Home Isolation …รักษาโควิดที่บ้าน กับกทม.

กดติดตาม TOP NEWS

ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19  ที่ส่งผลกระทบทั่วโลก กรุงเทพมหานคร (กทม.)  ถือเป็นอีกเมืองใหญ่ ที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อระดับสูง เฉลี่ยต่อวันกว่า 3 พันคน การตัดสินใจในทุกสถานการณ์บีบคั้น ถือเป็นสิ่งสำคัญ ที่จะทำให้ทุกวิกฤตการณ์ผ่านพ้นไปได้

ที่ผ่านมา กรุงเทพมหานคร (กทม.) นำโดย พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และคณะผู้บริหาร ตลอดจนบุคลากรทางแพทย์ มีมาตรการต่างๆ เพื่อการดูแล ระงับ ยับยั้ง การแพร่กระจายเชื้อไวรัสโควิด-19  และควบคุมสถานการณ์ ไม่ให้จำนวนผู้ติดเชื้อ ผู้ป่วย  และผู้เสียชีวิต  มีอัตราสูงจนเกิดภาวะวิกฤต อาทิ การจัดสถานพยาบาลดูแลในหลายระดับ และการเร่งฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่

 

ปัจจุบัน เนื่องจากไวรัสโควิด-19 มีการกลายพันธุ์ กทม.จึงยกระดับมาตรการจำกัดการแพร่กระจายเชื้อไวรัสโควิด -19   ผ่านการเร่งดำเนินการค้นหาเชิกรุก  เพื่อคัดกรองผู้ติดเชื้อ  และแยกกักตัวออกจากผู้อื่น    เพื่อให้การควบคุมการแพร่ระบาดมีประสิทธิภาพมากขึ้น  โดยได้ดำเนินการนำผู้ป่วยโควิด-19 ซึ่งอยู่ในกลุ่มสีเขียวเข้าระบบการรักษา โดยการแยกกักตัวที่บ้าน (Home Isolation : HI )  ซึ่งมีการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบ  และขอความร่วมมือจากชุมชน รวมถึงประชาชนในการปฏิบัติตนให้ห่างไกลจากโรคโควิด-19

 

 

 

สำหรับการดำเนินงานด้าน  Home Isolation หรือ HI  ผู้ป่วยโควิด-19  สามารถติดต่อสายด่วน สปสช. 1330 ซึ่งเป็นหมายเลขกลาง และขณะนี้ กทม. ได้เปิดให้บริการสายด่วนโควิด 50 เขตเพิ่มเติมเขตละ 20 คู่สาย ซึ่งประชาชนสามารถติดต่อได้ทั้งสองช่องทาง

นอกจากนี้ ยังสามารถติดต่อโดยการสแกนผ่าน QR code จากนั้น จะมีการลงบันทึกข้อมูลผ่านทางเว็บไซต์ ของสปสช. ระบบจะจับคู่หน่วยบริการอัตโนมัติ และส่งไปให้กับศูนย์บริการสาธารณสุข หรือคลินิกอบอุ่นที่อยู่ใกล้บ้านของผู้ป่วย ซึ่งศูนย์บริการสาธารณสุขจะดำเนินการตอบรับผู้ป่วยภายใน 24 ชั่วโมง โดยมีการประเมินว่าเป็นสีเขียว สีเหลือง หรือสีแดง

 

 

อย่างไรก็ตาม หากผู้ป่วยไม่สามารถแยกกักตัวที่บ้านได้ จะมีการจะส่งต่อไปยังศูนย์พักคอย(Community Isolation : CI)  หรือหากประเมินแล้วเป็นสีเหลือง หรือสีแดง ก็จะทำการหาเตียงที่ว่างเพื่อส่งต่อผู้ป่วย ต่อไป

 

 

