เครื่องบินโดยสาร C919 ที่จีนผลิตเองในประเทศ ลงจอดที่สนามบินนานาชาติฮ่องกง เมื่อวันอังคารที่ 12 ธันวาคม ถือเป็นเที่ยวบินแรกนอกแผ่นดินใหญ่ โดยเดินทางมาพร้อมกับ ARJ21 เครื่องบินเจ็ตที่บินระดับภูมิภาคและลำเล็กกว่า
ในวันพุธ มีการเชิญแขกและผู้สื่อข่าวได้เข้าชมเป็นครั้งแรก อีกสองวันต่อมาคือวันพฤหัสบดีกับวันศุกร์ เป็นเวลาเข้าชมของตัวแทนหลายภาคส่วนในฮ่องกง
การลงจอดนอกแผ่นดินใหญ่ครั้งแรกมีขึ้น 7 เดือน หลังจากC919 ที่พัฒนาโดย บรรษัทอากาศยานพาณิชย์จีน หรือ โคแมก ( Commercial Aircraft Corporation of China) ซึ่งเป็นบริษัทของรัฐ เริ่มเที่ยวบินพาณิชย์ครั้งแรกเมื่อเดือนพฤษภาคม หลังจากที่จีนทุ่มลงทุนและพัฒนามานาน 16 ปี ตามที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง มีแผนลดการพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศ ในอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์อย่างการบิน ผู้นำจีน เคยกล่าวครั้งหนึ่งว่า จีนจะไม่ใช่ชาติอำนาจอย่างแท้จริง จนกว่าจะพัฒนาเครื่องบินโดยสารของตัวเอง กระนั้น การผลิต C919 ซึ่งจุผู้โดยสารได้สูงสุด 168 คน ใช้อะไหล่ชิ้นส่วนหลายอย่างจากต่างประเทศ
จีนหวังว่าเครื่องบินพาณิชย์รุ่นนี้ จะแทรกตัวท้าทายเครื่องบินเจ้าตลาดตะวันตกอย่าง โบอิ้ง 737แม็กซ์ และ แอร์บัส A320 ได้
จอห์น ลี ผู้ว่าฮ่องกง กล่าวในพิธีที่สนามบิน ชื่นชมการพัฒนาเครื่องบิน C919 และ ARJ21 ว่าเป็นหมุดหมายสำคัญในภาคการบินของจีน การประสบความสำเร็จในการพัฒนาเครื่องบินโดยสารลำใหญ่ เป็นสัญลักษณ์ของสถานะผู้นำในอุตสาหกรรมการผลิตด้านการคมนาคม
ในประเทศ มีผู้โดยสารกว่า 6 หมื่นคนแล้วที่เดินทางด้วยเครื่องบิน C919 สองลำ ระหว่างเซี่ยงไฮ้กับเฉิงตู
ในเช้าวันเสาร์ที่จะถึง หากสภาพอากาศเป็นใจ C919 จะทำการบินเหนือวิคตอเรีย ฮาร์เบอร์ สองรอบ ก่อนออกเดินทางไปเซี่ยงไฮ้ในวันที่ 17
ไชน่า อีสเทิร์น แอร์ไลนส์ สั่งซื้อเครื่องบินรุ่นนี้แล้ว 100 ลำ มูลค่า 1 หมื่นล้านดอลลาร์ เป็นดีลใหญ่สุดของเครื่องบิน C919 มีกำหนดส่งมอบตั้งแต่ปีหน้าจนถึงปี ค.ศ. 2031 สำนักข่าวรอยเตอร์ส รายงานว่า แกลลอปแอร์ สายการบินใหม่ในบรูไน มีแผนจะซื้อเครื่องบินโดยสารเมดอินไชน่า 30 ลำ มูลค่า 2 พันล้านดอลลาร์