No data was found

วิโรจน์ อัดรัฐบาลเมินวิกฤตการศึกษาไทย ห่วงผลสอบ PISA ไทยรั้งท้าย

กดติดตาม TOP NEWS

วิโรจน์ อัดรัฐบาลเมินวิกฤตการศึกษาไทย ห่วงผลสอบ PISA ไทยรั้งท้าย

วันที่ 5 ม.ค.67 ที่รัฐสภา นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายงบประมาณของกระทรวงศึกษาธิการ และวิกฤตทางการศึกษา โดยกล่าวถึงการสอบ PISA หรือโครงการประเมินผลนักเรียนระดับนานาชาติวัดทักษะและความสามารถของนักเรียนอายุ 15 ปี ด้านการอ่าน คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ โดยจัดสอบทุก 3 ปี เพื่อประเมินค่าเฉลี่ยของคุณภาพคน และขีดความสามารถในการแข่งขันของพลเมืองแต่ละประเทศ สะท้อนคุณภาพการศึกษา และกลไกของรัฐในการพัฒนาพลเมือง ล่าสุดผลคะแนน PISA ปี 2565 ของประเทศไทย อยู่ในกลุ่มรั้งท้าย ได้คะแนนต่ำสุดในรอบ 20 ปี ประเทศไทยเข้าสู่การทดสอบ PISA ตั้งแต่ปี 2543 ปัจจุบันมีแต่สาละวันเตี้ยลงโงหัวไม่ขึ้น ผลต่างระหว่างประเทศไทยกับประเทศในกลุ่มที่พัฒนาแล้วยิ่งทิ้งห่างไปเรื่อย ๆ ไม่เคยนำเอาผลการสอบครั้งที่แล้วมาปรับปรุงระบบการศึกษา ปัจจุบันผ่านมา 24 ปีประเทศไทยจมปลักอยู่กับปัญหาเดิม รัฐบาลมองปัญหากลายเป็นเรื่องปกติ หลอนว่าระบบการศึกษาเป็นอัตลักษณ์ของประเทศถือเป็นวิกฤตของระบบการศึกษาไทย และเมื่อฟังคำสัมภาษณ์ของ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2566 ที่ระบุว่า ”คงไม่เทียบมาตรฐานกับประเทศอื่นดีกว่าครับของเราก็เป็นตัวของเราเอง“ เมื่อคนระดับรัฐมนตรีมองว่าไม่ได้เป็นปัญหา แต่เป็นสไตล์ จึงไม่แปลกใจว่าเหตุใดงบประมาณปี 2567 ของกระทรวงศึกษาธิการถึงเป็นงบประมาณแบบเดิม ”ทุกวันนี้การศึกษาไทยกำลังเดินหลงทาง มองไปข้างหน้าก็ไม่เจอใคร มองไปข้างหลังก็ไม่เจอคน มองซ้ายเจอฮวงซุ้ย มองขวาเจอป่าช้า แต่ก็ยังจะเดินหน้าต่อไป ยิ่งเดินต่อเสบียงยิ่งร่อยหรอ งบประมาณถูกใช้ไปเรื่อย ๆ ไม่สามารถสร้างผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาได้“ เราอยู่ในยุคที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษา ชื่อ “เพิ่มพูน” แต่การศึกษาไทยถดถอยล้าหลัง นายวิโรจน์ เปรียบเทียบคะแนน PISA ของประเทศสิงคโปร์ ทั้งการอ่าน คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ ซึ่งคะแนนอยู่เหนือกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว และมีแนวโน้มจะทิ้งห่างประเทศที่พัฒนาแล้วไปเรื่อย ๆ ส่วนประเทศเวียดนามเทียบเท่ามีคะแนนกับประเทศกลุ่มกลุ่มที่พัฒนาแล้ว ดังนั้นผลการทดสอบ PISA ของไทยที่ตกต่ำมาโดยตลอด สะท้อนว่าพลเมืองของไทยอายุตั้งแต่ 17-39 ปีสู้พลโลกไม่ได้เลย

ไม่มีคำอธิบาย

 

