เปิดวาร์ป เลขาฯ ปปง. คนใหม่ ‘เทพสุ’ จากลูกหม้อผงาดสู่ผู้นำ ปปง.

เปิดวาร์ป เลขาฯ ปปง. คนใหม่ ‘เทพสุ’ จากลูกหม้อผงาดสู่ผู้นำ ปปง.

หลังจากที่ประชุมวุฒิสภา เมื่อวานนี้ โดยมีนายศุภชัย สมเจริญ รองประธานวุฒิสภาคนที่ 2 เป็นประธานการประชุม พิจารณาผู้ได้รับการเสนอชื่อให้นายเทพสุ บวรโชติดารา ดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ตามมาตรา 42 แห่ง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2558 โดยเป็นการพิจารณาลับ และลงมติลับ

ก่อนที่ผลการออกเสียงลงคะแนนจะมีมติเป็นเอกฉันท์เห็นชอบให้ นายเทพสุ บวรโชติดารา ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ ปปง. ด้วยคะแนนเสียง 124 คะแนน ก่อนที่จะนำความกราบบังคมทูลฯ พระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม แต่งตั้งนายเทพสุ ให้ดำรงตำแหน่งเลขาฯ ปปง. ซึ่งในวันนี้ (14 ก.พ.) ทางทีมข่าวท็อปนิวส์ จะพาคุณผู้ชมไปทำความรู้จักความเป็นมาขององค์กรแห่งนี้ รวมถึงผู้นำองค์กรคนแรกที่มาจากข้าราชการพลเรือน

สำหรับสำนักงาน ปปง. นั้น เป็นหน่วยงานอิสระของรัฐ ที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 โดยมีเลขาธิการ ปปง. เป็นข้าราชการพลเรือนสามัญ โดยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งขึ้นตามคำแนะนำของคณะรัฐมนตรี และได้รับความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา ต่อมาภายหลัง รัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2557 ได้มีการเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการตามกฎหมายพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2558 โดยไม่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นรองประธานกรรมการ

ส่วนบทบาทหน้าที่ของสำนักงาน ปปง. นั้น มีอำนาจหน้าที่ในการวางหลักเกณฑ์ และดูแลให้มีการปฏิบัติตามกฎหมาย ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน รวมทั้งเป็นหน่วยงานตรวจสอบวิเคราะห์ข้อมูลทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับการฟอกเงิน ในหน้าที่ของหน่วยงานวางหลักเกณฑ์ (Regulator) ซึ่งมีบทบาทในการศึกษาหามาตรการในการป้องกัน และปราบปรามการฟอกเงิน โดยมีฐานะเป็นฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (คณะกรรมการ ปปง.) ส่วนในฐานะของหน่วยงานผู้บังคับใช้กฎหมาย (Law Enforcement) สำนักงาน ปปง. มีอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบ และดำเนินการเกี่ยวกับธุรกรรม หรือทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดฟอกเงิน ตามมติของคณะกรรมการธุรกรรม ตลอดจนดูแลให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินดังกล่าว

ข่าวที่น่าสนใจ

ตลอดระยะเวลา 24 ปีที่ผ่านมา สำนักงาน ปปง. มีเลขาธิการมาแล้ว 7 ท่าน ประกอบด้วย พลตำรวจโท วาสนา เพิ่มลาภ / พลตำรวจตรี พีรพันธุ์ เปรมภูติ / พันตำรวจเอก ยุทธบูล ดิสสะมาน / พันตำรวจเอก สีหนาท ประยูรรัตน์ / พลตำรวจเอก ชัยยะ ศิริอำพันธ์กุล / พลตำรวจตรี รมย์สิทธิ์ วีริยาสรร / และพลตำรวจตรี ปิยะพันธ์ ปิงเมือง

โดยส่วนใหญ่จะเป็นข้าราชการตำรวจโอนย้ายเข้ามารับตำแหน่ง และด้วยเหตุนี้ จึงทำให้ภาพลักษณ์ของสำนักงาน ปปง. ถูกบริหารจากหัวหน้างานที่มาจากหน่วยงานอื่น การที่จะมีความรู้ความเข้าใจในองค์กรอย่างลึกซึ้งเหมือนลูกหม้อข้าราชการที่เติบโตมากับองค์กรก็คงลำบาก

เมื่อพล.ต.ต.ปิยะพันธ์ ปิงเมือง ครบวาระจากเลขาธิการ ปปง. จึงได้เป็นคณะกรรมการปปง. และถูกคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการ ปปง. ในเวลาต่อมา  ส่วนในตำแหน่งเลขาธิการนั้น ที่ประชุมคณะกรรมการได้คัดเลือก นายเทพสุ บวรโชติดารา จากรองเลขาธิการ เป็นเลขาธิการ ก็เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อรับรองและส่งให้ที่ประชุมวุฒิสภาจนที่สุดก็ได้มีผลรับรองอย่างเป็นทางการ

สำหรับประวัติของนายเทพสุ บวรโชติดารา นั้น โปรไฟล์ไม่เบาเลย เพราะจบการศึกษาปริญญาตรี นิติศาสตรบัณฑิต และปริญญาโท นิติศาสตรมหาบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง อีกทั้งยังได้รับประกาศนียบัตรเนติบัณฑิต จากสำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา และประกาศนียบัตรวิชาว่าความ จากสำนักฝึกอบรมวิชาว่าความแห่งสภาทนายความ // ส่วนในเรื่องของการทำงานนั้น นายเทพสุ เคยตำแหน่งนิติกร ประจำกองกรรมาธิการ สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ก่อนที่จะมาดำรงตำแหน่ง “นักสืบสวนสอบสวน” สำนักตรวจสอบและคดี และสำนักบริหารจัดการทรัพย์สิน สำนักงาน ปปง.

