นิรมาล โกช อดีตผู้สื่อข่าวต่างประเทศของ CNA สิงคโปร์ ปัจจุบันเป็นนักเขียนและนักวิเคราะห์อิสระเขียนบทความแสดงความเห็นว่าการที่เมื่อวานนี้ (อังคารที่ 1 กค.) ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้นายกรัฐมนตรีแพทองธาร ชินวัตรหยุดปฏิบัติหน้าที่น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของความเคลื่อนไหวและแย่งชิงอำนาจทางการเมืองครั้งใหม่ของประเทศไทย ซึ่งฉากทัศน์หลังจากนี้ก็มีความเป็นไปได้หลายอย่าง รวมถึงการยุบสภาและเลือกตั้งใหม่ โดยขณะนี้นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีทำหน้าที่รักษาการนายกรัฐมนตรี ขณะเดียวกันก็มีผู้สมัครอีกจำนวนมากรอคิวขึ้นนั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีคนต่อไป โดยฉากทัศน์นี้ถือเป็นระยะสั้นที่จะเกิดขึ้นในไม่กี่สัปดาห์
ส่วนฉากทัศน์ในระยะยาวหรือในอนาคต นักวิเคราะห์หลายคนเห็นพ้องต้องกันว่าอาณาจักรของตระกูลชินวัตรน่าจะกำลังเข้าสู่ทางตันหรือจุดจบของการเมืองไทยแล้ว
โกชกล่าวว่าวิกฤตการเมืองของพรรคเพื่อไทยที่เกิดขึ้นเกิดจากการที่พรรคภูมิใจไทยถอนตัวจากพรรคร่วมรัฐบาล หลังจากคลิปเสียงสนทนาของแพทองธารกับฮุนเซนหลุดออกมา จนนำไปสู่การยื่นถอดถอนแพทองธารของศาลรัฐธรรมนูญเนื่องจากขาดความซื่อสัตย์สุจริตและละเมิดจริยธรรม โดยในคลิป แพทองธารเรียกฮุนเซน ประธานวุฒิสภากัมพูชาและเพื่อนพ่อว่า “uncle” แต่กลับเรียกผู้บัญชาการกองทัพไทยว่า “ฝ่ายตรงข้าม” เป็นการตอกย้ำให้เห็นว่าในสังคมไทย ผู้นำไทยจะต้องไม่อยู่ฝ่ายตรงข้ามกับกองทัพ
โกชชี้ว่าอิทธิพลของตระกูลชินวัตรเริ่มเสื่อมถอยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยนายกรัฐมนตรีแพทองธารไม่สามารถเชื่อมโยงกับประชาชนคนไทยเหมือนกับสมัยนายกรัฐมนตรีทักษิณและยิ่งลักษณ์ ซึ่งเป็นพ่อกับอา นโยบายของพรรคเพื่อไทยก็ไม่ได้รับการตอบรับเหมือนในอดีต โพลความนิยมของแพทองธารที่สำรวจครั้งล่าสุดร่วงลงเหลือ 9.2% จาก 30.9% ในช่วง 3 เดือนแรกหลังการจัดตั้งรัฐบาล
ทั้งนี้โกชได้อ้างมุมมองของอาจารย์ฐิติพล ภักดีวาณิช นักรัฐศาสตร์ไทยที่มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีที่เชื่อว่าการก่อตั้งพรรคก้าวไกลซึ่งภายหลังเปลี่ยนเป็นพรรคประชาชนหลังถูกยุบไป ทำให้คนไทยมีทางเลือกใหม่ ดังนั้นถึงแม้ว่าตระกูลชินวัตรทั้งแพทองธารและทักษิณ จะพ้นผิดจากการตัดสินของศาลไปได้ แต่ก็คงเหลือแต่ชื่อเท่านั้น แต่อำนาจและอิทธิพลทางการเมืองจะเสื่อมลงไปเรื่อยๆนับจากนี้เป็นต้นไป
และสิ่งที่เกิดขึ้นแสดงให้เห็นว่าความสัมพันธ์ส่วนตัวระหว่างผู้นำ ซึ่งเป็นลักษณะของกลุ่มอาเซียนสามารถล่มสลายลงได้และถือเป็นเรื่องเสี่ยง เปราะบางและอันตราย เพราะอาจถูกอีกฝ่ายนำมาแบล็คเมลและใช้เป็นเครื่องมือโจมตีได้ ทั้งนี้หลายประเทศอาเซียนมักเน้นความสัมพันธ์ส่วนตัวระหว่างผู้นำแทนที่จะยึดความสัมพันธ์ในกรอบสถาบัน