กระแสความไม่พอใจของชาวเกาหลีใต้ ที่มีต่อการประกาศกฎอัยการศึกอย่างกะทันหัน และอย่างไม่เหมาะสมของประธานาธิบดี ยุน ซอก ยอล มีมากพอ ๆ กับเมื่อครั้งที่มวลชนลงถนนทุกสัปดาห์ ในปี 2559 เพื่อกดดันให้ถอดถอน พัค คึน เฮ ผู้นำหญิงในเวลานั้น จากข้อหาใช้อำนาจมิชอบและทุจริต แต่การโหวตญัตติถอดถอนประธานาธิบดีออกจากตำแหน่ง หรือ อิมพีชเมนต์ กลับออกมาแตกต่างกัน ส.ส. พรรครัฐบาลส่วนใหญ่ในเวลานั้น โหวตสนับสนุนถอดถอน พัค คึน เฮ ส่วน ประธานาธิบดียุน กลับรอด ด้วยการที่ ส.ส.พรรครัฐบาลบอยคอต ทำให้ฝ่ายค้านมีเสียงไม่พอ
โคเรีย ไทมส์ สื่อเกาหลีใต้ รายงานว่า สิ่งที่ทำให้แตกต่างกันคือ ความกลัวว่าพรรคจะย่อยยับ อย่างที่เคยเกิดขึ้น หลังการขับผู้นำหญิงออกจากตำแหน่ง หยิบยื่นความได้เปรียบให้กับพรรคฝ่ายค้าน หากจัดการเลือกตั้งก่อนกำหนด กรณีประธานาธิบดียุนถูกถอดถอน
หลังจากพัค คึน เฮ ถูกถอดถอนในเดือนธันวาคม 2559 พรรคเซนูรี ซึ่งเป็นชื่อของพรรครัฐบาลในเวลานั้น แพ้เลือกตั้งแบบหมดรูป เพราะประชาชนเสื่อมศรัทธา ทั้งยังทำให้ฝ่ายอนุรักษ์นิยมแตกแยก ฝ่ายต่อต้านประธานาธิบดีหญิงหนุนอิมพีชเมนต์ และแยกตัวออกจากพรรคไปตั้งพรรคใหม่ ชื่อว่า พรรคบารึน ส่วนสมาชิกพรรคเซนูรี ที่เหลืออยู่ ก็เปลี่ยนชื่อเป็น พรรคเสรีภาพเกาหลี แต่ทั้งสองพรรคใหม่ในร่างอนุรักษ์นิยมเดิม ต่างก็มีคะแนนนิยมแค่เลขตัวเดียว จนใกล้เลือกตั้งในเดือนพฤษภาคม 2560 และผลปรากฏว่า มูน แจ อิน จากพรรคประชาธิปไตยแห่งเกาหลี หรือ DPK ชนะเลือกตั้งขึ้นเป็นประธานาธิบดี ต่อมา สองพรรคสายอนุรักษ์นิยม กลับมารวมตัวกันใหม่เป็นพรรคพลังประชาชน หรือ PPP ในปัจจุบัน
PPP ต้องดิ้นรนกอบกู้ศรัทธาอยู่เป็นเวลานาน เมื่อเข้าสู่การเลือกตั้งทั่วไปเมื่อเดือนเมษายน 2563 ได้ที่นั่งแค่ 1 ใน 3 จาก 300 ที่นั่ง นอกจากแพ้ศึกเลือกตั้ง บรรดานักการเมืองอนุรักษ์นิยมหลายคนที่ถูกตีตราว่าเป็นคนใกล้ชิดของประธานาธิบดีพัค คึน เฮ ยังถูกสอบสวนว่า มีส่วนร่วมกับการทุจริต บางคนต้องอำลาการเมืองไปในที่สุด
หากญัตติถอดถอนผ่านสภา และศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเห็นพ้อง ตามด้วยการจัดการเลือกตั้งใน 60 วันหลังประธานาธิบดีพ้นจากตำแหน่ง อี แจ มยอง ผู้นำพรรคฝ่ายค้าน DPK จะมีโอกาสสูงสำหรับตำแหน่งประธานาธิบดีคนต่อไป หลังจากเคยแพ้เลือกตั้ง ยุน ซอก ยอล แบบเฉือนกันแค่ 0.73% / เพื่อป้องกันประวัติศาสตร์ซ้ำรอย พรรครัฐบาลจึงต้องการรักษาอำนาจไว้ก่อน อย่างน้อยที่สุด ก็จนกว่าศาลฎีกาจะมีคำพิพากษาคดีหนึ่ง ที่จะชี้ชะตาว่าผู้นำฝ่ายค้าน จะถูกตัดสิทธิ์ลงสมัครประธานาธิบดีหรือไม่
คิม คี ฮยอน ส.ส.พรรค PPP ที่ภักดีกับประธานาธิบดียุน เขียนบนเฟซบุ๊กเมื่อวันศุกร์ที่แล้วว่า เมื่อตอนที่พัค คึน เฮ ถูกถอดถอน เราเผชิญกับความสับสน ความแตกแยกภายในชาติ และความเสียหายระดับชาติตามมา หากพรรคถอดถอนประธานาธิบดีที่เราเลือกมาเอง คงจะไม่มีหน้าไปขอให้ประชาชนเลือกฝ่ายอนุรักษ์นิยมอีกในครั้งหน้า