กมธ.สร้างสันติภาพชายแดนใต้ ประณามเหตุรุนแรง ประกาศจุดยืน 5 ข้อ แนะทุกฝ่ายมีส่วนร่วมพูดคุย เร่งแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน
ข่าวที่น่าสนใจ
7 พ.ค. 2568 ที่รัฐสภา นายจาตุรนต์ ฉายแสง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษาและเสนอแนวทางการส่งเสริมกระบวนการสร้างสันติภาพเพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เปิดเผยว่า คณะกรรมาธิการฯ อยู่ระหว่างการจัดทำรายงานข้อเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร เกี่ยวกับการที่จะแก้ปัญหาความขัดแย้งสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ สร้างสันติภาพอย่างยั่งยืน ซึ่งจะเป็นข้อเสนอในเชิงภาพรวมในการแก้ปัญหาทั้งระยะสั้น และระยะยาว จะเน้นการแก้ปัญหาในภาพรวมและระยะยาว ที่ผ่านมาคณะกรรมธิการฯ ไม่ค่อยพิจารณาและแสดงความคิดเห็นต่อเฉพาะเรื่องหรือเหตุการณ์เฉพาะหน้า แต่กรณีความรุนแรงที่เพิ่งเกิดขึ้นในช่วงหลัง ๆ นี้เป็นเรื่องที่ประชาชนให้ความสนใจอย่างมาก และเป็นเหตุการณ์ที่สะเทือนใจ รวมถึงประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็มีความกังวลในเรื่องความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ขณะที่ประชาชนทั่วประเทศก็มีความกังวลว่า ความไม่สงบ ความรุนแรงที่เคยเกิดขึ้นในอดีตจะกลับหวนคืนมาอีก หรือจะลุกลามบานปลาย
โดยมีคณะกรรมาธิการฯ หลายคนที่ติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิดและได้หารือกันเพื่อจะแสดงความคิดเห็นที่คิดว่าเป็นประโยชน์ต่อการแก้ปัญหา ที่คิดว่าจะทำให้เกิดการตั้งสติ เพื่อให้สังคมไทยมาช่วยกันคิดหาทางออกจากปัญหาวิกฤติครั้งนี้
วันนี้เราจะพิจารณาเรื่องที่เกี่ยวกับการให้ความคุ้มครองความปลอดภัยแก่ประชาชน และนำกรณีดังกล่าวเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมโดยเร็วที่สุด โดยที่กระบวนการยุติธรรมนี้เป็นไปอย่างสอดคล้องกับหลักนิติธรรม เราได้พิจารณาในเรื่องที่จะทำให้การเกิดความร่วมมือของทุกฝ่าย ทุกภาคส่วน ในการพูดคุยสันติภาพ ซึ่งทราบว่าทางรัฐบาลขณะนี้ก็มีความคิดและนโยบายที่จะดำเนินการพูดคุยต่อ ซึ่งกระบวนการพูดคุยสันติภาพเริ่มขึ้นอย่างเป็นทางการ และเป็นกิจลักษณะในปี 2556 และยังคงมีอยู่ เพียงแต่มีการหยุดชะงักในการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพูดคุย เนื่องจากเมื่อเปลี่ยนนายกรัฐมนตรีก็ต้องตั้งคณะกรรมการขึ้นมาใหม่ตามระเบียบบริหารราชการของรัฐบาลใหม่ บัดนี้เมื่อรัฐบาลจะดำเนินการเรื่องนี้ต่อ ทางกรรมาธิการก็มีความเห็นมาตลอดว่าการพูดคุย เป็นกลไกสำคัญที่จะเป็นประโยชน์ต่อการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งและความรุนแรง และเราก็สนับสนุนเรื่องนี้ รวมทั้งอยากให้สังคมเกิดความเข้าใจว่าปัญหาความขัดแย้ง ความไม่สงบในพื้นที่ภาคใต้ เป็นเรื่องที่ซับซ้อนและสะสมกันมาเป็นเวลายาวนาน มีปัญหาในหลายด้าน ซึ่งหลายฝ่ายก็กำลังพูดถึงการทบทวนการพิจารณาว่าการแก้ปัญหาต่างๆ ไม่ประสบความสำเร็จหรือประสบความสำเร็จมากน้อยแค่ไหน และเป็นเพราะเหตุใด ซึ่งนี่เป็นเรื่องที่เราจะทำรายงานเพื่อทำข้อเสนอต่อสภาฯ และส่งไปยังรัฐบาลต่อไป
