“นิพนธ์” ชี้เหตุไฟใต้กลับโหมแรง ถึงสังหารผู้บริสุทธิ์ รัฐเปลี่ยนบ่อยคนรับผิดชอบ “คดีตากใบ” ยังไม่เคลียร์ เจรจาไม่ถูกคน ไม่รู้ใครแน่กุมอำนาจ BRN
ข่าวที่น่าสนใจ
สืบเนื่องจากกรณีเมื่อวันที่ 6 พ.ค. 2568 ที่ผ่านมา ขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปาตานี หรือ BRN ออกแถลงการณ์เป็นลายลักษณ์อักษร แสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ปาตานีดารุสซาลาม ซึ่งมีผู้บริสุทธิ์เสียชีวิตและได้รับความเดือดร้อน
โดยยืนยันว่า “BRN ไม่มีนโยบายโจมตีเป้าหมายพลเรือน” ในแถลงการณ์ยังเน้นย้ำว่า การเคลื่อนไหวของ BRN มีจุดมุ่งหมายเพื่อเสรีภาพและศักดิ์ศรีของประชาชนมลายูปาตานี ยึดมั่นในสิทธิในการกำหนดอนาคตตนเอง และยืนยันว่าจะดำเนินการภายใต้กรอบของสิทธิมนุษยชนสากลและกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ
BRN ยังเรียกร้องให้ทุกฝ่าย โดยเฉพาะรัฐบาลไทยและกลุ่มติดอาวุธ หลีกเลี่ยงการกระทำที่เป็นอันตรายต่อประชาชน พร้อมเสนอให้มีการสอบสวนเหตุการณ์ความรุนแรงอย่างโปร่งใส เพื่อสร้างความไว้วางใจและลดความตึงเครียดในพื้นที่
วันนี้ 8 พ.ค. 68 นายนิพนธ์ บุญญามณี อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ให้สัมภาษณ์ท็อปนิวส์ในรายการจับตาประเทศไทย กรณีความรุนแรงชายใต้ ที่ทวีความรุนแรงขึ้นทุกวัน ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ขณะที่การเจรากับกลุ่มบีอาร์เอ็น หลายฝ่ายเกิดคำถามว่า ไทยจะตกหลุมพรางหรือไม่ โดยเฉพาะการถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองเพื่อเสริมอำนาจต่อรอง มากกว่าที่กลุ่มดังกล่าว จะยุติความรุนแรง หรือใช้ยุทธวิธี “คุยไป-ฆ่าไป” กับไทยนั้น
ข้อความหนึ่งในแถลงการณ์ระบุชัดเจนว่า “การต่อสู้ของพวกเรามีเป้าหมายเพื่อเสรีภาพและศักดิ์ศรีของประชาชนปาตานี มิใช่เพื่อสร้างความหวาดกลัว” ก่อนจะปิดท้ายด้วยการเชิญชวนให้ทุกฝ่าย “ยืนหยัดร่วมกันด้วยสันติและปัญญา”
แถลงการณ์ฉบับนี้มีขึ้นท่ามกลางสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ที่ยังเกิดขึ้นต่อเนื่อง แม้จะมีความพยายามเจรจาสันติภาพมาอย่างยาวนานจากหลายภาคส่วน
ขณะที่การเดินหน้าเจรจาและคุมเข้มพื้นที่ชายแดนใต้ของหน่วยงานมั่นคง ยังคงดำเนินต่อไป เพื่อหวังคลี่คลายสถานการณ์ให้กลับสู่ความปกติ โดยยึดการใช้สันติวิธีนั้น
ล่าสุดวันนี้ ( 8 พ.ค.) รายการจับตาประเทศไทย ทางช่อง Top News ดำเนินรายการโดย คุณสำราญ รอดเพชร และคุณอุบลรัตน์ เถาว์น้อย ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 11.20-12.05 น. ได้สัมภาษณ์ นายนิพนธ์ บุญญามณี อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย อดีตนายก อบจ.สงขลา และอดีต สส. 8 สมัย พรรคประชาธิปัตย์ ถึงประเด็นสถานการณ์ความไม่สงบชายแดนใต้
