ตามที่ ประธานบอร์ดการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ได้ทำหน้าที่รักษาการผู้ว่า กยท. อีกตำแหน่งหนึ่ง วันแรกเริ่มตั้งแต่วันที่ 27 เดือน มิถุนายน พ.ศ.2568 และในวันเดียวกัน ได้มีหนังสือถึงสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการยางแห่งประเทศไทย (สร.กยท.) ตามหนังสือที่ กษ 2904.08/0716 เรื่อง ขอยกเลิกบันทึกข้อตกลงระหว่าง สกย. กับ สร.สกย. ลงวันที่ 30 ตุลาคม 2543 และหนังสือที่ กษ 2904.08/0717 เรื่อง ขอยกเลิกบันทึกข้อตกลง ระหว่าง กยท. กับ สร.กยท. ลงวันที่ 16 มิถุนายน 2560 และได้มีหนังสือที่ กษ 2904.08/0279 เรื่อง ยื่นข้อเรียกร้องเพื่อแจ้งยกเลิกบันทึกข้อตกลงระหว่าง กยท. กับ สร.กยท. ลงวันที่ 16 มิถุนายน 2560 เพื่อขอยกเลิกบันทึกข้อตกลงเดิมทั้งหมด สร.กยท. เห็นว่า กยท. ดำเนินการโดยรักษาการผู้ว่าฯไม่ชอบตาม พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543 จึงมีหนังสือที่ สร.กยท. 127/2568 ลงวันที่ 30 มิถุนายน 2568 เพื่อให้ กยท. ยกเลิกหนังสือ ทั้งสองฉบับ เพราะไม่ชอบด้วย พ.ร.บ. แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ 2543 แต่ กยท.(นายจ้าง) ก็ยังมิได้ยกเลิกแต่อย่างใด
"สรส." ออกแถลงการณ์ ถึงรัฐบาล ค้าน "บอร์ดการยางฯ" แทรกแซงสหภาพฯ โยกย้าย "ประธาน สร.กยท." ไม่เป็นธรรม ละเมิดสิทธิรุนแรง
ข่าวที่น่าสนใจ
ต่อมาเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2568 ได้มีคำสั่งย้าย นายมานพ เกื้อรัตน์ ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการยางแห่งประเทศไทย ตำแหน่ง นักวิชาการเกษตร 6 จากจังหวัดอุทัยธานี ไป อำเภอทุ่งใหญ่ จังหวัดนครศรีธรรมราช ในตำแหน่งเดิม และตามที่ กยท. นายจ้างได้ยื่นข้อเรียกร้องกับ สร.กยท. ฝ่ายสหภาพแรงงานผู้รับหนังสือจึงได้นัดเจรจาในวันที่ 4 กรกฎาคม 2568 เวลา 13.30 น. แต่ตัวแทนฝ่ายนายจ้างไม่มาเจรจา
จากปรากฏการณ์พฤติกรรมดังกล่าว ชี้ให้เห็นชัดเจนว่านายจ้างกระทำการลุแก่อำนาจไม่เข้าใจระบบแรงงานสัมพันธ์และกฎกติกาทางสากล เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และทำลายหลักการแรงงานสัมพันธ์ที่ดี ไม่ชอบด้วยหลักธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการและหลักจริยธรรมของผู้บริหารภาครัฐ ข้อสังเกต กยท. มีรองผู้ว่าการฯ ถึง 3 คน ที่มีความรู้ความสามารถแต่ไม่มอบหมายให้รักษาการ กับการขอยกเลิกข้อตกลงที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและหลักการแรงงานสัมพันธ์ที่ดีที่บรรดารัฐวิสาหกิจอื่นถือปฏิบัติกันตามเจตนาของ พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสากิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2543 และยังออกคำสั่งย้ายประธานสหภาพแรงงาน โดยไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างที่ยังมีผลบังคับใช้อยู่ต่อไป จึงไม่ชอบด้วยมาตรา 37 มาตรา 35 และมาตรา 29 แห่ง พ.ร.บ.แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543 ที่บัญญัติว่าเมื่อข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างมีผลใช้บังคับ ห้ามมิให้นายจ้างทำสัญญาจ้างแรงงานขัดหรือแย้งกับข้อตกลงสภาพการจ้าง
จากพฤติกรรมดังกล่าวนั้น สร.กยท. ซึ่งเป็นสมาชิกของ สรส. และ สรส. เป็นสมาชิกของ International trade Unions Confederation (ITUC) เห็นว่า การกระทำดังกล่าวเป็นการทำลายหลักการแรงงานสัมพันธ์ที่ดีในรัฐวิสาหกิจไทย เป็นการทำลายสหภาพแรงงานที่ถือปฏิบัติตามกฎหมาย ไม่เคารพหลักการที่รัฐบาลไทยยอมรับและถือปฏิบัติในฐานะสมาชิกของ ILO รวมถึงกฎการค้ากับนานาประเทศที่พัฒนาแล้ว และทำลายเกียรติภูมิของ กยท. จะนำไปสู่ความขัดแย้ง และเกิดผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของการยางแห่งประเทศไทยต่อองค์กรภายนอก และยังขัดกับหลักการปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติด้วย
สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาล และหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง ได้รีบแก้ไขปัญหานี้โดยให้ยกเลิกการกระทำที่ไม่ชอบ และโยกย้ายประธานสหภาพกลับตำแหน่งเดิมที่ทำงานเดิมโดยเร็ว
รวมถึงให้ยุติการทำลายผู้นำสหภาพแรงงานที่ต่อสู้เพื่อผลประโยชน์ของสมาชิกและองค์กรจึงเป็นการทำลายผลประโยชน์ของส่วนรวม เป็นการทำลายสหภาพแรงงาน
เป็นการละเมิดสิทธิแรงงานสิทธิมนุษยชน สหภาพแรงงานทั่วประเทศต้องรวมพลังกันคัดค้านเพื่อคุ้มครองสิทธิของแรงงานทุกคน”
“ ด้วยความสมานฉันท์ รวมพลังต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมของกระบวนการแรงงาน ”
สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.)
21 กรกฎาคม 2568


ข่าวที่เกี่ยวข้อง