"ภาวะแทรกซ้อน ยาสลบ" มีอะไรบ้าง เกิดขึ้นได้มากน้อยแค่ไหน พร้อมข้อควรปฏิบัติก่อนและหลังได้รับยาสลบ ต้องทำยังไง ไขข้อข้องใจได้ที่นี่
ข่าวที่น่าสนใจ
การระงับความรู้สึกแบบทั่วไป คือ การให้ยาระงับความรู้สึกทั่วร่างกาย ทำให้ผู้ป่วยหลับ ปราศจากความกลัวและความวิตกกังวลไม่สามารถจำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในระหว่างการผ่าตัดได้ ด้วยการให้ยาระงับความรู้สึกทางหลอดเลือดดำและมีการสูดยาดมสลบเข้าทางระบบทางเดินหายใจร่วมด้วย
ภาวะแทรกซ้อนที่อาจจะเกิดขึ้นได้
- การระงับความรู้สึกแบบทั่วไป มีโอกาสเกิดความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนได้เสมอ การให้ยาแม้เป็นขนาดที่แนะนำ ก็อาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนได้ การเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดของทีมวิสัญญี จะป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับผู้ป่วยได้ ภาวะแทรกซ้อนอันตรายหรือผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นมี 2 ประเภท คือ ความรุนแรงเล็กน้อยและรุนแรงมาก
ภาวะแทรกซ้อนที่มีความรุนแรงเล็กน้อย อาจเกิดขึ้นบ่อย แต่ไม่เป็นอันตราย ได้แก่
- คลื่นไส้ อาเจียน วิงเวียนศีรษะ
- เจ็บคอ เสียงแหบ
- ฟันโยก ฟันบิ่น ฟันหัก
- ปัสสาวะลำบาก
- สับสน สะลึมสะลือ หรือมีอาการหลงลืมได้ในระยะแรก
- ปวดหลัง ปวดเมื่อยตามตัวและกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย
- เจ็บปวดแผลผ่าตัดมากกว่าปกติ
ภาวะแทรกซ้อนรุนแรง
- เสียชีวิตจากการระงับความรู้สึก เส้นโลหิตในสมองแตก การหายใจล้มเหลว หัวใจล้มเหลว อัมพาตหรือแขนขาอ่อนแรง โรคภูมิแพ้ชนิดรุนแรง (Anaphylaxis) พบน้อยมาก ทั้งนี้ขึ้นกับสุขภาพและความแข็งแรงของผู้ป่วย ความรุนแรงของโรค และชนิดของการผ่าตัด การเตรียมผู้ป่วยก่อนการผ่าตัด กล่าวคือถ้ามีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ เบาหวาน และโรคความดันโลหิตสูง ก็มีโอกาสที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนมากกว่าผู้ที่มีร่างกายแข็งแรง
คำแนะนำการปฏิบัติตน ก่อน การได้รับยาระงับความรู้สึกแบบทั่วไป
- งดน้ำ นม เครื่องดื่ม และอาหารทุกชนิด หลัง 24.00 น. หรืออย่างน้อย 8 ชั่วโมง เพื่อป้องกันอันตรายจากการอาเจียนและสำลักเศษอาหารเข้าหลอดลม/ปอด
- ท่านต้องแจ้งประวัติโรคประจำตัว ยาที่รับประทานประจำ เช่น ยาต้านการแข็งตัวของเลือด ยาเบาหวาน ยารักษาโรคความดันโลหิตสูง เป็นต้น รวมถึงวิตามินอาหารเสริม และยาสมุนไพรต่าง ๆ ให้แพทย์ทราบ และนำยามาในวันผ่าตัด ซึ่งยาบางชนิดต้องรับประทานในเช้าวันผ่าตัดกับน้ำปริมาณเล็กน้อย และยาบางชนิดต้องงด
- แจ้งการแพ้ยา อาหารหรือสารทุกชนิด การผ่าตัดในอดีต และปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ประวัติเหล่านี้มีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับใช้ในการวางแผนและให้การรักษา
