กยศ. แจงปมดราม่า สาเหตุเพิ่มจำนวนหักเงินเดือนบัญชีละ 3,000 บาท พร้อมเผยวิธีแก้ไข
ข่าวที่น่าสนใจ
จากกรณีผู้กู้ยืม กยศ. หรือกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา ได้ออกมาโพสต์โอดครวญว่า กยศ.ได้ส่งอีเมลให้นายจ้างทุกบริษัท ถึงลูกหนี้ในองค์กร เรื่องการหักเงินลูกหนนี้เพิ่มคนละ 3,000 บาท ตั้งแต่เดือนเมษายน 2568 เป็นต้นไป ตัวอย่างเช่น
– กรณีมียอดยอดหนี้ค้างชำระ 5,000 บาท และงวดปัจจุบันแจ้งหักเงินเดือน 1,000 บาท กองทุนฯ จะแจ้งหักเงินเดือน 1,000 + 3,000 = 4,000 บาท
– กรณีมียอดยอดหนี้ค้างชำระ 2,500 บาท และงวดปัจจุบันแจ้งหักเงินเดือน 1,000 บาท กองทุนฯ จะแจ้งหักเงินเดือน 1,000 + 2,500 = 3,500 บาท
โดยกองทุนฯ จะทำการหักเงินจนกว่าผู้กู้ยืมจะชำระยอดหนี้ที่ค้างชำระเสร็จสิ้น หรือได้มีการทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ กยศ. 2568 กับกองทุนฯ เรียบร้อยแล้ว
ล่าสุดทางด้านดร.นันทวัน วงศ์ขจรกิตติ ผู้จัดการ กยศ. ชี้แจงว่า ตามที่ กยศ. ได้แจ้งนายจ้างให้หักเงินเดือนผู้กู้ยืมที่ค้างชำระหนี้เพิ่มอีก 3,000 บาทนั้น เนื่องด้วย กยศ. ได้ดำเนินการติดตามหนี้ผู้กู้ยืมทุกรายที่ยังมียอดหนี้ค้างชำระ ซึ่งรวมถึงผู้กู้ยืมที่อยู่ในระบบหักเงินเดือน โดยก่อนหน้านี้ กยศ. ได้แจ้งหักเงินเดือนซึ่งไม่ได้นำยอดหนี้ค้างชำระเดิมของผู้กู้ยืมมารวมในการแจ้งหักเงินเดือนด้วย และได้แจ้งให้ผู้กู้ยืมมีหน้าที่ชำระเงินยอดหนี้ค้างชำระด้วยตนเองให้ครบถ้วน แต่ผู้กู้ยืมบางรายไม่ได้ชำระเงินดังกล่าว จึงทำให้มียอดหนี้ค้างสะสม และบางรายได้ขอลดจำนวนเงินหักเงินเดือน แต่ไม่ได้ชำระส่วนต่างให้ครบถ้วนภายในวันที่ 5 กรกฎาคมของงวดปีนั้น ๆ
ดังนั้น กยศ. จึงมีความจำเป็นในการเพิ่มจำนวนเงินที่หักต่อเดือนบัญชีละ 3,000 บาท ซึ่ง กยศ. ได้จัดส่งหนังสือแจ้งไปยังที่อยู่ตามทะเบียนราษฎร์ให้ผู้กู้ยืมและได้ส่งอีเมลให้นายจ้างทราบแล้ว โดยสามารถตรวจสอบยอดหนี้ค้างชำระได้ด้วยตนเองผ่านแอป กยศ.Connect ทั้งนี้ กยศ. ขอเชิญชวนให้ผู้กู้ยืมที่มียอดหนี้ที่ค้างชำระมาปรับโครงสร้างหนี้ออนไลน์ได้ด้วยตนเองผ่านเว็บไซต์ www.studentloan.or.th เพื่อได้รับสิทธิขยายระยะเวลาผ่อนชำระอีก 15 ปี ปลดภาระผู้ค้ำประกันและลดเบี้ยปรับ 100% ซึ่งจะทำให้การแจ้งหักเงินเดือนในเดือนถัดไปมียอดที่ลดลงตามเงื่อนไขในสัญญาปรับโครงสร้างหนี้
กยศ. ได้อธิบายเพิ่มเติมด้วยว่า 1.ทำไมเดือนนี้มีจำนวนเงินแจ้งหักเพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้กู้ยืมมียอดค้างชำระหนี้นาน และมิได้ไปชำระยอดหนี้ที่ค้าง ดังนั้นกองทุนจึงแจ้งเพิ่มจำนวนเงินบัญชีละ 3,000 บาท
2.จะหักเงิน 3,000 บาท ไปถึงเมื่อไหร่ ? กองทุนฯ จะหักเงินเดือนไปจนกว่า ผู้กู้ยืมทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้กับกองทุน หรือ ชำระยอดค้างจนเสร็จสิ้น
3.มีการหักเงินเดือนทุกเดือน ทำไมยังมีหนี้ยอดค้างชำระ ผู้กู้ยืมมียอดหนี้ค้างชำระที่เกิดขึ้นก่อนหักเงินเดือน หรือในระหว่างการหักเงินเดือนมีการปรับลดจำนวนเงิน ซึ่งผู้กู้ยืมเงินยังไม่ได้ชำระส่วนที่ค้างหรือส่วนต่าง จึงทำให้เกิดเป็นยอดหนี้ค้างชำระ
4.กองทุนมีการแจ้งให้ผู้กู้ยืมทราบหรือไม่ กองทุนแจ้งให้ทราบเป็นหนังสือ จัดส่งตามที่อยู่ทะเบียนราษฎร แจ้งผ่านไลน์ และแจ้งผ่านโนติ แอปฯ กยศ.Connect
ส่วนวิธีแก้ไม่ให้ถูก หักเงิน กยศ. 3,000 บาท ถ้าไม่ต้องการให้นายจ้างหักเงินตามที่กองทุนฯ แจ้งในเดือนนี้ ต้องทำอย่างไร ผู้กู้ยืมสามารถเลือกปฏิบัติ ตามข้อใดข้อหนึ่ง ดังนี้
1.ดำเนินการขอปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อลดจำนวนการผ่อนชำระต่อเดือน ,ขยายระยะเวลาผ่อน ,ลดเบี้ยปรับให้ 100% และปลดผู้ค้ำประกันให้ โดยกองทุนจะแจ้งจำนวนเงินการหักเงินเดือนตามยอดผ่อนชำระใหม่ ในเดือนถัดจากเดือนที่ผู้กู้ยืมได้ปรับโครงสร้างหนี้แล้ว เช่น ในกรณีที่ท่านทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ ภายในเดือนเมษายน 2568 กองทุนจะแจ้งยอดผ่อนชำระใหม่ ในเดือนพฤษภาคม 2568ดังนั้น เดือนเมษายน 2568 นี้ ท่านจะถูกหักเงินเดือนเพิ่ม 3,000 บาท เพียง 1 เดือน เท่านั้น
2.ชำระยอดหนี้ค้างให้เสร็จสิ้น หากผู้กู้ยืมชำระแล้ว ให้ผู้กู้ยืมเงินนำหลักฐานการชำระแจ้งต่อนายจ้างแล้วให้นายจ้างลบยอดออก 3,000 บาท จากยอดหักเงินเดือนในเมษายน 2568 ได้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ข่าวล่าสุด
เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น