วันที่ 8 มิ.ย.66 นายประพันธ์ คูณมี สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) และทนายความชื่อดังให้สัมภาษณ์กับ Top News ถึงกรณีหุ้น ITV ของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ว่า เรื่องคุณสมบัติของผู้จะมาเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทุกคนที่เป็นนักการเมืองและพรรคการเมืองที่จะมาเข้าสู่สนามการเลือกตั้ง เป็นสิ่งที่ต้องรู้จะปฏิเสธไม่รู้ไม่ได้ตามหลักกฎหมายทั่วไปมีอยู่แล้ว ทั้งกฎหมายรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องและพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและพระราชบัญญัติพรรคการเมืองล้วนเป็นเรื่องที่คนจะมาเป็นนักการเมืองลงสมัครส.ส.จำต้องศึกษาและรับรู้ ยิ่งในฐานะความเป็นหัวหน้าพรรคการเมืองแล้ว ยิ่งปฏิเสธไม่ได้ ว่าไม่รู้กฎหมายเรื่องนี้
และที่สำคัญกฎหมายข้อนี้บัญญัติไว้ตั้งแต่ปี 2560 ตามมาตรา 98 (3) ซึ่งบุคคลนั้นต้องรู้ว่ามีสิ่งเหล่านี้อยู่กับตัวหรือไม่ ถ้ารู้แล้วต้องโอนออกไป หรือสละการเป็นผู้ถือหุ้นนี้เสียก่อนที่จะมารับสมัครเลือกตั้ง เพราะยังมีพรป.ว่าด้วยการสมัครส.ส. มาตรา 151 ยังบัญญัติรองรับหลักการของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไว้อีกด้วยว่าถ้าผู้ใดรู้อยู่แล้วว่าตนเองไม่มีสิทธิ์แล้วไปสมัครทั้งที่รู้ว่าขาดคุณสมบัติ มีโทษทางอาญาว่าทำให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ ทำให้การเลือกตั้งไม่สามารถได้ส.ส. เมื่อเลือกมาก็ต้องถูกเพิกถอนถูกร้องเรื่องการขาดคุณสมบัติ ทำให้ต้องจัดการเลือกตั้งใหม่
ทำให้รัฐเสียงบประมาณในการบริหารจัดการเลือกตั้งเพราะฉะนั้นการที่รู้อยู่แล้วและจงใจสมัครมีโทษอาญาจำคุกตั้งแต่ 1- 10 ปี และมีโทษปรับ 20,000 – 200,000 บาทและลงโทษหนัก ให้ศาลเพิกถอนสิทธิ์การเลือกตั้ง 20 ปี เรื่องนี้เป็นโทษร้ายแรง รวมถึงเงินเดือน เงินประจำตำแหน่งที่ได้เคยรับมาตั้งแต่เป็นส.ส.ปี 2562 ต้องคืนรัฐ เพราะถือว่าขาดคุณสมบัติมาตั้งแต่ต้น เช่นเดียวกับตนก่อนจะรับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นส.ว.ถ้ามีหุ้นสื่อก็ต้องโอนก่อนให้เรียบร้อย
