CNBC รายงานเมื่อวานนี้ (พฤหัสที่ 3 กค.) ว่าทุกสายตาต่างจับจ้องไปที่เวียดนามในขณะนี้หลังจากประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ประกาศเมื่อวานนี้ (พุธที่ 2 กค.)ว่าสหรัฐได้บรรลุข้อตกลงการค้ากับเวียดนาม โดยเวียดนามยอมให้สหรัฐเก็บภาษีสินค้านำเข้า 20% และสินค้าสวมสิทธิ์ 40 % ขณะที่สินค้าสหรัฐเข้าเวียดนามได้รับการยกเว้นไม่ต้องจ่ายกำแพงภาษี
เซบาสเตียน แร็ดเลอร์ ผู้อำนวยการสำนักงานด้านยุทธศาสตร์หุ้นยุโรปมองว่าจากข้อตกลงระหว่างสหรัฐและเวียดนาม ทำให้เชื่อได้ว่าข้อตกลงฉบับต่อไปของทรัมป์ กำแพงภาษีไม่น่าจะต่ำไปกว่า 20% เหมือนของเวียดนาม ถ้าไม่สูงกว่าก็เท่ากัน
ขณะที่มาร์ก วิลเลี่ยมส์ นักเศรษฐศาสตร์จากสถาบันเอเชียมองว่าหลังจากเวียดนาม การเจรจาของประเทศอื่นๆน่าจะง่ายขึ้น โดยบางประเทศอาจได้จ่ายภาษีที่ต่ำกว่าเวียดนาม เนื่องจากเวียดนามมีอำนาจต่อรองที่ต่ำมากเพราะมีระบบเศรษฐกิจที่พึ่งพาสหรัฐเป็นหลัก
ทางด้านผู้เชี่ยวชาญของซิตี้ เตือนว่าข้อตกลงของทรัมป์และเวียดนามอาจสร้างความวิตกให้กับหลายประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ในเอเชียอื่นๆที่มีเศรษฐกิจคล้ายเวียดนาม ที่โดนบีบให้ต้องจ่ายภาษีศุลกากรสูงกว่าภาษีพื้นฐานที่สหรัฐเรียกเก็บที่ 10% ถึงเท่าตัว แม้จะต่ำกว่าที่ทรัมป์กำหนดไว้ตอนแรกในวันที่ 2 เมษายนที่ 46% ก็ตาม แถมยังโดนเรียกเก็บภาษีสินค้าสวมสิทธิ์ถึง 40% ทำให้เชื่อว่าหลายประเทศในเอเชียอาจจำเป็นต้องยอมรับภาษีสินค้าสวมสิทธิ์ที่ 40% เท่ากับเวียดนามก็เป็นได้
ซึ่งนอกจากเวียดนามแล้ว ไทยและมาเลเซียอาจได้รับผลกระทบมากกว่าประเทศเอเชียอื่นๆ นอกจากนี้มาตรการภาษีตอบโต้ของทรัมป์ที่มีเป้าหมายเล่นงานจีนอาจลุกลามไปยังประเทศส่งออกรายอื่นๆ รวมทั้งเกาหลีใต้ที่มาตั้งโรงงานหลายแห่งในเวียดนามในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา
ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญบางส่วนคาดการณ์หลังจากทำข้อตกลงกับเวียดนามเสร็จสิ้น ข้อตกลงกับประเทศอื่นน่าจะทยอยตามมาในเร็วๆนี้ และดูเหมือนว่าทรัมป์จะเริ่มยอมรับกับกรอบข้อตกลงแบบกว้างๆ แทนที่จะเป็นข้อตกลงอย่างเต็มรูปแบบ เนื่องจากเส้นตายการผ่อนปรนภาษีที่กำหนดไว้วันที่ 9 กรกฎาคมใกล้จะถึงเต็มที และทรัมป์ก็ประกาศจะไม่ขยายออกไป ทั้งนี้คาดว่าอินเดียจะเป็นประเทศต่อไปที่อาจบรรลุข้อตกลงกับสหรัฐ แต่อินเดียก็ยังติดอุปสรรคที่ภาคการเกษตร เพราะหากปล่อยให้สินค้าเกษตรสหรัฐเข้าสู่ตลาดอินเดียแบบไม่มีเงื่อนไข ก็จะกระทบต่อเกษตรกรอินเดียและอาจเจอกับการต่อต้านอย่างแน่นอน