BBC รายงานว่าไมโครซอฟต์ซึ่งมีส่วนร่วมในการกู้ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งได้รับผลกระทบจากไอทีล่มทั่วโลกเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (19 กค.) ได้แถลงผ่านบล็อคเมื่อวานนี้ (เสาร์ที่ 20 กค.) ประมาณการณ์ว่ามีคอมพิวเตอร์ได้รับผลกระทบทั้งสิ้นราว 8 ล้าน 5 แสนเครื่อง ซึ่งเหตุขัดข้องทางไซเบอร์ครั้งนี้เกิดจากการอัพเดพซอฟต์แวร์ด้านระบบตรวจจับภัยคุกคามทางไซเบอร์ขั้นสูงของบริษัทด้านความมั่นคง “คราวด์สไตรค์ “ ที่เกิดข้อบกพร่องขึ้นมา ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการบิน, การธนาคาร, ตลาดหุ้น, การสื่อสารโทรคมนาคม ที่เชื่อมต่อระบบปฎิบัติการวินโดว์ของไมโครซอฟต์
เดวิด เวสต์ตัน รองประธานคราวด์สไตรค์กล่าวว่าจำนวนคอมพิวเตอร์ที่ได้รับผลกระทบมีน้อยกว่า 1% แต่ผลกระทบด้านเศรษฐกิจและสังคมเป็นวงกว้างทั่วโลก สะท้อนให้เห็นถึงการใช้ซอฟต์แวร์ของคราวด์สไตรค์ในองค์กรที่ให้บริการในอุตสาหกรรมสำคัญๆของโลก นอกจากนี้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นยังสะท้อนถึงความสำคัญของบริษัทผู้ให้บริการด้านเทคโนโลยีที่ต้องตรวจสอบคุณภาพของการอัพเดทข้อมูลก่อนที่จะส่งต่อไปยังสำนักงานทั่วโลก ตลอดจนเป็นบทเรียนให้กับบริษัทเหล่านี้ว่าต้องให้ความสำคัญเรื่องความปลอดภัยของการติดตั้งและการกู้คืนหรือแก้ไขระบบ
ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญมองว่าเหตุไอทีล่มครั้งนี้น่าจะเป็นเหตุขัดข้องทางไซเบอร์ครั้งเลวร้ายที่สุดในประวัตศาสตร์โลก โดยเหตุโจมตีทางไซเบอร์ครั้งใหญ่ก่อนหน้านี้ที่เรียกว่า “วันนะคราย” (WannaCry) หรือมัลแวร์เรียกค่าไถ่ ในปี 2560 คาดว่ามีคอมพิวเตอร์ได้รับผลกระทบประมาณ 3 แสนเครื่องใน 150 ประเทศทั่วโลก
อย่างไรก็ตาม ระบบไอทีล่มเมื่อวันศุกร์กลับส่งผลกระทบต่อจีนน้อยมาก ซึ่งเหตุผลง่ายๆคือมีเพียงไม่กี่บริษัทในจีนที่ใช้ซอฟต์แวร์ของคราวด์สไตรค์ เนื่องจากคราวด์สไตรค์ซึ่งเป็นบริษัทสัญชาติอเมริกันเคยกล่าวหาจีนว่าเป็นภัยคุกคามด้านความมั่นคงทางไซเบอร์ ทำให้หน่วยงานและองค์กรต่างๆของจีนพากันพึ่งพาซอฟต์แวร์ในประเทศที่พัฒนากันเองโดยอาลีบาบา, เทนเซนต์และหัวเว่ย
ดังนั้น ปัญหาที่เกิดขึ้นในจีนล้วนเกิดขึันกับองค์กรและบริษัทระหว่างประเทศ โรงแรมเชนต่างชาติอย่างเชอราตัน, แมริออตและไฮแอ็ท ขณะที่ระบบการบริการสำคัญๆอย่างการธนาคารและสายการบินต่างไม่ได้รับผลกระทบ ซึ่งตอกย้ำให้เห็นว่าการที่จีนหลีกเลี่ยงการพึ่งพาระบบไอทีต่างชาติเพื่อเหตุผลด้านมั่นคงเป็นความคิดที่ถูกต้องแล้ว