- ควรงดสูบบุหรี่อย่างน้อย 2 สัปดาห์ก่อนผ่าตัด เพื่อลดเสมหะและลดการไอ ซึ่งจะนำไปสู่การเกิดภาวะแทรกซ้อนของระบบหายใจ
- ควรล้างสีเล็บ และควรตัดเล็บมือให้สั้น เพื่อจะวัดค่าออกซิเจนทางปลายนิ้ว และสังเกตความเปลี่ยนแปลงจากการขาดออกซิเจน
- ในกรณีที่มารับการผ่าตัดบางชนิด ซึ่งไม่ต้องนอนพักค้างคืนในโรงพยาบาล ต้องมีญาติมาด้วย เพื่อช่วยเหลือในการติดต่อกับเจ้าหน้าที่ เป็นผู้ดูแลระหว่างเดินทางกลับบ้าน และสามารถดูแลท่านได้อย่างน้อย 24 ชั่วโมง
- หากตั้งครรภ์ หรือสงสัยว่าตั้งครรภ์ จะต้องแจ้งให้ทีมวิสัญญีทราบ เพราะยาสามารถผ่านรกและอาจเกิดผลเสียต่อทารกได้ ถ้าเป็นการผ่าตัดที่ไม่รีบด่วน ควรจะทำหลังจากคลอดบุตร
- ถอดฟันปลอมที่ถอดได้/คอนแทคเลนส์/เครื่องประดับทุกชนิด ฝากเก็บไว้กับญาติ ก่อนไปห้องผ่าตัด ถ้ามีฟันโยกควรแจ้งให้ทีมวิสัญญีทราบ
- กรณีเจ็บป่วยที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินหายใจ เช่น มีไข้ ไอ เจ็บคอ มีเสมหะ หรือมีน้ำมูก ต้องแจ้งทีมวิสัญญีให้ทราบโดยละเอียด ทั้งนี้ผู้ป่วยต้องหายจากอาการดังกล่าว อย่างน้อย 2 สัปดาห์ จึงจะสามารถให้ยาระงับความรู้สึกโดยมีความเสี่ยงน้อยที่สุด
การปฏิบัติตัว หลัง การได้รับยาระงับความรู้สึกแบบทั่วไป
- ฝึกการหายใจ โดยให้ผู้ป่วยหายใจเข้าเต็มที่ช้า ๆ และหายใจออกยาวๆ ทันทีที่รู้สึกตัวดีใน 1 – 2 ชั่วโมง โดยให้ผู้ป่วยอยู่ในท่านั่งหรือศีรษะสูง เพื่อการขยายของทรวงอกได้เต็มที่ จากนั้นสูดหายใจเข้าลึกๆ ทางจมูก แล้วค่อยๆผ่อนออกทางปาก ทำเช่นนี้ประมาณ 5 – 10 ครั้ง ทุกชั่วโมงหลังผ่าตัด จะช่วยให้ปอดขยายตัวและลดภาวะแทรกซ้อนของระบบหายใจ เช่น ภาวะปอดแฟบหลังผ่าตัด หากมีอาการหายใจหอบเหนื่อยให้แจ้งแพทย์ทันที
- หากมีอาการเจ็บคอ ให้จิบน้ำในปริมาณเล็กน้อย บ่อยครั้ง อาการจะดีขึ้นใน 1 – 3 วัน หากอาการไม่ดีขึ้นหรือมีเสียงแหบ ให้แจ้งแพทย์ทันที
- ขี้ผึ้งที่ใช้ป้ายตาจะหมดไปได้เอง หลังจากที่ล้างทำความสะอาดใบหน้า หากมีอาการตามัวลง มองไม่ชัดเท่าเดิม ให้แจ้งแพทย์ทันที
การปฏิบัติตัว หลัง การได้รับยาระงับความรู้สึกแบบทั่วไป (กรณีไม่ได้นอนพักรักษาตัวที่โรงพยาบาล)
- ให้กลับบ้านพร้อมญาติและพักผ่อนภายหลังจากการผ่าตัด
- ไม่ควรทำกิจกรรมต่าง ๆ ภายหลังการผ่าตัด และควรอยู่ภายใต้การดูแลของญาติอย่างใกล้ชิดจนกระทั่งหายจากอาการมึนงง ประมาณ 24 ชั่วโม
- อาการมึนงง อาจเกิดขึ้นภายหลังจากการได้รับยาระงับความรู้สึกแบบทั่วไป
- ให้นอนราบสักครู่
- ให้ดื่มน้ำหวานเล็กน้อย
- ไม่ควรรับประทานอาหารหลักทันที หากรู้สึกหิวให้รับประทานอาหารอ่อน เช่น โจ๊ก ข้าวต้ม เป็นต้น
- ไม่ขับยานพาหนะ ภายใน 24 ชั่วโมงแรก
- ไม่ใช้ของมีคมหรือเครื่องจักรกล ภายใน 24 ชั่วโมงแรก
- ไม่ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ภายใน 24 ชั่วโมงแรก
- ไม่ทำธุรกรรมหรือสัญญาข้อตกลงใด ๆ ภายใน 24 ชั่วโมง
- หากมีอาการผิดปกติ ให้กลับมาพบแพทย์ก่อนวันนัดหมาย
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยามหิดล
ข่าวที่เกี่ยวข้อง