เมื่อเอาผลคะแนนของแต่ละโรงเรียนมาวิเคราะห์โรงเรียนสาธิตเทียบกับโรงเรียนสังกัด สพฐ. จะเห็นถึงความเหลื่อมล้ำ เพราะโรงเรียนสาธิตสามารถออกแบบหลักสูตรได้เอง บูรณาการหลากหลายวิชาเข้าด้วยกัน ทำให้บริหารเวลาเรียนได้มีประสิทธิภาพการเรียนรู้เปิดกว้าง ขณะที่โรงเรียนสังกัด สพฐ.เต็มไปด้วยอำนาจนิยม และการบูลลี่ ดึงเด็กออกมานอกห้องเรียน เพื่อทำกิจกรรมสร้างหน้าตาให้กับผู้บริหารสถานศึกษารอคนจากส่วนกลางมาตัดริบบิ้น จากผลวิจัยพบว่าการบูลลี่ในโรงเรียนส่งผลเสียต่อการสอบ PISA ทำให้ผลคะแนนในวิชาวิทยาศาสตร์ตกต่ำลง 35-55 คะแนน ซึ่งเมื่อดูในงบประมาณปี 2567 กลับไม่พบว่าจะให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหา อำนาจนิยมและการบูลลี่ในโรงเรียน นายวิโรจน์ ชี้ให้เห็นว่า เด็กไทยมีเวลาเรียนเยอะติดอันดับโลกประมาณ 56 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ หรือตกวันละ 8 ชั่วโมงต่อวัน หักลบกับเวลานอน 8 ชั่วโมงก็เท่ากับเป็นครึ่งหนึ่งของชีวิต สะท้อนว่าเวลาเรียนในโรงเรียนไร้คุณภาพ อย่างไรก็ตามงบดำเนินงานและรายจ่ายอื่น ถือเป็นปัญหาใหญ่ของกระทรวงศึกษาธิการ หากเทียบกับกระทรวงสาธารณสุขกับนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค และกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ถือเป็นการปฏิรูประบบจัดสรรงบประมาณด้านสาธารณสุขของประเทศไทย ใช้งบประมาณและรายจ่ายอื่นไปกับ 3 เรื่อง ได้แก่ ส่งเสริมการป้องกันโรค เพิ่มศักยภาพทักษะทางวิชาชีพ และยกระดับมาตรฐานของสถานพยาบาล

ไม่มีคำอธิบาย

ข่าวที่น่าสนใจ

แต่เมื่อดูสัดส่วนของงบดำเนินงานและงบรายจ่ายอื่นของกระทรวงศึกษาธิการเทียบกับกระทรวงสาธารณสุขพบว่าสูงกว่าเป็นเท่าตัว ปี 2563 กระทรวงสาธารณสุขอยู่ที่ 8.41% ส่วนกระทรวงศึกษาธิการอยู่ที่ 19.33% คิดเป็นมูลค่าเงิน 15,027 ล้านบาท และในปีต่อมาก็มีมูลค่าสูงถึง 10,000 ล้านบาท ทำให้กระทรวงศึกษาธิการเจ็บกระดองใจพยายามปรับลดงบดำเนินงานและงบรายจ่ายอื่นในปี 2567 ซึ่งในปีนี้มีการปรับลดงบลดลงมาเหลือ 13.14% นายวิโรจน์ ตั้งข้อสังเกตว่ายังมีงบประมาณในหลายโครงการของกระทรวงศึกษาธิการที่ไม่เกิดประโยชน์ต่อผู้เรียนคำนวณว่ามีวงเงินต้องสงสัย 8,256 ล้านบาท เชื่อว่าสามารถปรับลดงบดำเนินงานและงบรายจ่ายอื่นได้อีก โดยเฉพาะโครงการที่มีภารกิจซ้ำซ้อน โครงการที่สร้างภาระงานให้กับครูผู้สอน โครงการที่เต็มไปด้วยการว่าจ้างที่ปรึกษา ซึ่งมียอดรวม 2,117 ล้านบาท โครงการเหล่านี้มักจะตั้งชื่อให้เป็นคนดีเพื่อป้องกันการตัดงบ ใครที่ตัดงบประมาณก็จะถูกมองว่าเป็นคนไม่ดี ไม่เห็นแก่เด็กตาดำ ๆ แต่เมื่อดูในรายละเอียดจะทราบว่าโครงการเหล่านี้เป็นภาระแก่ครูและนักเรียน เช่น โครงการสร้างภูมิคุ้มกันป้องกันยาเสพติดโครงการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดในสถานศึกษา โครงการเสริมสร้างคุณธรรมจริยธรรมและธรรมาภิบาลในสถานศึกษา และโครงการสร้างเสริมสร้างระเบียบวินัยและคุณลักษณะอันพึงประสงค์ ซึ่งแค่อ่านชื่อยังสำลักในความดี โดยสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้สามารถทำได้ผ่านวิชาโฮมรูม หรือสอดแทรกไปในวิชาสังคมศึกษาหน้าที่ พลเมือง สุขศึกษา แนะแนว โดยไม่จำเป็นต้องแยกโครงการเพื่อถลุงบประมาณ นอกจากนี้ยังมีโครงการเกี่ยวกับ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เช่น โครงการบริหารจัดการการศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โครงการพัฒนาศึกษาตามศักยภาพในพื้นที่ โครงการพัฒนาสังคมพหุวัฒนธรรม ซึ่งโครงการเหล่านี้ล้วนมีกองทัพหรือ กอ.รมน.ดำเนินการอยู่แล้ว เป็นภารกิจซ้ำซ้อน เป็นงบที่ กอ.รมน.เอามาฝากเลี้ยงไว้หรือไม่

