โบรกฯฟันธงสัญญาณบวก TRUE-DTAC เดินหน้าแผนผนึกธุรกิจ

โบรกฯฟันธงสัญญาณบวก TRUE-DTAC เดินหน้าแผนผนึกธุรกิจ

สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 12 ม.ค.66 บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE และ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด(มหาชน ) หรือ DTAC ได้แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) รายงานความคืบหน้าที่สำคัญของการรวมธุรกิจระหว่าง 2 บริษัท โดยมีสาระสำคัญ ประกอบด้วย

1.มติกำหนดวันประชุมผู้ถือหุ้นร่วมระหว่างผู้ถือหุ้นของ TRUE และ ผู้ถือหุ้นของ DTAC ในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2566 แบบออนไลน์ เพื่อพิจารณาเรื่อง ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการรวมธุรกิจ รวมถึงเตรียมเสนอที่ประชุมผู้ถือหุ้นร่วม พิจารณาและอนุมัติชื่อของบริษัทใหม่ คือ “บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ชื่อย่อหลักทรัพย์ “TRUE” ทุนจดทะเบียน 1.38 แสนล้านบาท (พาร์ 4 บาท)

2.กําหนดวันปิดสมุดทะเบียนพักการโอนหุ้นในวันที่ 22 ก.พ. 66 เพื่อรวบรวมรายชื่อผู้มีสิทธิได้รับการจัดสรรหุ้นของบริษัทใหม่ (จะมีจัดสรรหุ้นในบริษัทใหม่ให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมของ TRUE และ DTAC ในอัตรา 1 หุ้นเดิมใน TRUE : 0.60018 หุ้นในบริษัทใหม่ และ 1 หุ้นเดิมใน DTAC : 6.13444 หุ้นในบริษัทใหม่) โดยผู้ที่มีสิทธิจะได้รับการจัดสรรหุ้นในบริษัทใหม่ต้องเป็นผู้มีรายชื่อในสมุดทะเบียนผู้ถือหุ้นของ TRUE และ/หรือ DTAC ณ วันที่ 22 ก.พ. 66 เท่านั้น

3. ขอหยุดพักการซื้อขายหุ้นเป็นเวลา 9 วันทําการ (20 ก.พ. 2566 ถึง 2 มี.ค. 2566) เพื่อเตรียมการเกี่ยวกับการจัดสรรหุ้นของบริษัทใหม่ ตลอดจนดําเนินการต่าง ๆ เกี่ยวกับการนําบริษัทใหม่เข้าเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ

ขณะที่จากการตรวจสอบของ TOP NEWS ต่อมุมมองนักวิเคราะหลักทรัพย์ เห็นว่าการเดินหน้าควบรวมธุรกิจของ 2 บริษัทโทรคมนาคมรายใหญ่ของไทย ถือเป็นผลดีต่อภาคการลงทุนและการพัฒนาองค์กรธุรกิจ พร้อมมองข้อดีของชื่อบริษัทใหม่ ซึ่งใช้ชื่อเดิม เป็นชื่อที่ผู้บริโภคคุ้นเคย

 

โดยนายพิสุทธิ์ งามวิจิตวงศ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) ให้ความเห็นในการตั้งชื่อบริษัทใหม่หลังควบบริษัทเป็น “บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)” และใช้ชื่อย่อ “TRUE” ว่า การเป็น New Co ที่ใช้ชื่อเดิม ข้อดีก็คือ ไม่ได้เป็นการออกแบรนด์ใหม่ ทำให้ไม่ต้องใช้เงินลงทุนเยอะ เพราะแบรนด์ TRUE อยู่กับเรามา 10 กว่าปี เป็นแบรนด์ที่ทุกคนคุ้นเคย ไม่ต้องเสียเวลา อีกทั้ง TRUE มีหลายบริการ หลายสินค้า ฉะนั้น หากต้องออกแบรนด์ใหม่ ก็อาจจะต้องเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมากในการเปลี่ยนแปลง ในการสร้างการรับรู้แก่ประชาชน แต่ขณะเดียวกัน ตอนนี้ทุกคนรู้จักทรูอยู่แล้ว ส่วนแบรนด์ DTAC ก็ต้องคงไว้ตามที่กสทช.บอก แต่จะทยอยเฟดออก ก็ไม่ได้ผิดกฎกสทช.แต่อย่างใด ในความเห็นของเรา