ด้วยผลงานรางวัล “ข้าราชการพลเรือนดีเด่น” ประจำปี53 และปี55 จึงทำให้ได้เลื่อนตำแหน่งเป็น ผอ.ส่วนงานคณะกรรมการธุรกรรม กองกฎหมาย / ผอ.การกองคดี3 / ผอ.กองข่าวกรองทางการเงิน สำนักงาน ปปง. / ผู้ช่วยเลขาธิการ ปปง. / และรองเลขาธิการ ปปง. ตามลำดับ จึงถือว่า นายเทพสุ เป็นลูกหม้อของสำนักงาน ปปง. ที่เติบโตมาในองค์กรแห่งนี้ ที่ไม่ได้ย้ายมาจากตำรวจ และเป็นข้าราชการพลเรือนคนแรกที่เข้ามารับตำแหน่งสำคัญนี้

ดังนั้น การที่นายเทพสุ บวรโชติดารา ว่าที่เลขาฯ ปปง. ท่านนี้ จึงเป็นที่จับตาของคนไทยทั้งประเทศ ที่หวังจะเพิ่งองค์กรแห่งนี้ตรวจสอบความถูกต้อง โดยเฉพาะเรื่องของการฟอกเงิน ทั้งในคดีของ “สารวัตรซัว” ที่พบความเชื่อมโยงเกี่ยวกับการทำธุรกิจผิดกฎหมาย ทั้ง 10 บริษัท รวมถึงเว็บพนันออนไลน์ด้วย นอกจากนี้ ยังมีอีกคดีที่ต้องตรวจสอบเส้นทางการเงินด้วยเช่นกัน ก็คือ คดีของนายนอท-พันธ์ธวัช นาควิสุทธิ์ CEO บริษัท ลอตเตอรี่ออนไลน์ จำกัด หรือกองสลากพลัส ที่เงินจำนวน 316 ล้านบาท หายไปจากบัญชี หลังจากพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ดีเอสไอ ได้อายัดบัญชีไว้แล้ว 8 บัญชี แต่เงินจำนวนมหาศาลกลับไหลออกจากบัญชีไปได้

อย่างไรก็ตาม การที่นายเทพสุ ได้ขึ้นมาคุมบังเหียนของ ปปง. จึงเป็นเรื่องท้าทายที่จะต้องพิสูจน์ว่า สำนักงาน ปปง. จะสามารถเป็นที่พึ่งของคนไทยทั้งประเทศได้หรือไม่

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด

"อุตุฯ" เตือน 53 จังหวัด รับมือฝนถล่มหนัก-ลมกระโชกแรง กทม.ก็ไม่รอด
2 แรงงานพม่า สุดซึ้ง กู้ภัยเก็บสร้อยทอง จากซาก "ตึกสตง." ส่งคืน
"ศุภชัย" หนุนมหาวิทยาลัยเป็น "พลังเปลี่ยนพื้นที่" ผลิต "คน" ที่พร้อมทั้งทักษะอนาคต-ความรู้ที่ใช้ได้จริง รับโลกเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว
"รมว.เกษตรฯ" แจ้งข่าวดี GACC เชื่อมั่นมาตรฐานไทย แจ้งลดระดับการสุ่มตรวจ สาร BY2 ทุเรียนส่งออกจีน เริ่มมีผล 10 พ.ค.นี้
"สภาวิศวกร" เผยพบผู้ประกอบวิชาชีพ 2-3 ราย ส่อผิดจรรยาบรรณ เหตุ สตง.ถล่ม เร่งรวบรวมข้อมูลใหชัด
จีนเตือนสหรัฐฯแสดงความ 'จริงใจ'ในการคุยดีลการค้า
“ดนุพร” ลั่นไม่เคยพูด “ทักษิณ” ป่วยวิกฤต แจงยิบถามนายกฯแล้ว ภาพใส่เฝือกคอ-คล้องแขน
"ดีเอสไอ" ลงนามด่วนถึง "ผบ.ตร.-ปลัด มท." พร้อมร่วมมือสอบสวนเอาผิดฟอกเงินคดีฮั้วสว.
ผู้ว่าแบงก์ชาติ เตือนศก.ไทย “จ่อปากเหว” เจรจาภาษีสหรัฐยังไม่ชัด แนะรัฐบาลเร่งปรับโครงสร้าง- คุมสินค้าตปท.ทะลัก-ทบทวนมาตรการแจกเงินหมื่น
เปิดเอกสารเต็มหมายเรียก "สว.อลงกต" รับทราบข้อหาคดีฮั้วเลือกสว. เจ้าตัวไม่อยู่ห้อง นิติคอนโดฯ รับเอกสารไว้แทน

ดู LIVE รายการ

X

เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น