ขณะที่เพิ่งทราบจากการโพสต์ของนายพิธา ว่ามีการโอนหุ้นITV ออกไปแล้ว เมื่อเดือนพฤษภาคมแต่อ้างว่าจำวันที่ไม่ได้ แต่อย่างไรก็ตามแม้จะภายในเดือนพฤษภาคม แต่ก็ถือว่าโอนหลังจากวันรับสมัครเลือกตั้งมาแล้ว คือเดือนเมษายน ซึ่งการโอนหุ้นนั้นก็ไม่ทราบว่าโอนในฐานะอะไรและโอนในลักษณะใด จะโอนไปในฐานะเจ้าของหุ้นโอนไปให้คนอื่น หรืออ้างว่าโอนไปให้ทายาทในฐานะการเป็นผู้จัดการมรดก เป็นการแบ่งปันทรัพย์มรดกหรือเป็นการสละมรดกไม่รับทรัพย์สินมรดกแล้วโอนไปให้คนอื่น ซึ่งจากที่ได้ฟังกุนซือทางกฎหมายของนายพิธา มั่นใจว่านายพิธาจะรอดคดีหุ้น ITV ถือว่าการถือครองตั้งแต่แรกนั้นไม่ได้เป็นเจ้าของถือครองในฐานะผู้จัดการมรดกและได้สละสิทธิ์ ซึ่งคำว่าสละสิทธิ์ไม่มีอยู่ในประมวลกฎหมายแพ่งเรื่องหมวดของมรดก มีแค่การสละมรดกซึ่งอนุมานความเข้าใจได้ว่า อ้างว่านายพิธาได้สละมรดกไปแล้วโดยไม่ได้เกี่ยวข้องกับมรดกส่วนนี้และโอนไปให้ทายาท ทำให้มีผลเสมือนหนึ่งย้อนหลังไปว่าไม่เคยเป็นเจ้าของหุ้นนั้น คิดว่าจะเอาเหตุผลนี้เป็นข้ออ้างต่อสู้คดีและชี้แจงข้อกล่าวหากับศาลรัฐธรรมนูญและกกต. โดยนายประพันธ์ ระบุว่า เหตุผลนี้ไม่น่าจะฟังขึ้น เพราะนายพิธา ครอบครองหุ้นนี้มาตั้งแต่ปี 2549 ตั้งแต่บิดาเสียชีวิตในลักษณะเป็นเจ้าของ ไม่ได้ระบุสถานะว่าเป็นทายาทหรือผู้จัดการมรดก
ส่วนประการที่ 2 ถ้าจะมีการสละมรดก จะต้องสละมรดกตั้งแต่ยังไม่ได้แบ่งทรัพย์มรดก และการสละมรดกต้องสละทั้งหมดไม่ใช่การสละทรัพย์บางส่วน ที่สำคัญไม่มีผลทางกฎหมายจึงอยากให้นายพิธาเปิดเผยต่อสังคม ว่า มรดกของพ่อมีทรัพย์สินอะไรบ้าง และทำไมยังไม่มีการแบ่งมรดกกับทายาทจริงหรือไม่ หรือมีเฉพาะแค่หุ้น ITV ที่ยังไม่ได้แบ่งซึ่งเป็นไปไม่ได้และการแบ่งทรัพย์มรดก ใครครอบครองอะไรก็ถือว่าเป็นการแบ่งมรดกเป็นสัดส่วนไปแล้ว ซึ่งถือเป็นวิธีแบ่งมรดกอีกวิธีหนึ่ง
ดังนั้นไม่สำคัญเท่ากับว่าการสละมรดกจริง ต้องทำตามกฏหมาย มาตรา 1612 ต้องทำเป็นหลักฐานหนังสือแสดงไว้กับเจ้าหน้าที่พนักงานหรือทำเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ ระหว่างทายาท ปัญหาคือ ผ่านมา 17 ปี ได้ทำแล้วหรือไม่และถ้าไม่ได้ทำจะมาอ้างว่าสละมรดกก็จะเข้ารูปแบบเหมือนนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ คือการทำหลักฐานย้อนหลัง ซึ่งไปทำสัญญาประนีประนอมกันเองย้อนหลัง 17 ปีเพื่อให้มีผลทางกฎหมายก็เป็นการแต่ง “นิตินิยาย” แล้วศาลจะเชื่อตามหรือไม่
จะกลายเป็นว่าต้องเอาหลักฐานและญาติไปยืนยันกับศาลว่ามีการประนีประนอมกัน ถือเป็นเรื่องไม่เป็นเรื่อง กลายเป็นปัญหาสร้างความเดือดร้อนให้กับพี่น้อง แล้วพี่น้องจะยอมมาเบิกความศาลให้หรือไม่ เพราะถือว่ามีความสุ่มเสี่ยงติดคุก ฉะนั้น นายพิธาก็ต้องตรึกตรองให้ดีว่าจะทำตาม ที่มาคนแนะนำหรือไม่ เพราะนอกจากคดีการถือครองหุ้นจะไม่หลุดแล้ว จะกลายเป็นเพิ่มโทษคดีอื่นเข้าไปอีก งานงอกเลยคราวนี้แทนที่จะเป็นการแก้ปัญหาแต่จะสร้างปัญหาเพิ่มอีก จะเข้าข่ายสร้างพยานหลักฐานเท็จด้วย เพราะการสละมรดกเฉพาะหุ้น ITV ไม่ได้ ต้องสละมรดกทั้งหมดให้ตามประมวลกฎหมายแพ่งที่บอกว่าสละอย่างไม่มีเงื่อนไขการจะมาสละตอนนี้ไม่ได้