ข่าวที่น่าสนใจ

นายพิสุทธิ์ มองว่า สิ่งที่ลูกค้าหรือประชาชนจะได้จากการควบรวม TRUE และ DTAC คือ คุณภาพบริการที่ดีขึ้น ยกตัวอย่าง สมมติเราเป็นลูกค้าทรู มือถือเหมือนถนน สมมติทรูมีลูกค้า 30 ล้านคน เค้าก็ต้องสร้างถนนเผื่อ ถนนก็ต้องใหญ่หน่อยเพื่อรองรับลูกค้า 40 ล้านคน ดีแทค มีลูกค้า 20 ล้านคน ต้องสร้างถนนสำหรับลูกค้า 25 ล้านคน เอาถนน 2 เส้นมารวมกัน ถนนจะใหญ่ขึ้นมาก ลูกค้าที่ไม่ได้ใหญ่ขึ้นมาก เท่ากับถนนที่ใหญ่ขึ้น เพราะเผื่อกับเผื่อ คิดดูถ้าเราเป็นลูกค้าก็จะใช้บริการที่เร็วขึ้น ดีขึ้น เสถียรขึ้น ที่ราคาเท่าเดิม นี่คือสิ่งที่ผู้บริโภคจะได้ทันที และเมื่อบริษัทมีเงินมากขึ้น ขาดทุนน้อยลง ก็จะเอาเงินไปพัฒนานวัตกรรม ซึ่งการพัฒนานวัตกรรม ก็เป็นประโยชน์กับประชาชนด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้ นายพิสุทธิ์ กล่าวว่า การควบรวม ต้นทุนด้านพนักงานก็ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ต้องบริหารจัดการ แต่ก็ได้มีการสัญญากับกสทช. ว่า หลังรวม อย่างน้อยในช่วงแรกจะไม่มีปรับลดพนักงาน

ขณะที่มองว่าการควบรวมครั้งนี้ แม้จะทำให้ผู้เล่นน้อยลง แต่ไม่น่าเป็นห่วง เพราะมีกสทช. เป็นผู้ดูแลในส่วนของเงื่อนไข และมาตรการเฉพาะเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคอยู่แล้ว

 

 

 

ด้าน ฝ่ายวิจัยบล.เอเซีย พลัส มองว่าข่าวดังกล่าวเป็นปัจจัยบวกต่อราคาหุ้น TRUE และ DTAC เพราะแสดงให้เห็นถึงกรอบเวลาที่ชัดเจนที่จะนำไปสู่การควบรวม และจัดตั้งเป็นบริษัทใหม่ที่คาดหวังศักยภาพการแข่งขันที่แข็งแกร่งขึ้น กว่าบริษัทเดิม

 

ขณะที่บทวิเคราะห์ของบล.โนมูระ พัฒนสิน แสดงมุมมองบวกต่อความคืบหน้า ในการควบรวมธุรกิจ TRUE-DTAC ที่มีมากขึ้น โดยมองว่า การกำหนดวันประชุมผู้ถือหุ้นร่วมและกรอบช่วงเวลาแลกหุ้นเป็นบริษัทใหม่ในครั้งนี้ จะเพิ่มความเชื่อมั่นต่อกระบวนการควบรวมกิจการระหว่าง DTAC และ TRUE จะแล้วเสร็จ ในไตรมาสแรกปีนี้ ตามกรอบเดิมที่ตั้งไว้เบื้องต้น คาดบริษัทใหม่จะเริ่มซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ตั้งแต่ ต้นเดือน มี.ค.2566

