“พรรคก้าวไกล” เหมือนโดนตอกหน้าหงาย ภายหลัง “คนอยุธยา” มีมติเอกฉันท์ เดินหน้าโครงการพัฒนาระบบรางนำความเจริญมาสู่ภาคกลาง ล่าสุด “ว่าที่ร้อยตรีสมทรง สรรพโกศลกุล” นายกเทศมนตรีเทศบาลนครพระนครศรีอยุธยา ได้ลงมติสนับสนุนการก่อสร้างสถานีรถไฟความเร็วสูง ณ สถานที่เดิม ตามสัญญาของรัฐบาล โดยสภาชิกสภาเทศบางทุกคนที่อยู่ในห้องต่างยกมือสนับสนุนทั้งหมด เพื่อให้พี่น้องชาวจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และจังหวัดข้างเคียง ได้รับประโยชน์จากการสร้างสถานีรถไฟความเร็วสูง
นอกจากนี้หากย้อนไปเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ซึ่งมีการประชุมเสวนาเรื่อง ปัญหาการสร้างสถานีรถไฟฟ้าความเร็วสูงอยุธยา ซึ่งมีประชาชนชาวอยุธยาและนายทวิวงศ์ รวมถึงคณะกรรมาธิการการท่องเที่ยว สภาผู้แทนราษฎร เข้าร่วมเสวนา ปรากฏว่าหลังการเสวนา ว่าที่ร้อยตรีสมทรง นายกเทศมนตรีเทศบาลนครพระนครศรีอยุธยา ได้พูดคุยทำความเข้าใจกับนายทวิวงศ์ โดยแนะนำให้นายทวิวงศ์มาช่วยกันเร่งพัฒนาตลาดหัวรอ แบบนี้น่าทำ คนหัวรอลืมตาอ้าปากได้ แต่กรณีรถไฟความเร็วสูง ยิ่งแย้งยิ่งเสีย เพราะวันนี้คนหัวหงอกออกมากระจุยกระจายแล้ว และสิ่งที่คิดให้สร้างเป็นสถานีใต้ดิน ขุดไปก็เจอแม่น้ำเจ้าพระยา วันนี้เราเสียโอกาสไปเยอะ รีบพลิกเกมซะ
เช่นเดียวกับ “นางกัลยาณี จูปรางค์” หรือ “ป้าอยุธยา” เจ้าถิ่น แท็กทีมกับแนวร่วม “เพจวันนี้ก้าวไกลโกหกอะไร” ร่วมกันจัดกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ “สีดาแทงจระเข้ ไล่เสนียดออกจากอโยธยา” พร้อมยื่นหนังสือถึงนายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมที่จะมาดูงานที่สถานีอยุธยา
กระทั่งวันก่อน “นายสุรพงษ์” ในฐานะรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ชี้แจงตอบโต้ “นายทวิวงศ์ โตทวิวงศ์” สส.พรรคก้าวไกล โดยยืนยันว่าโครงการดังกล่าวไม่ส่งผลกระทบต่อมรดกโลก และกระทรวงคมนาคมมีแผนพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยมีเนื้อหาดังนี้
“การรถไฟแห่งประเทศไทย ร่วมกับคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้ทำการศึกษาและจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบด้านทรัพย์สินทางวัฒนธรรม (Heritage Impact Assessment : HIA) เพื่อลดข้อกังวลใจของ UNESCO และประชาชน โดยประเทศไทยยังไม่เคยมีการจัดทำรายงาน HIA มาก่อน ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคม ตระหนักถึงความกังวลของประชาชนเกี่ยวกับผลกระทบต่อการเป็นมรดกโลก โดยขอยืนยันว่าสถานีอยุธยาไม่ได้อยู่ในเขตพื้นที่มรดกโลกที่ได้รับการขึ้นทะเบียนกับ UNESCO แต่อยู่ห่างออกไป 1.5 กิโลเมตร และมีแม่น้ำป่าสักคั่นอยู่ ดังนั้นการขยายตัวของเมืองเข้าไปในเขตมรดกโลกจึงเป็นไปได้ยาก”
