดีๆที่ควรรักษาไว้ หากมีปัญหาที่ต้องแก้ไข ก็สามารถเสนอแก้ไขได้ทันที ไม่ต้องทําประชามติให้เสียเวลาและงบประมาณ
นายเอกนัฏ กล่าวว่า เข้าใจว่ามีสมาชิกหลายคน ยังกังวลกับวาทกรรมเผด็จการประชาธิปไตย และมองว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ เป็นผลพลอยจากการรัฐประหาร จึงขอยืนยันว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เกิดขึ้นจากคณะกรรมการที่มาจากผู้มีประสบการณ์ มีความสามารถ เป็นอิสระจากการเมือง และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และยังได้รับการเห็นชอบจากการทําประชามติ โดยประชาชนทั่วประเทศกว่า 15 ล้านเสียง ดังนั้น วาทกรรมดังกล่าวจึงไม่เป็นความจริง
นายเอกนัฏ กล่าวทิ้งท้ายว่า ส.ส.รทสช.ทุกคน ยินดีโหวตให้ญัตตินี้ แต่หากจะเดินหน้าการแก้ไขรัฐธรรมนูญเช่นนี้ ตนจะยังยึดจุดยืนเดิมที่เคยประกาศไว้ คือไม่แตะหมวด 1 และ หมวด 2 รวมถึงไม่กระทบกระบวนการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ก็ขอให้ผู้เสนอญัตติ วางหลักประกันให้เรามีความไว้วางใจ
“ก้าวไกล”ผวายื่นดาบตุลาการ “ศาลรธน.” ดับฝันฉีกรธน.ฉบับปราบโกง
นายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า รู้สึกหนักใจที่จะต้องส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เพราะทุกครั้งที่รัฐสภาส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะเกี่ยวกับการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ คือการยื่นดาบให้แก่ตุลาการ 9 คน ที่ถูกแต่งตั้งโดยกลุ่มคนที่ส่วนใหญ่ไม่อยากจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และให้กลุ่มคนดังกล่าวชี้ขาดรัฐสภาว่าทำได้ ทำไม่ได้ ซึ่งส่วนใหญ่ที่ผ่านมามักไม่เป็นคุณต่อกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่ที่หนักใจกว่านั้น ถ้าเกิดรัฐสภาเดินตามรัฐธรรมนูญอย่างเคร่งครัดจะไม่ต้องใช้เวลาหรือกำลังพิจารณาญัตตินี้ตั้งแต่ต้น
นายพริษฐ์ อภิปรายต่อว่า หากสงสัยในคำวินิจฉันศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2564 เราสามารถไปดูคำวินิจฉัยส่วนตนของตุลาการได้ เพื่อประกอบการวินิจฉัยของประธานรัฐสภา เมื่อตนศึกษาคำวินิจฉัยส่วนตนแล้วจะเห็นชัดว่าตุลาการมีความเห็นอย่างไร หากจะยึดตามความเข้าใจและข้อมูลของตน มี 5 ตุลาการบอกว่าประธานรัฐสภาบรรจุเข้าเป็นระเบียบวาระได้ และมี2ตุลาการวินิจฉัยคล้ายคำวินิจฉัยกลาง อีก1ตุลาการชัดเจนว่าบรรจุเป็นระเบียบไม่ได้จนกว่าจะทำประชามติ และอีก 1 ตุลาการชัดเจนว่ารัฐสภาไม่มีอำนาจแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉะนั้นพออนุมานได้ว่าคำวินิจฉัยกลางเปรียบเสมือนการสรุปรวบยอดบอกกับเราว่าประธานรัฐสภาสามารถบรรจุร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมของพรรคเพื่อไทยเป็นระเบียบวาระได้ และเชื่อว่าถ้ารัฐสภามีมติให้ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญจริงๆ ตุลาการที่เคยวินิจฉัยก็จะวินิจฉัยกลับมาเหมือนเดิม
ข่าวที่เกี่ยวข้อง