วันที่ 24 ก.ค. 2568 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ ห้องประชุมเป็นธรรม ชั้น 3 อาคารสำนักงาน ป.ป.ช.ประจำ จังหวัดตรัง ต.นาตาล่วง อ.เมืองตรัง จ.ตรัง นายบัณฑิต คณะสุวรรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดตรัง พร้อมด้วย นายยุทธนา วิมลเมือง หัวหน้ากลุ่มงานป้องกันการทุจริต ได้ร่วมกันแถลงข่าว สืบเนื่องมาจากกรณีกล่าวหา นายกเทศมนตรีตำบลโคกหล่อ (ปัจจุบันเป็นอดีต) ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 กับพวก คือ ปลัดเทศบาลตำบลโคกหล่อ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 และอดีตเลขานุการนายกเทศมนตรีตำบลโคกหล่อ (ปัจจุบันเป็นอดีต) ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 ว่าร่วมกันกระทำความผิด โดยนำรถยนต์ส่วนกลาง ของเทศบาลตำบลโคกหล่อ ไปใช้เป็นประโยชน์ส่วนตนและนอกเวลาราชการ และไม่ควบคุมกำกับดูแล หรือได้รู้เห็นกับการกระทำผิดของผู้ใต้บังคับบัญชา นายบัณฑิต คณะสุวรรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดตรัง เปิดเผยว่า โดยมีพฤติการณ์จากการไต่สวนปรากฏว่า ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 ได้นำรถยนต์ส่วนกลาง ของเทศบาลตำบลโคกหล่อ หมายเลขทะเบียน กต 5063 ตรัง และหมายเลขทะเบียน กท 2439 ตรัง ไปใช้เป็นการส่วนตัวภายหลังเลิกงาน เป็นประจำทุกวันจันทร์ – วันศุกร์ และจะนำรถกลับถึงสำนักงานเทศบาล ตำบลโคกหล่อ (ชั่วคราว) ในตอนเช้าของวันทำงาน โดยใช้เป็นยานพาหนะเดินทางไป – กลับ ระหว่างสำนักงาน เทศบาลตำบลโคกหล่อ (ชั่วคราว) กับบ้านพักของตนที่อำเภอรัษฎา จังหวัดตรัง นอกจากนี้ยังปรากฏหลักฐานว่า ได้ใช้เดินทางไปจังหวัดสุราษฎร์ธานี ใช้เดินทางไปจังหวัดพัทลุง และใช้ไปงานมงคลสมรสซึ่งเป็นการใช้ประโยชน์ ส่วนตัว อันเป็นการไม่ปฏิบัติตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการใช้และรักษารถยนต์ขององค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2548 เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในการประชุมครั้งที่ 21/2568 เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2568 ได้พิจารณาแล้ว มีมติเป็นเอกฉันท์ด้วยคะแนนเสียง 7 เสียง
จากกรณีดังกล่าวข้างต้นปรากฏว่า การกระทำของ ปลัดเทศบาลตำบลโคกหล่อ ผู้ถูกกล่าวหาที่ 2 มีมูลความผิด ทางอาญาฐานเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมาย อาญา มาตรา 157 ประกอบมาตรา 91 และฐานเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใด ในตำแหน่งหรือหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกัน และปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 123/1 (ปัจจุบันเป็นความผิดตาม พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561มาตรา 172) ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 และมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ฐานปฏิบัติหน้าที่ราชการ โดยจงใจไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย กฎ ระเบียบของทางราชการ มติคณะรัฐมนตรี หรือนโยบายของรัฐบาล อันเป็น เหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง ตามประกาศคณะกรรมการพนักงานเทศบาลจังหวัดตรัง เรื่อง หลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการสอบสวน การลงโทษทางวินัย พ.ศ.2558 ข้อ 10 วรรคสอง