ด้านนางสาวพรรณิการ์ วานิช กรรมการบริหารคณะก้าวหน้า ในฐานะโฆษกคณะกรรมการธิการฯ ได้อ่านแถลงการณ์ของคณะกรรมาธิการฯ ต่อความรุนแรงระลอกล่าสุดในพื้นที่ชายแดนใต้ โดยระบุว่า จากเหตุการณ์ความรุนแรงที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในพื้นที่ชายแดนใต้ โดยมีการสังหารพลเรือน เด็ก ผู้สูงอายุ ผู้พิการ รวมถึงพระสงฆ์ในศาสนาพุทธและครูสอนศาสนาอิสลาม ซึ่งได้สร้างความสะเทือนใจประชาชนในวงกว้างและทำให้สถานการณ์ชายแดนใต้อยู่ในภาวะเปราะบางอย่างยิ่ง ประชาชนในพื้นที่ต้องอยู่ในภาวะหวาดระแวง วิตกกังวลต่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ในสภาวะเช่นนี้ การใช้สติและเหตุผลในการเผชิญเหตุเป็นสิ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพื่อยุติความรุนแรงและแสวงหาทางออกอย่างสันติวิธี
คณะกรรมาธิการฯ ขอแสดงจุดยืนต่อสถานการณ์ ดังนี้
1.คณะกรรมาธิการฯ ขอประณามการใช้ความรุนแรงในทุกรูปแบบและขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อทุกความสูญเสีย เราขอให้หยุดการกระทำดังกล่าวโดยทันที เพราะการใช้ความรุนแรงไม่เพียงขัดต่อหลักกฎหมาย หลักสิทธิมนุษยชน หลักการทาง มนุษยธรรม แต่ยังบ่อนทำลายกระบวนการสร้างสันติภาพอย่างรุนแรง
2.คณะกรรมาธิการฯ ยืนยันว่า ต้องมีการนำผู้กระทำผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธธรรมโดยเร็ว
ที่สุด และดำเนินการตามหลักนิติธรรมและความโปร่งใส การให้ความเป็นธรรมต่อประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงในทุกภาคส่วน ซึ่งจะเป็นบันไดขั้นแรกสู่การคลี่คลายสถานการณ์
ลดความหวาดวิตก ไม่ไว้วางใจกันในพื้นที่
3.คณะกรรมาธิการฯ ขอให้เจ้าหน้าที่รัฐดำเนินมาตรการอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อให้ความคุ้มครองและความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน
4.คณะกรรมาธิการฯ ขอสนับสนุนให้ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วมในการพูดคุย
สันติภาพ เพื่อยุติความรุนแรงและสร้างบรรยากาศเพื่อนำไปสู่การแสวงหาทางออกทางการเมืองร่วมกันอย่างสันติภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญ
5.คณะกรรมาธิการฯ ตระหนักว่าปัญหาความขัดแย้งรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้
มีความชับช้อนและต้องการแนวทางการสร้างสันติภาพในหลากหลายมิติ รวมทั้งต้องการการมีส่วนร่วมของประชาชนในทุกภาคส่วน คณะกรรมาธิการฯ กำลังเร่งจัดทำรายงานที่ครอบคลุมข้อเสนอทั้งระยะสั้นและระยะยาวอย่างเป็นระบบ เพื่อการสร้างสันติภาพในชายแดนใต้อย่างยั่งยืน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ข่าวล่าสุด
เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น