นอกจากนี้ นายสุรพงษ์ ได้ยกตัวอย่างเมืองมรดกโลกอื่น ๆ ที่มีสถานีรถไฟอยู่ใกล้ เช่น วัดโทจิ เมืองเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น และมรดกโลกมหาวิหารโคโลญ ประเทศเยอรมนี เพื่อแสดงให้เห็นว่าสถานีรถไฟความเร็วสูงอยุธยาสามารถอยู่ร่วมกับมรดกโลกได้และอธิบายถึงแผนพัฒนาพื้นที่รอบสถานีรถไฟความเร็วสูงอยุธยาที่มุ่งเน้นการเชื่อมโยงระบบขนส่งสาธารณะ รองรับผู้โดยสาร รวมทั้งพัฒนาเส้นทางรถสาธารณะ และปรับปรุงระบบขนส่งรูปแบบใหม่ โดยสถานีรถไฟความเร็วสูงอยุธยา ได้ออกแบบมาเพื่อรองรับประชาชนและนักท่องเที่ยว มีพื้นที่จอดรถ พื้นที่สีเขียว สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ภูมิทัศน์รอบสถานีจะสวยงาม เพิ่มพื้นที่สีเขียว เพื่อรองรับประชาชนและนักท่องเที่ยว
ทั้งนี้ยืนยันว่าได้ดำเนินการศึกษาแนวทางปรับปรุงรูปแบบสถานี เพื่อลดผลกระทบต่อโบราณสถาน พร้อมทั้งดำเนินการตามผลการศึกษา ออกแบบรายละเอียด และมติคณะกรรมการที่เกี่ยวข้อง โดยการพัฒนาพื้นที่สถานีอยุธยาถือเป็นการพัฒนาบนแนวเส้นทางเดิม ไม่ได้ทำการเวนคืนที่ดินแต่อย่างใด และ ส่วนในกรณีประเด็นเรื่องทุนจากต่างประเทศ นายสุรพงษ์ กล่าวว่าโครงการได้ดำเนินการจ้างโดยมีผู้รับจ้างเป็นบริษัทของไทย วัสดุที่ใช้ในการก่อสร้างส่วนใหญ่ล้วนมาจากไทย และมีคณะผู้สังเกตการณ์ตามข้อตกลงคุณธรรม องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน เข้าร่วมสังเกตการณ์อย่างโปร่งใส และกล่าวทิ้งท้ายว่าโครงการรถไฟความเร็วสูงอยุธยาถือเป็นโครงการพัฒนาที่สำคัญต่อเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของประเทศ รัฐบาลมีแผนรองรับผลกระทบต่างๆ อย่างรอบคอบ และคำนึงถึงความโปร่งใสและสร้างความเชื่อมั่นให้กับทุกภาคส่วน
อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้ “พรรคก้าวไกล” พยายามโหมกระแสข่าวผ่านทางโซเซียลมิเดีย ว่าโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม ไทย-จีน ในตำแหน่งของ “สถานีอยุธยา” จะมีผลกระทบต่อพื้นที่มรดกโลก พร้อมให้เหตุผลว่า ผมเห็นด้วยอย่างยิ่งที่เราจะพัฒนาระบบขนส่งแบบรางทั่วประเทศให้มีประสิทธิภาพ และพร้อมที่จะสนับสนุนเพื่อให้เป็นขนส่งสาธารณะที่สะดวกสบายแก่ประชาชนทุกท่าน แต่เราสามารถมีแนวทางที่จะพัฒนาระบบราง และ การอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมของประเทศไว้ด้วย เรามีทางเลือกที่ดีกว่านี้ได้ มากกว่าจะจำกัดแนวทางเลือก ที่ไม่มีส่วมร่วมจากประชาชนเลย