สำหรับการกระทำของนายกเทศมนตรีตำบลโคกหล่อ (ปัจจุบันเป็นอดีต) ผู้ถูกกล่าวหาที่ 1 และ เลขานุการนายกเทศมนตรีตำบลโคกหล่อ (ปัจจุบันเป็นอดีต) ผู้ถูกกล่าวหาที่ 3 จากการไต่สวนเบื้องต้น ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานที่จะฟังได้ว่าได้กระทำความผิดตามที่กล่าวหา ข้อกล่าวหาไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป ในส่วนของสำนวนการไต่สวน เอกสารหลักฐาน สำเนาอิเล็กทรอนิกส์ และคำวินิจฉัยส่งไปยังอัยการ สูงสุด เพื่อดำเนินคดีอาญาในศาลซึ่งมีเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี และส่งรายงานสำนวนการไต่สวน เอกสารหลักฐาน และคำวินิจฉัยไปยังผู้บังคับบัญชา เพื่อดำเนินการทางวินัย ตามฐาน ความผิดดังกล่าว ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 91 (1) และ (2) และมาตรา 98 แล้วแต่กรณีต่อไปิทั้งนี้ ให้แจ้งเทศบาลตำบลโคกหล่อ อำเภอเมืองตรัง จังหวัดตรัง ดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจ เพื่อให้มีการชดใช้ค่าเสียหายต่อไป ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปราม การทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 82 วรรคสอง
ขณะที่ นายยุทธนา วิมลเมือง หัวหน้ากลุ่มงานป้องกันการทุจริต เปิดเผยเพิ่มเติมว่า ระยะเวลาในการรับเรื่องและดำเนินการถึงมีการชี้มูลความผิดเรื่องนี้ใช้ระยะเวลาประมาณ 3 ปี ซึ่งอยากจะฝากไปถึงข้าราชการและนักการเมืองว่า รถหลวงไม่ใช่จะไม่ให้ใช้เลย ใช้ได้ แต่ความผิดหรือพฤติการณ์ในการใช้รถหลวงส่วนใหญ่มีอยู่ประมาณ 3 ประเภท ประเภทที่ 1 อาจจะไม่เหมาะสมเช่นใช้ล่วงระยะเวลา ไปทานข้าวอยู่ร้านอาหาร นายกฯท้องถิ่น อาจมีภารกิจไปงานแต่งงาน งานศพ งานบวช อันนี้เกี่ยวเนื่องกับทางราชการก็ไม่ได้ผิด แต่อาจจะไม่เหมาะสม ประเภทที่ 2 คือ ไม่ดำเนินการตามระเบียบ หรือไม่ขออนุญาตให้ถูกต้องเรียบร้อย หรือขออนุญาตไปอีกที่นึ่ง แต่กลับไปอีกที่นึ่ง อันนี้คือผิดระเบียบ ประเภทที่ 3 ก็เหมือนเรื่องนี้ คือทุจริตเลย ที่ผ่านมาทาง ป.ป.ช.ตรัง ก็ได้แถลงข่าวกรณีชี้มูลความผิดในการใช้รถหลวงไปแล้วหลายเรื่อง ทั้งกรณี ผู้อำนวยการกองสวัสดิการสังคม เทศบาลนครตรัง กรณีนายกเทศบาล ต.ย่านตาขาว กรณี ผอ. สพป.ตรัง เขต 2 และกรณีปลัดเทศบาลฯครั้งนี้ ซึ่งพฤติการณ์เช่นนี้คือเอารถหลวงไปใช้เสมือนรถยนต์ส่วนตัว เช่นนำกลับบ้านจนเป็นนิตย์ เป็นประจำ นำไปงานส่วนตัว งานศพ งานแต่ง งานบวช ไม่เว้นแต่นำไปบ่อนการพนันก็ยังมี และไปเบิกค่าน้ำมันกับทางราชการด้วย ก็อยากฝากไปยังข้าราชการว่าอย่าเกร็งจนเกินไป ใช้ได้แต่ดำเนินการให้ถูกต้องและปฏิบัติราชการอย่างแท้จริง ซึ่งอย่างไรก็ตาม กรณีที่ศาลยังไม่มีคำพิพากษาถึงที่สุด ผู้ถูกกล่าวหายังคงบริสุทธิ์อยู่.
ทรงวุฒิ นาคพล ผู้สื่อข่าว TOP NEWS ทั่วไทย / จ.ตรัง