ทั้งยังมีวิกฤตโรงเรียนขนาดเล็ก มีนักเรียนน้อยกว่า 120 คน สพฐ.ระบุว่าในปี 2566 มีอยู่ 14,996 แห่ง จากโรงเรียนทั้งหมด 29,312 แห่ง และยังมีโรงเรียนที่กำลังเล็กอีก 7,000 แห่ง โรงเรียนขนาดเล็กได้งบประมาณน้อยกว่าโรงเรียนขนาดใหญ่ ประสบปัญหาขาดแคลนสื่อการเรียนการสอนที่มีคุณภาพ อาคารสถานที่ขาดการดูแล กระทบกับสวัสดิภาพของเด็กอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งนี้โรงเรียนขนาดเล็กยังมีปัญหาครูไม่ครบชั้น ครูหนึ่งคนต้องสอนหลายวิชา นักเรียนหลายคนต้องเรียนกับทีวี โดยครูเอาใจใส่ไม่ทั่วถึง เพราะครูไม่สามารถสอนแบบเชื่อมจิตได้ กระทรวงศึกษาธิการไม่เคยคิดแก้ไขปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กอย่างจริงจังเหมือนป่วยเป็นโรคร้าย แต่ให้กินแค่ยาพาราปล่อยให้ลุกลาม และตายไปเองตามยถากรรม การควบรวมโรงเรียนไม่เคยประสบความสำเร็จ มีแนวโน้มควบรวมน้อยลงราวกับว่าไม่มีปัญหาด้วย ซึ่งหากควบรวมตามยถากรรม คำนวณแล้วว่าต้องใช้เวลา 91 ปีกว่าจะแก้ไขปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กได้ และต้องถูกประจานผลคะแนน PISA ในเวทีโลกอีก 30 รอบ นายวิโรจน์ เสนอว่าหากรัฐบาลของนายเศรษฐา ทวีสิน ใส่ใจกับการบริหารงบประมาณและแก้ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กจะมีงบที่จัดสรรใหม่ได้ถึง 15,102 ล้านบาทต่อปี ซึ่งสามารถนำไปจัดสรรงบอุดหนุนเฉพาะกิจ 4,000 ล้านบาทต่อปีให้กับ อบจ.ทั่วประเทศให้บริการรถรับส่งนักเรียนภายในจังหวัด เพิ่มงบประมาณให้ กสศ.สนับสนุนให้เด็กยากจนพิเศษและคนที่ตกหล่นทางการศึกษา ซึ่งใช้งบประมาณจัดสรรประมาณ 6,600 ล้านบาทต่อปี และยังเหลือให้จัดสรรอีก 4,502 ล้านบาทต่อปี

ไม่มีคำอธิบาย

ไม่มีคำอธิบาย

“หากยอมจำนนให้กับระบบอำนาจกดขี่ ยอมให้หลักสูตรที่ไม่ได้ปรับปรุงเป็นหลักสูตรล้างสมอง ขโมยเวลาชีวิตสุดท้าย เด็กต้องเติบโตเป็นพลเมืองที่ไม่กล้าคิด ไม่กล้าฝัน ไม่กล้าตั้งคำถามกับผู้มีอำนาจเป็นได้แค่บ่าวไพร่ที่คอยทำงานตามคำสั่ง แก่ตัวและตายจากไปในประเทศที่ต้องสาป ผมขออภิปรายเรื่องวิกฤติทางการศึกษาในสภาฯ เป็นครั้งสุดท้าย ผมวิโรจน์ ลักขณาอดิศรตายไปยังไงก็เป็นเถ้าถ่าน ขอไม่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.ประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567“ นายวิโรจน์ กล่าวทิ้งท้าย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด

ฟ้องแพ่ง รอสมาห์ มานซอร์ ภรรยาอดีตนายกฯเรียกคืนเงินกว่าหมื่นล้าน
อิสราเอลรวมพลมากพอบุกราฟาห์เต็มพิกัด
นาทีระเบิดซากสะพานบัลติมอร์ ปลดปล่อยเรือสินค้า (คลิป)
"ดร.อานนท์" ฝาก 7 ข้อคิด หลัง "บุ้ง ทะลุวัง" เสียชีวิต เตือนสติอย่าโหนศพ หวังผลการเมือง
"ศุภมาส" ปลื้มยอดเข้าสอบ TCAS รอบแอดมิชชันฟรี พุ่งกว่า 1.3 แสน ตอบโจทย์รัฐกระจายเท่าเทียมการศึกษา "พยาบาลศาสตร์" เลือกสมัครมากสุด
วพส. รุ่น 2 เปิดรับสมัครแล้ว ระดมวิทยากรระดับประเทศ มุ่งพัฒนาศักยภาพผู้บริหารองค์กร สร้างผู้นำระดับตำนาน
"แอมเนสตี้" โหน "บุ้ง ทะลุวัง" จี้ไทยคืนสิทธิประกันตัว 3 นิ้ว
เจ้าของแมวน้ำตาตกถูกทอมใจเหี้ยมโยนแมวอันเป็นที่รักจากคอนโดชั้น21 ลงสู่พื้นวิญญาณออกจากร่าง
รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ แถลงผลการจับกุมคนร้ายร่วมกันก่อเหตุยิงดาบตำรวจ
หนุ่มหัวร้อนทะเลาะกิ๊ก แต่ดันแทงพลเมืองดีห้ามเหตุการณ์ หลบหนีคดี 10 ปี สอบสวนกลางจับ

ดู LIVE รายการ

X

เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น