ทั้งนี้ กทม. ร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่าย พัฒนาโปรแกรม BKK HI/CI care ซึ่งสามารถใช้งานผ่านสมาร์ทโฟน โดยแพทย์สามารถติดต่อกับคนไข้ผ่านทาง LINE OA เพื่อสอบถามอาการป่วยในแต่ละวัน  ด้านการจัดส่งอาหารให้กับผู้ป่วย ได้รับความร่วมมือจากสมาคมภัตตาคารไทย รวมถึงทางเดลิเวอร์รี่ Skootar ในการส่งอาหาร โดยมีการจำแนกประเภท เช่น อาหารฮาลาลสำหรับชาวมุสลิม อาหารมังสวิรัติ อาหารสำหรับพระภิกษุสงฆ์ ซึ่งจะมีการปรับให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย เริ่มดำเนินการตั้งแต่ 26 ก.ค.ที่ผ่านมา ครอบคลุมทั้ง 50 เขต  รวมถึงการจัดส่งยาหรืออุปกรณ์แรกรับ

 

สำหรับผู้ที่ไม่ได้ใช้สมาร์ทโฟนจะมีเอกสารคำแนะนำส่งไปให้ถึงบ้าน เช่น วิธีการวัดไข้ วัดออกซิเจน รวมถึงเอกสารเพื่อบันทึกอาการในแต่ละวัน นอกจากนี้ ยังมีอาสาสมัครสาธารณสุข ตำรวจนครบาล จิตอาสาพระราชทาน ส่งยาให้ผู้ป่วย รวมจำนวนหน่วยบริการทั้งหมดในกทม. ได้ประมาณ 238 แห่ง รองรับผู้ป่วยประมาณ 80,000 – 100,000 คน

 

 

 

 

สำหรับผลการปฏิบัติงานในการนำผู้ป่วยเข้าระบบการรักษา โดยการแยกกักตัวที่บ้าน(Home Isolation : HI)  ตั้งแต่เริ่มโครงการจนถึงปัจจุบัน กทม.ได้ให้การดูแลผู้ป่วยแยกกักตัวที่บ้าน(HI) แล้ว จำนวน  2,609 ราย พร้อมดำเนินการมอบชุดกักตัว HI ยาฟ้าทะลายโจร ยาลดไข้ ยาแก้ไอ ยาละลายเสมหะ และยา Favipiravir ภายใต้ดุลยพินิจของทีมแพทย์

 

นอกจากนี้ กรุงเทพมหานคร ได้เปิดศูนย์พักคอยฯ ควบคู่ไปกับ Home Isolation  เพื่อแยกผู้ติดเชื้อโควิค-19 ที่มีอาการไม่มาก หรือไม่แสดงอาการ ซึ่งประเมินแล้วว่าไม่สามารถกักตัวที่บ้านได้ ให้มาพักในศูนย์แห่งนี้ เพื่อรอการนำส่งต่อไปรักษาที่โรงพยาบาลกรณีที่มีอาการรุนแรงขึ้น โดย ปัจจุบัน กทม. จัดตั้งศูนย์พักคอยฯ แล้วมากกว่า 65 แห่ง อยู่ในพื้นที่เขต 50 เขต เปิดบริการแล้ว จำนวนกว่า 50 แห่ง สามารถรองรับผู้ป่วย ได้มากกว่า  8,500 เตียง

 

ขณะที่ในแต่ละวัน กทม. ได้กระจายทีมปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาโควิด-19 เชิงรุก Bangkok Comprehensive Covid-19 Response Team (Bangkok CCRT)  ลงพื้นที่หมุนเวียนไปตามชุมชนต่าง ๆ ทั้ง 50 เขต ระหว่างวันที่ 15 ก.ค. ที่ผ่านมา จนถึง 20 ส.ค.นี้  เพื่อทำหน้าที่ อาทิ ค้นหากลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรค หญิงตั้งครรภ์   ให้บริการตรวจคัดกรองผู้ติดเชื้อด้วยชุดตรวจ Antigen Test Kit รวมถึงให้บริการฉีดวัคซีนกับกลุ่มเสี่ยง เป็นต้น

 

กรุงเทพมหานคร โดย พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร  ได้ตระหนักถึงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่พบผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น และมองว่าการนำผู้ป่วยเข้ารับรักษาให้เร็วที่สุดเป็นเรื่องที่จำเป็นเร่งด่วน เพื่อรักษาชีวิตของทุกคน ๆ และเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคให้ได้เร็วที่สุด

 

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

-

แท็กที่เกี่ยวข้อง

ดู LIVE รายการ

เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น