ญี่ปุ่นเตรียมยุตินโยบายดอกเบี้ยติดลบที่ใช้มา 8 ปี และเตรียมปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกในรอบ 17 ปี แต่ยังรักษาอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับศูนย์ จากการฟื้นตัวเศรษฐกิจยังคงเปราะบาง
รอยเตอร์รายงานคาดว่า ธนาคารกลางญี่ปุ่น เตรียมยุตินโยบายดอกเบี้ยติดลบ และนโยบายการเงินสุดโต่งอื่นๆ ที่ใช้มาถึง 8 ปีในวันนี้ ซึ่งจะเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งประวัติศาสตร์ ความเคลื่อนไหวดังกล่าวจะทำให้ BOJ กลายเป็นธนาคารกลางแห่งสุดท้าย ที่ละทิ้งอัตราดอกเบี้ยติดลบ และยุติยุคที่ผู้กำหนดนโยบายทั่วโลก พยายามกระตุ้นการเติบโต ด้วยมาตรการคิวอีและเครื่องมือทางการเงินที่แหวกแนว
ในขณะที่นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ที่สำรวจเมื่อต้นเดือนมีนาคมคาดว่า BOJ จะรอจนถึงเดือนเมษายน เพื่อยุติอัตราดอกเบี้ยติดลบ แต่แหล่งข่าวของรอยเตอร์กล่าวว่า การปรับขึ้นค่าจ้างโดยบริษัทใหญ่ ๆ ที่มากกว่าที่คาดไว้ ซึ่งประกาศเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ได้เพิ่มโอกาสที่จะทำให้ BOJ ตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ยทันที หลังการประชุม 2 วันที่จะสิ้นสุดในวันนี้ ซึ่งหากเป็นไปตามคาด คณะกรรมการนโยบายการเงินทั้ง 9 คนจะกำหนดอัตราดอกเบี้ยใหม่ที่ร้อยละ 0 ถึงร้อยละ 0.1
ด้านนางสาว อิซูมิ เดวาลิเยร์ หัวหน้าฝ่ายเศรษฐศาสตร์ญี่ปุ่นของบริษัทหลักทรัพย์ บีโอเอฟเอ กล่าวว่า ครั้งนี้ถือเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกในรอบ 17 ปี ดังนั้นจึงมีความสำคัญเชิงสัญลักษณ์อย่างมาก แต่ผลกระทบที่แท้จริงต่อเศรษฐกิจนั้นมีน้อยมากเธอกล่าว โดยตั้งข้อสังเกตว่า BOJ มีแนวโน้มที่จะยังคงรักษานโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเป็นพิเศษ อย่างไรก็ตาม ยังคงมีโอกาสที่ BOJ อาจรอจนถึงเดือนเมษายน หากเสียงส่วนใหญ่ในคณะกรรมการเห็นว่า จำเป็นต้องพิจารณาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนที่จะตัดสินใจ
ทั้งนี้การยุตินโยบายดอกเบี้ยติดลบของญี่ปุ่น ไม่ได้หมายถึงการเร่งขึ้นดอกเบี้ยอย่างรวดเร็วในทันที เนื่องจากมันอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างรุนแรง ทั้งอัตราผลตอบแทนพันธบัตรที่พุ่งสูงขึ้น จะเพิ่มต้นทุนในการชำระหนี้สาธารณะจำนวนมหาศาลของญี่ปุ่น ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าเศรษฐกิจของประเทศถึงสองเท่า อีกทั้งตลาดลงทุนโลกอาจผันผวนเนื่องจากนักลงทุนญี่ปุ่นย้ายเงินกลับประเทศ