ทั้งนี้นายประพันธ์ ระบุชัดว่าทิศทางของคดีนี้นายพิธาแนวโน้มจะเดินไปทางเดียวกับนายธนาธร เพราะมีความบ่งชี้ไปทางนั้น ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญตัดสินคดีนายธนาธรเป็นบรรทัดฐานไว้แล้วตามคำวินิจฉัยที่ 14 / 2562 เป็นคดีถือหุ้นสื่อเหมือนกันเป็นการถือหุ้นสื่อโดยตรงที่ยังประกอบธุรกิจสื่ออยู่ แน่นอนว่านายพิธาอาจจะต่อสู้ได้ว่าบริษัท ITV ไม่ได้ประกอบธุรกิจสื่อแล้ว ก็ไปสู้เอาแล้วกันว่าศาลจะเชื่อหรือไม่
เพราะตามรายงานงบดุล งบบัญชีทุกปีที่บริษัทต้องส่งตลาดหลักทรัพย์ มีปรากฏลายลักษณ์อักษรอย่างครบถ้วน และคดีที่บริษัท ITV เป็นคู่ความฟ้องกับสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีหรือ สปน.อยู่นั้นก็เพราะว่า ITV ไม่พอใจที่สปน.มาเพิกถอนใบอนุญาตการประกอบธุรกิจสื่อแล้วยึดคลื่นไปให้ไทยพีบีเอส ซึ่งเกิดขึ้นสมัยที่ตน เป็นสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) อยู่ขณะนั้น รู้อยู่แล้วว่า ITV ต้องการประกอบธุรกิจสื่อต่อ จึงมีการฟ้องร้องต่ออนุญาโตตุลาการให้วินิจฉัยว่าการบอกเลิกสัญญาว่าคำสั่งของสปน. ชอบหรือไม่ชอบ ต่อมาอนุญาโตตุลาการได้ชี้ให้ITV ชนะ และเรียกร้องให้ชดใช้ค่าเสียหายเป็นพันล้าน จนสปน. ต้องร้องศาลปกครองให้เพิกถอนคำสั่งของอนุญาโตตุลาการ แสดงให้เห็นว่า ITV มีเจตนาต้องการดำเนินธุรกิจสื่อต่อไป และที่สำคัญยังไม่ได้เลิกบริษัทตามบริคณห์สนธิก็ระบุชัดอยู่แล้วว่าประกอบธุรกิจอะไร
เพราะฉะนั้นประเด็นที่นายพิธาหยิบยกขึ้นมา อ้างว่ามีการกลั่นแกล้งมีคนพยายามฟื้นคืนชีพITV ให้เป็นสื่อเพื่อสกัดตนเองนั้นเป็นประเด็นไร้สาระไม่ใช่สาระสำคัญทางคดี ถึงจะมีคนถามหรือไม่ถามแต่เอกสารหลักฐานการจดทะเบียนของบริษัทชัดเจนอยู่แล้ว และเป็นการต่อสู้เพื่อจะดำเนินธุรกิจต่อไม่ใช่การฟื้นคืนมาเพื่อเล่นงานนายพิธา ซึ่งไม่เกี่ยวกันเลย
ทั้งนี้ปัญหาคือนายพิธา รู้อยู่แล้วว่าถือหุ้นสื่อและมีปัญหาเพิ่มขึ้นคือนายพิธาจะโดนอีกหนึ่งคดีคือการปกปิดไม่แจ้งรายการบัญชีทรัพย์สินหรือแจ้งบัญชีทรัพย์สินอันเป็นเท็จตั้งแต่การเป็นส.ส.เมื่อปี 2562 แล้ว จากการตรวจสอบในบัญชีทรัพย์สินเมื่อตอนเป็นส.ส.ของนายพิธานั้น ไม่พบการแจ้งว่ามีหุ้น ITV อยู่ด้วย