“ปลาหมอบัตเตอร์” คือ 1 ใน 3 ปลาหมอต่างถิ่น ที่ห้ามนำเข้ามาในประเทศ นอกเหนือจากปลาหมอมายัน และปลาหมอคางดำ จากการสืบค้นของเจ้าหน้าที่กรมประมง พบว่ามีผู้ลักลอบนำเข้า และแอบเพราะเลี้ยงอยู่ในกระชัง กลางเขื่อนสิริกิติ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ และเขื่อนศรีนครินทร์ จังหวัดกาญจนบุรี มาตั้งแต่ ปี 2546 ก่อนจะขยายพันธุ์มากขึ้นจนถึงปัจจุบันนี้
คำยืนยันจากผู้ประกอบการแพปลาในเขื่อนสิริกิติ์ ว่าพบเจอปลาหมอบัตเตอร์มานานมากกว่า 20 ปี โดยจุดเริ่มต้นมาจากมีผู้นำมาเลี้ยงไว้ในกระชัง ซึ่งคาดว่าเป็นนายทุนขบวนการค้าปลาส่งออกเป็นผู้ว่าจ้าง ต่อมาเมื่อปลาไม่ได้เป็นที่นิยมในตลาดต่างประเทศ ส่วนที่ยังเหลืออยู่นี้ ก็ไม่ได้นำมาทำลาย แต่กลับปล่อยลงไปในเขื่อน ด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ว่าจะเกิดผลร้ายแรงตามมา
โดยธรรมชาติ “ปลาหมอบัตเตอร์” เมื่อโตเต็มวัยจะมีขนาด 30-40 เซนติเมตร มีนิสัยดุร้าย หวงอาณาเขต โดยเฉพาะในช่วงการวางไข่และเลี้ยงลูกอ่อน ทำให้เปอร์เซนต์การมีชีวิตรอดของลูกปลาสูง โดยนับตั้งแต่ปี 2550 ที่พบเพียง 30 ตัว กลับเพิ่มจำนวนถึงหนึ่งหมื่นตัว ในช่วงเวลาเพียง 10 ปีเท่านั้น หรือเพิ่ม 300 % อีกทั้งปลาหมอบัตเตอร์ยังเป็นปลาที่กินจุ ทำให้ไล่กินลูกกุ้ง ลูกปลาพื้นถิ่นชนิดอื่น ๆ จนชาวประมงบ่นให้ฟังว่า ทุกวันนี้ไม่ค่อยจะพบปลาแรด และปลาหมอช้างเหยียบอีกแล้ว แต่จับได้ปลาหมอบัตเตอร์มาแทน จึงถือว่าสร้างผลกระทบต่อระบบนิเวศไม่น้อยทีเดียว