เส้นทางการเมืองของ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคก้าวไกลดูเหมือนจะตีบตันเข้ามาถูกขณะหลังคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีมติรับคำร้อง 7 ต่อ 2 ที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขอให้วินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 ว่า สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6) ประกอบมาตรา 98 (3) พร้อมคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่โดยมีผลทันทีตั้งแต่วันที่ 19 กรกฎาคมที่ผ่านมา ซึ่งจากนี้ไปคงค้องมารอดูกันว่า ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยออกมาอย่างไร
หากนำความผิดกรณีการถือหุ้นไอทีวีของนายพิธาที่ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องไว้เพื่อวินิจฉัยมาเทียบเคียงกับคดีของนายธาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ กรณีถือครองหุ้นในบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด เชื่อว่าเส้นทางของนายพิธาคงไม่แตกต่างไปจากนายธนาธรอย่างแน่นอน คือ จบเห่
สำหรับกรณีการถือหุ้นสื่อของนายธนาธรเมื่อปี 2562นั้น ศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 7 ต่อ 2 วินิจฉัยให้สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของธนาธรสิ้นสุดลงจากกรณีถือหุ้นสื่อ ในบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ซึ่งประกอบกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใดอันเป็นลักษณะต้องห้าม ตามมาตรา 98 (3) มิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ทำให้สมาชิกภาพ ส.ส. สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (6)
ในครั้งนั้นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า เมื่อไม่พบว่า บริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ซึ่งทำนิตยสาร มีการจดแจ้งยกเลิกการพิมพ์ ดังนั้นจะอ้างว่า ปิดกิจการและเลิกจ้าง/แจ้งหยุดกิจการชั่วคราวไปแล้วไม่ได้ เพราะ วี-ลัค มีเดีย จะกลับมาทำอีกเมื่อไรก็ได้ จึงเท่ากับว่า วี-ลัค มีเดีย ทำสื่อมวลชนในวันที่ธนาธรสมัครเลือกตั้ง
ดังนั้นหากนำคดีของนายธนาธรมาเทียบเคียงกับคำร้องที่นายพิธากำลังเผชิญกรณีถือหุ้นไอทีวีเชื่อว่า ชะตากรรมของนายพิธาคงไม่แตกต่างกับนายธนาธรอย่างแน่นอน เนื่องจากมีพฤติกรรมในการกระทำความผิดไม่แตกต่างกัน และที่สำคัญยังเป็นการวินิจฉัยในบทบัญญัติกฎหมายเดียวกัน
ขณะเดียวกันนายพิธา ต้องเจอวิบากกรรมที่ตามเป็นระลอกกรณีกกต.รับเรื่องพิจารณา และตั้งกรรมการไต่สวนตาม พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. มาตรา 151 ที่ระบุว่า “ผู้ใดรู้อยู่แล้วว่า ตนไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง เนื่องจากขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ได้สมัครรับเลือกตั้งหรือทำหนังสือยินยอม ให้พรรคการเมืองเสนอรายชื่อ เพื่อสมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี และปรับตั้งแต่ 20,000-200,000 บาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกำหนด 20 ปี
ความผิดตั้งตามามาตรา 151 คือ เปิดโอกาสให้กกต. ดำเนินคดีอาญาหากพบว่า นายพิธา สมัคร ส.ส. โดยขาดคุณสมบัติ ซึ่งเป็นการดำเนินคดีผ่านตำรวจ อัยการ และไปศาลอาญาไม่ต้องพึ่งศาลรัฐธรรมนูญ
สำหรับปมร้อนดังกล่าวขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการสอบสวนของ กกต. และหากนำมาเปรียบเทียบกับคดีนายธนาธร ที่กกต.เคยยื่นฟ้องดำเนินคดีอาญาตามาตรา 151 เมื่อปี 65 ซึ่งในครั้งนั้นปรากฎว่า อัยการไม่ได้สั่งฟ้องนายธนาธร โดยนายธรัมพ์ ชาลีจันทร์ โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุดในขณะนั้นชี้แจงว่า สาเหตุพนักงานอัยการมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องนายธนาธร เนื่องจากในคดีอาญาจำต้องพิจารณาจากพยานหลักฐานทั้งปวงว่า ผู้ต้องหากระทำความผิดตามข้อกล่าวหาจริงหรือไม่
ทั้งนี้ คดีดังกล่าวข้อเท็จจริงปรากฏว่า นายธนาธรได้โอนหุ้นให้แก่นางสมพร จึงรุ่งเรืองกิจ มารดา และเป็นกรรมการผู้มีอำนาจจัดการแทน บริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ไปเมื่อวันที่ 8 มกราคม 2562 โดยมีบุคคล 3 คน เป็นพยานบุคคล และมีเอกสารมาสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นการโอนหุ้นตามข้อบังคับของบริษัท และประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1129 กล่าวคือ ต้องทำหลักฐานการโอนหุ้นเป็นหนังสือ และลงลายมือชื่อผู้โอนและผู้รับโอน และมีการจดแจ้งการโอนลงในทะเบียนผู้ถือหุ้นแล้ว ซึ่งตามกฎหมายให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นพยานหลักฐานอันถูกต้อง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1141