CNA สิงคโปร์ได้สัมภาษณ์นักรัฐศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญทั้งต่างชาติและไทยหลายคนถึงสถานการณ์การเมืองไทยในขณะนี้หลังจากศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้นายกรัฐมนตรีแพทองธารหยุดปฎิบัติหน้าที่จนกว่าจะมีการตัดสิน ทำให้ทั่วโลกต่างจับตามองว่ากองทัพไทยจะออกมาเคลื่อนไหวอีกครั้งหรือไม่
รายงานเผยว่าแม้ภูมิธรรม เวชยชัย อดีตรัฐมนตรีกลาโหมซึ่งเพิ่งกำลังจะเปลี่ยนมารับตำแหน่งรัฐมนตรีมหาดไทยปฏิเสธถึงความเป็นไปได้เรื่องการรัฐประหาร แต่นักวิเคราะห์ทุกคนต่างมองว่ามีความเป็นไปได้ทั้งสิ้น เนื่องจากนับตั้งแต่ที่ไทยเปลี่ยนระบอบการปกครองในปี 2475 ไทยมีรัฐประหารมาอย่างต่อเนื่อง ที่สำเร็จมี 13 ครั้งและที่ไม่สำเร็จก็อีกหลายครั้ง และครั้งล่าสุดคือ 2557
ศาสตราจารย์เกียรติคุณเควิน เฮวิสัน ของภาควิชาเอเชียศึกษา มหาวิทยาลัยนอร์ธ แคโรไลน่าของสหรัฐกล่าวว่าจากคลิปเสียงสนทนากับฮุนเซน แพทองธารบอกว่ากองทัพเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มพันธมิตรที่พยายามบ่อนทำลายรัฐบาลชุดปัจจุบัน และเป็นฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาล จนเป็นสาเหตุให้พรรคภูมิใจไทยตัดสินใจถอนตัวออกจากพรรคร่วม
ขณะที่อาจารย์ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกล่าวในทิศทางเดียวกันว่าแม้จะมีความเป็นไปได้น้อยที่จะเกิดรัฐประหารอีกรอบ แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้ และว่าในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลไทยไม่ถูกรัฐประหารก็ถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรค และรัฐประหารครั้งล่าสุดเมื่อปี 2557 ทำให้เศรษฐกิจไทยชลอตัวและถูกนานาชาติวิพากษ์วิจารณ์ ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้กองทัพลังเลและไม่อยากก่อการรัฐประหารอีกครั้ง อย่างไรก็ตามถ้าเหตุวุ่นวายทางการเมืองลากยาว จนถึงทางตันและกระทบเสถียรภาพของประเทศ ประชาชนก็จะเรียกร้องทหารให้ออกมาผ่าทางตัน
เฮวิสันชี้ว่าการปรับครม.เมื่อวานนี้ (อังคารที่ 1 กค.) แพทองธารไม่มีการแต่งตั้งรัฐมนตรีกลาโหมคนใหม่ ทั้งๆที่โยกภูมิธรรมไปนั่งเก้าอี้มหาดไทย โดยปล่อยเก้าอี้รัฐมนตรีกลาโหมให้ว่างไว้เฉยๆ และว่ากองทัพมีโอกาสที่จะออกมาเคลื่อนไหวและอาจทำแน่หากการเมืองไทยเกิดช่องว่างหรือไร้เสถียรภาพ
และว่าระหว่างปราศรัยกับกลุ่มผู้ชุมนุมเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา สนธิ ลิ้มทองกุล สื่อและหนึ่งในผู้นำกลุ่มผู้ชุมนุมเรียกร้องให้แพทองธารลาออกประกาศว่าเขาจะไม่คัดค้านเลย ถ้ากองทัพออกมาเคลื่อนไหว แต่เขาไม่เห็นด้วยที่กองทัพจะบริหารประเทศ
เจย์ แฮรี่แมน ที่ปรึกษาทางการเมืองและทางธุรกิจซึ่งประจำที่กรุงเทพเขียนบทความว่าเขาเชื่อว่าความเป็นไปได้ที่กองทัพไทยจะออกมาเคลื่อนไหวมีต่ำมาก โดยกองทัพจะรอให้ปล่อยให้ระบบประชาธิปไตยทำหน้าที่ไป ให้ศาลและรัฐสภาจัดการไปตามทิศทางทางการเมือง ยกเว้นเสียว่ากลไกประชาธิปไตยจะล้มเหลว ตอนนั้นเราจึงจะเห็นกองทัพออกมาควบคุมสถานการณ์
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ต่างพูดไปในทิศทางเดียวกันว่าสิ่งที่น่ากังวลคือความวุ่นวายทางการเมืองเกิดขึ้นท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจ รวมทั้งการเจรจาภาษีทรัมป์ที่จะเกิดขึ้นในวันพรุ่งนี้ (พฤหัสที่ 3 กค.) ซึ่งไทยโดนเรียกเก็บถึง 36% ขณะที่สภาพเศรษฐกิจเองก็ไม่สู้ดี GDP ก็ต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้าน เฮวิสันชี้ว่ารัฐบาลชุดปัจจุบันเปรียบเหมือนเป็ดง่อย ผลงานเศรษฐกิจก็ไม่มีอะไรโดดเด่น ทำให้การเดินทางไปเจรจากับสหรัฐเป็นเรื่องไม่ง่ายเลย เพราะไม่อยู่ในฐานะที่จะต่อรองอะไรได้มาก