โดยนายนิพนธ์ กล่าวว่า โจทย์หลักในการแก้ปัญหาสถานการณ์ไฟใต้ตอนนี้ ตนคิดว่าเรื่องความต่อเนื่อง ของบุคลากร ที่จะเข้ารับมือกับสถานการณ์ภาคใต้เป็นเรื่องสำคัญ ต้องยอมว่าเหตุการณ์ในภาคใต้เกือบ 1 ปีมานี้ รุนแรงกว่าเดิม หากเทียบกับ 1- 10 ที่แล้ว ซึ่งถือว่าผิดปกติ ตนอยากเห็นความต่อเนื่องการแก้ปัญหา และความเข้าใจปัญหาอย่างแท้จริง คนที่จะเข้ามาทำงานในพื้นที่ภาคใต้ ต้องพยายามไม่เปลี่ยนบ่อย เพราะหากเปลี่ยนบ่อยจะทำให้นโยบายเปลี่ยนไปทุกครั้ง รวมถึงยุทธศาสตร์และยุทธวิถีต่างๆ ก็เปลี่ยนไป รวมถึงการพยายามทำความเข้าใจกับทุกภาคส่วน เพื่อให้อยู่ร่วมกันได้ เป็นเรื่องที่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง หากเราผ่อนคันเร่งลง ปัญหาก็จะวกกลับมาอีก
เมื่อถามว่า ฝ่ายที่ก่อความไม่สงบ ซึ่งได้กระทำรุนแรงต่อผู้เปราะบาง เช่น เด็ก คนแก่ เหตุที่แท้จริงนั้นทำไปเพื่ออะไร นายนิพนธ์ กล่าวว่า ตนมองว่าช่วง 10 ปีก่อนหน้านี้ เรื่องการทำร้ายผู้บริสุทธิ์กลุ่มนี้หายไปเยอะ แต่ช่วงหลังที่เกิดขึ้นในความเห็นตน หลังจากคดีตากใบหมดอายุความ และมีการสื่อสารออกไปในลักษณะที่ว่า จะดำเนินอะไรต่อสำหรับเหตุการณ์ ที่กำลังจะขาดอายุความนั้น ตรงนี้ตอกย้ำให้รู้สึกว่า ไม่มีใครรับผิดชอบคดีตากใบเลย และจะปล่อยให้เกิดเหตุการณ์อย่างนี้หรือ มันกระทบใจส่วนหนึ่ง ซึ่งประเด็นนี้ไม่ควรให้เกิดขึ้น
ส่วนตัวเคยไปเจอฝั่งตรงข้ามที่เห็นต่าง ในประเทศเพื่อนบ้านเราซึ่งอยู่ทางทิศใต้ และได้ไปเจอมา 2-3 ครั้ง ครั้งแรกไปเจอ ดร.วันกาเดร์ เจ๊ะมัน อดีตประธานเบอร์ซาตู ซึ่งครั้งนั้นไปพร้อมกับอดีตนายกรัฐมนตรี ชวน หลีกภัย ซึ่งการไปคุยกันในวันนั้น เพื่อจะร่วมกันแก้ไขปัญหาอย่างไร กรณีของตากใบ แต่สิ่งหนึ่งที่เขาพูดคือการนำแนวทางของ ในหลวงรัชกาลที่ 9 มาใช้ คือ “เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา” เขารับได้ ถ้าเราใช้ทฤษฎีนี้อย่างจริงจัง แต่หลังจากนั้นตนไม่ทราบว่าจะเกิดอะไรขึ้น ทั้งนี้ตนคาดว่าน่าจะเกิดจาก การเปลี่ยนคู่เจรจา หรือการเปลี่ยนองค์กร ซึ่งตนมองว่าฝ่ายที่เห็นต่างกับเรานั้น ก็ยังไม่เห็นด้วยเหมือนกันหมดทุกกลุ่ม เช่น บางกลุ่มไม่ยากให้กลุ่มของตนเอง เข้ามาร่วมพูดคุยกับเรา เนื่องจากปัญหาภายในของเขา แต่ทั้งนี้ตนมองว่าเราต้องตั้งกระบวนการของเรา หรือต้องจัดทัพการเจรจากันให้ดี และสิ่งที่ลืมไม่ได้นอกจากการเจรานั้น คือการดูแลประชาชาชนในพื้นที่ ที่ต้องทำอย่างเสมอต้นเสมอปลาย โดยเฉพาะคนไทยพุทธในพื้นที่ ซึ่งกำลังขวัญเสียอยู่ รัฐต้องทำให้มั่นใจว่าจะดูแลคนทุกกลุ่มให้อยู่ร่วมกันได้สันติสุข
ส่วนกรณีที่นักวิชาการอย่าง นายสุรชาติ บำรุงสุข ที่วิเคราะห์ว่าไทยอาจติดกับดัก ขบวนการบีอาร์เอ็น ที่ว่าคุยไปฆ่าไปนั้น ตนมองว่าเรื่องนี้ฝ่ายความมั่นคง พยายามทำกันมาอย่างต่อเนื่อง แต่สิ่งที่ต้องรู้คือผู้นำของขบวนการที่เห็นต่างกับเรา ไม่จะเป็นบีอาร์เอ็น พูโล หรืออะไรก็ตามประมาณ 6-7 กลุ่ม ผู้นำที่แท้จริงนั้นคือใคร ดังนั้นหากพูดคุยกับคนที่ไม่มีอำนาจก็ไม่เกิดประโยชน์ ทั้งนี้ตนมองว่าผู้ที่เจราจาได้ ต้องเปิดหน้าไพ่คุยกันหมดทุกคนหรือไม่ ดังนั้นความไว้วางใจในการพูดคุยก็เป็นเรื่องสำคัญ ตนมองว่าก่อนจะไปถึงจุดนั้น โดยเฉพาะการพูดคุยเบื้องต้น ต้องดูแลความปลอดภัยในชีวิต และทรัพย์สินของประชาชนเสียก่อน คือเงื่อนไขข้อแรก และหากบีอาร์เอ็นจะพูดคุยกัน จะต้องไม่เกิดอันตรายต่อพี่น้องประชาชนต่อผู้บริสุทธิ์
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ข่าวล่าสุด
เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น