ระหว่างให้สัมภาษณ์บนเวทีประชุมสมาคมผู้สื่อข่าวผิวดำแห่งชาติ (National Association of Black Journalists) ที่นครชิกาโก รัฐอิลลินอยส์ วันที่ 31 กรกฎาคมตามเวลาท้องถิ่น อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ โจมตีเรื่องเชื้อชาติของรองประธานาธิบดี กมลา แฮร์ริส ว่า เขาไม่เคยรู้มาก่อนว่าเธอเป็นคนผิวดำ แฮร์ริสเป็นอินเดียมาตลอด แต่ไม่กี่ปีก่อน จู่ ๆ เปลี่ยนตัวตนเป็นคนผิวดำ และเวลานี้ เธอต้องการให้เป็นที่รู้จักว่าเป็นคนผิวดำ ตกลงเธอเป็นอินเดียหรือผิวดำกันแน่
สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานว่า ทรัมป์กล่าวหาอย่างผิด ๆ เพราะเป็นที่รับรู้กันมานานแล้วว่า แฮร์ริสเป็นรองประธานาธิบดีหญิงคนแรก เชื้อสายเอเชียคนแรก และผิวดำคนแรก คุณแม่ของเธอเป็นชาวอินเดีย คุณพ่อเป็นจาไมกา ทั้งสองอพยพไปสหรัฐ แฮร์ริสเกิดที่โอ๊คแลนด์ รัฐแคลิฟอร์เนีย ศึกษาที่ โฮเวิร์ด ยูนิเวอร์สตี้ ในวอชิงตัน ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นสถาบันการศึกษาของคนผิวดำ
ในวันเดียวกัน ทรัมป์ เดินทางไปหาเสียงที่รัฐเพนซิลเวเนีย รัฐสมรภูมิที่เขารอดชีวิตจากความพยายามลอบสังหารฉิวเฉียด และได้โจมตีแฮร์ริสในเรื่องเดิมว่า ทุกอย่างที่เกี่ยวกับการเปิดตัวของกมลา แฮร์ริส เป็นเรื่องหลอกลวงทั้งนั้น และกล่าวหาคู่แข่งด้วยว่า พยายามพูดสำเนียงทางใต้ตอนปราศรัยหาเสียงที่นครแอตแลนตา รัฐจอร์เจีย เมื่อวันอังคาร (30 ก.ค.)
ขณะที่แฮร์ริส ปราศรัยที่ฮูสตัน รัฐเท็กซัส ตอบโต้การโจมตีของทรัมป์ว่า เป็นมุกดูหมิ่นและจุดความแตกแยกแบบเดิม ๆ ของทรัมป์ ชาวอเมริกันควรได้รับสิ่งที่ดีกว่านี้ ควรได้ผู้นำที่พูดความจริง ผู้นำที่เข้าใจว่า ความแตกต่าง ไม่ได้ทำให้แตกแยก ความแตกต่างคือขุมพลังสำคัญแห่งความเข้มแข็ง
ทั้งนี้ ทรัมป์ กำลังพยายามวางกลยุทธใหม่ สู้กับคู่แข่งที่เปลี่ยนตัวกลางคัน จากประธานาธิบดีโจ ไบเดน มาเป็น กมลา แฮร์ริส วัย 59 ที่ทำคะแนนนิยมดีวันดีคืนและสูสีในรัฐสมรภูมิ รวมถึงพยายามเรียกคะแนนจากชาวอเมริกันผิวดำ ขณะเหลือเวลาไม่ถึงร้อยวันก็จะถึงวันเลือกตั้ง ความเห็นเรื่องเชื้อชาติของคู่แข่ง น่าจะส่งแรงกระเพื่อมไปตลอดศึกหาเสียงเลือกตั้งชิงเก้าอี้ทำเนียบขาวในปีนี้