 

สำหรับ บล.โนมูระฯ มองว่าดีลการควบรวมกิจการ DTAC และ TRUE จะช่วยเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันด้านต่าง ๅ

1. ส่วนแบ่งการตลาดที่จะสูงขึ้นเป็น 53.8% จากไตรมาส 3 ปี 2565 ที่ DTAC อยู่ที่ 22.1% และ TRUE 31.7% (vs ADVANC 46.2%)

2. การต่อยอดการให้บริการ โดยเฉพาะ DTAC ที่ปัจจุบันยังไม่มีให้บริการเน็ตบ้านและ 5G เชิงพาณิชย์

 

 

3. การใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานร่วมกันให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เบื้องต้น ประเมินผลตอบแทนส่วนเพิ่มที่จะเกิดจากการควบรวมกิจการในครั้งนี้ แต่ละปี ไม่ต่ำกว่า 5 พันล้านบาทต่อปี และคาดมูลค่าตลาดเป้าหมายของ บริษัทใหม่ หลังควบรวมกิจการ (MergeCo.) ที่ 3.1 แสนล้านบาท (เทียบเท่าราคาเป้าหมาย MergeCo. ที่ 9.0 บ./หุ้น) ซึ่งจะคิดเป็นราคาเป้ าหมายของ DTAC ที่ 55 บ. และ TRUE ที่ 5.4 บาท

 

 

พร้อมกันนี้ บล.โนมูระ พัฒนสิน ระบุถึงมุมมองบวกในระยะยาว ต่ออุตสาหกรรมโทรศัพท์มือถือทั้งกลุ่ม โดยหลังปี 2566 มีความคาดหวังจะเห็นการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างมากขึ้น ทำให้จำนวนผู้แข่งขันในตลาดลดลง และ เกิดความสมดุลเชิงทรัพยากรและส่วนแบ่งการตลาดมากขึ้น แม้ว่าแนวโน้มการแข่งขันด้านราคาของธุรกิจนี้้ในระยะยาวจะลดลงบ้าง

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด

ศึกเลือกตั้งนายกอบจ.ขอนแก่น 'วัฒนา ช่างเหลา' คะแนนนำห่าง จ่อล้ม 'พงษ์ศักดิ์' แชมป์เก่า
รองปลัดกระทรวงมหาดไทย เตือน ผู้ว่าฯตราด นายอำเภอเกาะกูดทำความเข้าใจกับชาวตราดและเกาะกูดถึงปัญหาเขตแดน หลังสื่อโซเชียลก่อกระแส เกาะกูดจะเป็นของกัมพูชา
"อนุทิน" ลงพื้นที่น่าน สักการะพระธาตุแช่แห้ง แนะผู้ว่าฯ ยกจุดแข็งด้านวัฒนธรรม สร้างเม็ดเงินเข้าจังหวัด
รวบคู่รักวัยรุ่น อ้างเป็นกรรมการวัดดัง เปิดเพจรับบริจาคบูรณะวิหารหลวง ตุ๋นเงินทำบุญกว่า 2 แสนบาท
เลือกตั้งสหรัฐ: แฮร์รีสย่องเงียบโผล่ Saturday Night Live
สหรัฐปรามอิหร่านอย่าคิดเอาคืนอิสราเอล
ผู้นำสูงสุดอิหร่านขู่จะตอบโต้ทั้งอิสราเอลและสหรัฐ
ญี่ปุ่นสั่งอพยพประชาชนเกือบ 2 แสนหลังฝนถล่ม
“อดีตสว.สมชาย” แนะรบ.นำเรื่องยกเลิก MOU 44 เข้าสภาฯ โดยเร็ว
"นายกฯ" ขอบคุณ "ประชาชน" เชื่อมั่น ทำคะแนนนิยมพุ่ง ยันทำงานหนักต่อไปแก้ปัญหาประเทศ

ดู LIVE รายการ

X

เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น