ศาลปกครองสูงสุด เพิกถอนคำสั่งปลด "ชัยวัฒน์" พ้นราชการ ชี้ป.ป.ท. ไม่มีอำนาจชี้มูลความผิดวินัย ที่ไม่เข้าข่ายทุจริตต่อหน้าที่
ข่าวที่น่าสนใจ
16 ก.ค.2568 ศาลปกครองเพชรบุรี นัดฟังคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด กรณีนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองเพชรบุรี จากการที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยปลัดกระทรวงฯ ได้มีคำสั่งปลดนายชัยวัฒน์ ออกจากราชการ ตามคำสั่งกระทรวงฯ ที่ 132/2564 ลงวันที่ 2 เม.ย. 2564 ตามมติของคณะกรรมการ ป.ป.ท. จากการปฏิบัติการตามโครงการอพยพชุมชนกลุ่มน้อยตามแนวชายแดนไทย-เมียนมา อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี หรือ “ยุทธการตะนาวศรี” เมื่อปี 2554
โดยกรณีดังกล่าว ศาลปกครองเพชรบุรีได้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวก่อนการพิพากษา เมื่อวันที่ 27 ก.ค. 2565 มีคำสั่งทุเลาการบังคับตามคำสั่งกระทรวงฯ ที่ลงโทษปลดออกจากราชการไว้เป็นการชั่วคราว จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น กระทรวงฯ จึงมีคำสั่งให้นายชัยวัฒน์ กลับเข้ารับราชการชั่วคราว และศาลปกครองเพชรบุรีได้มีคำพิพากษา เมื่อวันที่ 29 ก.ย. 2565 เพิกถอนคําสั่งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ 132/2564 ลงวันที่ 2 เมษายน 2564 ที่ลงโทษปลดผู้ฟ้องคดี (นายชัยวัฒน์) ออกจากราชการ ภายหลังผู้ถูกฟ้องคดี ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ 2 และคณะกรรมการ ป.ป.ท. ที่ 3 มีการยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาดังกล่าว
โดยในวันนี้ (16 ก.ค.) ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษา ในคดีหมายเลขดำที่ อ.2117/2568 คดีหมายเลขแดงที่ อ.587/2568 พิพากษา “แก้คำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น เป็นให้เพิกถอนคำสั่งของ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 (ปลัดกระทรวงฯ) ตามคสั่งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติเละสิ่งแวดล้อม ลับ ที่ 132/2564 ลงวันที่ 2 เม.ย. 2564 ที่สั่งลงโทษปลดผู้ฟ้องคดี (นายชัยวัฒน์) ออกจากราชการ โดยให้มีผลย้อนหลังไปถึงวันที่ออกคำสั่งดังกล่าว ยกฟ้องผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ส่วนคำขออื่นจากนี้ให้ยก
เนื่องจากศาลปกครองสูงสุดพิเคราะห์แล้วเห็นว่า การที่ผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนจะพิจารณาโทษทางวินัยกับผู้ถูกกล่าวหาตามฐานความผิดที่คณะกรรมการ ป.ป.ท. มีมติชี้มูลโดยไม่ต้องแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยอีก โดยให้ถือสำนวนของคณะกรรมการ ป.ป.ท. เป็นสำนวนการสอบสวนทางวินัย จะกระทำได้ต่อเมื่อเป็นข้อกล่าวหาที่คณะกรรมการ ป.ป.ท. มีอำนาจหน้าที่ที่จะไต่สวนข้อเท็จจริง และชี้มูลความผิด กล่าวคือ ต้องเป็นการทุจริตต่อหน้าที่หรือประพฤติไม่ชอบในภาครัฐ หากเป็นความผิดทางวินัยอื่นที่ไม่เกี่ยวกับการกระทำทุจริตในภาครัฐของเจ้าหน้าที่รัฐ ผู้บังคับบัญชาหรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนย่อมไม่อาจที่จะพิจารณาโทษทางวินัยได้ตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ท. ชี้มูล โดยไม่ต้องแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัย และไม่อาจเอารายงานเอกสารและความเห็นของคณะกรรมการ ป.ป.ท. เป็นสำนวนการสอบสวนทางวินัยของคณะคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยได้
ศาลปกครองสูงสุดเห็นว่า การที่นายชัยวัฒน์ ไม่ได้ดำเนินการตามคู่มือปฏิบัติงานป้องกันและปราบปรามการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้หลักเกณฑ์ มาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 มิใช่การกระทำทุจริตต่อหน้าที่อันเป็นมูลความผิดทางวินัย ตามนัยความหมายของคำว่าทุจริตต่อหน้าที่ ตามมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติมาตรการของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปรามทุจริต พ.ศ. 2551 กล่าวคือ มิใช่การกระทำที่มีมูลเหตุชักจูงใจเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่ควรได้โดยชอบสำหรับตนเองหรือผู้อื่น อันเป็นองค์ประกอบความผิด ที่เกี่ยวกับการกระทำการทุจริตในภาครัฐของเจ้าหน้าที่รัฐ
ดังนั้น มติของคณะกรรมการ ป.ป.ท. ที่ชี้มูลความผิดวินัยนายชัยวัฒน์ ตามมาตรา 85 (1) พระราชบัญญัติ ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 จึงไม่ผูกพันให้ อ.ก.พ. กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของนายชัยวัฒน์ ให้ต้องลงโทษตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ท. ชี้มูล กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จึงไม่อาจถือเอารายงานการไต่สวนข้อเท็จจริงดังกล่าวมาเป็นสำนวนการสอบสวนทางวินัยตามมาตรา 40 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติมาตรการของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2551
ข่าวที่เกี่ยวข้อง