‘Waste, Not Wasted’ แบรนด์น้ำหมักชีวภาพสูตรปลาหมอคางดำ ความร่วมมือ ประมงสมุทรสาคร-พัฒนาที่ดิน-ซีพีเอฟ ผลิตของดีให้เกษตรกรเพิ่มผลผลิต ลดค่าปุ๋ย

กดติดตาม TOP NEWS

ประมงสมุทรสาคร จับมือร่วมกับสำนักงานพัฒนาที่ดิน และซีพีเอฟ เปิดตัว น้ำหมักชีวภาพสูตรปลาหมอคางดำ ตั้งเป้าช่วยลดจำนวนปลาหมอคางดำเดือนละ 6,000 กิโลกรัม พร้อมแบ่งปันสูตรให้วิสาหกิจชุมชน ต่อยอดเป็นสินค้าสร้างรายได้ แบรนด์ Waste, Not Wasted ของเสียที่ไม่เสียของ ช่วยเกษตรกรประหยัดค่าปุ๋ยได้ถึงหมื่นบาทต่อไร่ เกษตรกรย้ำน้ำหมักชีวภาพช่วยให้ฝรั่งมีผลโตขึ้น และยังมีรสหวาน

 

บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ สนับสนุนประมงจังหวัดสมุทรสาครในการนำปลาหมอคางดำมาใช้ประโยชน์ในรูปแบบต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ล่าสุด บูรณาการกับ สถานีพัฒนาที่ดินสมุทรสาคร และศูนย์การเรียนรู้ของเสียที่ไม่เสียของ ต่อยอดนำปลาหมอคางดำที่จับได้จากกิจกรรม “ลงแขกลงคลอง” มาผลิตเป็นน้ำหมักชีวภาพสูตรปลาหมอคางดำ ที่พัฒนาโดยสำนักงานพัฒนาที่ดินจังหวัด และซีพีเอฟสนับสนุนถังพลาสติกขนาดใหญ่สำหรับหมักปลาได้ 300 กิโลกรัมต่อถัง

เผดิม รอดอินทร์ ประมงสมุทรสาคร กล่าวว่า โครงการน้ำหมักชีวภาพใช้เวลา 1 เดือน จะช่วยให้สมุทรสาครจับปลาหมอคางดำออกจากระบบได้ทุกเดือน เดือนละ 6,000 กิโลกรัมหรือปีละ 72,000 กิโลกรัม เพิ่มมูลค่าเป็นของดีมาแบ่งปันให้พี่น้องเกษตรกรใช้รดบำรุงดินแทนปุ๋ย เตรียมคิกออฟเป็นสินค้าภายใต้แบรนด์ WASTE, NOT WASTED “ของเสียที่ไม่เสียของ” รวมทั้งถ่ายทอดสูตรการหมักให้เกษตรกรนำไปทำใช้เอง เป็นการบูรณาการประชาชนมีส่วนร่วมในการลดประชากรปลาหมอคางดำอีกทางหนึ่ง

ธนัชกฤต กลิ่นหวล ผู้อำนวยการสถานีพัฒนาที่ดินสมุทรสาคร ได้แบ่งปันสูตรของน้ำหมักชีวภาพปลาหมอคางดำ มีส่วนประกอบปลาหมอคางดำ 30 กิโลกรัม หมักกับ กากน้ำตาล 10 กิโลกรัม และ สัปปะรด 10 กิโลกรัม ใส่ สารเร่งซุปเปอร์ พด.2 จำนวน 1 ซองผสมน้ำเปล่า 10 ลิตร บรรจุในถังหมักนาน 1 เดือนได้น้ำหมักเข้มข้น 30 กิโลกรัม ก่อนใช้ต้องเจือจางกับน้ำก่อนนำมาฉีดพ่นและรดดิน ช่วยบำรุงพืชผลและบำรุงดิน

“สำนักงานพัฒนาที่ดินนำน้ำหมักชีวภาพไปวิเคราะห์ พบว่ามีธาตุอาหารหลักสำหรับพืชทั้งไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโปแตชเซียม ( N-P-K) ธาตุอาหารรอง รวมทั้งกรดอะมิโนที่ช่วยการเจริญเติบโตของพืช จากการสอบถามเกษตรกร น้ำหมักชีวภาพจากปลาหมอคางดำช่วยประหยัดค่าปุ๋ยได้ถึง 8,000-10,000 บาทต่อไร่/ต่อปี และผลผลิตสูงขึ้นอีกด้วย” ธนัชกฤต กล่าว

ขวัญชัย อุทัยไป เล่าว่า หลังจากนำน้ำหมักชีวภาพปลาหมอคางดำไปใช้กับสวนฝรั่ง เดิมฝรั่งให้ผลขนาดเล็ก และหน้าดินแข็งจากการใช้ปุ๋ยเคมีทำให้ต้นไม้ได้รับธาตุอาหารไม่สมบูรณ์ หลังจากใช้น้ำหมักชีวภาพเห็นการเปลี่ยนแปลงว่าดินร่วนฟู ทำให้น้ำไหลผ่านดินได้ดี ผลฝรั่งมีขนาดใหญ่ขึ้น และยังมีรสชาติหวานอร่อย ผลผลิตดี ช่วยลดต้นทุนจากค่าปุ๋ยได้ 35%

“จากการดำเนินการตามมาตรการอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้สมุทรสาครสามารถกำจัดปลาหมอคางดำไปแล้วไม่ต่ำกว่า 3 ล้านกิโลกรัม จากการสำรวจเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา การแพร่ระบาดในพื้นที่ลดลงจนอยู่ในระดับปานกลาง พบปลาหมอคางดำ 10 ถึง 100 ตัว ต่อ 100 ตารางเมตร เป็นผลจากการบูรณาการความร่วมมืออย่างเข้มแข็งของภาครัฐ เอกชนและชุมชนในการดำเนินงานเชิงรุกอย่างจริงจัง ในการควบคุมและลดปริมาณปลาหมอคางดำอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน ปลายังมีประโยชน์ สามารถนำมาผลิตเป็นสินค้าช่วยสร้างโอกาสให้ชุมชนมีอาชีพและรายได้ที่มั่นคง” เผดิมกล่าวปิดท้าย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

-

ข่าวล่าสุด

แท็กที่เกี่ยวข้อง

ดู LIVE รายการ

เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น​