“สถาพร เกื้อสกุล” ยากจน เกิดในเกาะ บ้านไม่มีไฟฟ้า เก็บขยะขาย ดิ้นรนหาเงิน เรียนเก่งเกียรตินิยมอันดับ 1

ยากจน เกิดในเกาะ บ้านไม่มีไฟฟ้า เก็บขยะขาย กว่าจะจบปริญญาตรี กับชีวิตที่ต้องสู้เพื่อโอกาสทางการศึกษา ของ "สถาพร เกื้อสกุล" พ่อแม่จนมาก มีกำลังให้เรียนได้แค่ ป.6 ก่อนจะหาโอกาสผลักดันตัวเองเรียนต่อจนจบ ป.ตรี สมองดีได้เป็นนักศึกษารางวัลพระราชทาน คว้าเกียรตินิยมอันดับ 1 ในที่สุด

“ใครจะไปรู้ว่า….” กว่าจะมาเป็นคนเบื้องหน้า นั่งเล่าข่าวจนติดลมบน เทียบชั้นกลายเป็น “ผู้ประกาศโด่งดังหน้าจอ” อย่าง สถาพร เกื้อสกุล” ผู้ประกาศข่าวช่อง Top News JKN18  เค้าได้ผ่านการต่อสู้ชีวิตที่มีกระบวนการความคิดมาอย่างโชกโชน  และตั้งมั่นด้วยความมุมานะ เพียรพยายาม  เริ่มต้นชีวิตจากเด็กบ้านนอกธรรมดาๆ  ที่ลืมตาดูโลกบน “เกาะเต่า” เกาะเล็กๆ ในจังหวัดสุราษฎร์ธานี  “สถาพร” คนนี้ ต้องดิ้นรนช่วยครอบครัวทุกอย่าง ทั้งรับจ้างปอกมะพร้าว หาเศษขยะที่ลอยมากับคลื่นลมทะเลนำไปขาย เพื่อหาเงินไว้เรียนหนังสือ ดำรงตัวอยู่รอดด้วยความ “ปากกัดตีนถีบ” ต้องทำทุกงาน เพื่อแลกกับเงินจุนเจือตัวเองและครอบครัว

 

สถาพร เกื้อสกุล

 

“สถาพร เกื้อสกุล” ในฐานะประธานเปิดงาน “Vision Talk 2024  ชัยภูมิ” ครั้งที่ 1 ที่จัดขึ้น ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏชัยภูมิ   โดยความร่วมมือระหว่าง กระทรวงอุดมศึกษา  วิทยาศาตร์  วิจัยและนวัตกรรม  และ บริษัท ท็อปนิวส์ ดิจิตัล มีเดีย จำกัด  “สถาพร” บอกกับเราว่า การเข้ามามีส่วนร่วมในงานรับฟังการถ่ายทอดประสบการณ์จริงจากแขกรับเชิญ ทำให้ภาพในอดีตของเค้าเองฉายชัดเจนขึ้นมาในใจอีกครั้ง  โดยเฉพาะเรื่องของ “โอกาส และ สิ่งดีๆ” ที่ไม่เคยมีใครหยิบยื่นให้ แต่เมื่อหันกลับมามอง “เด็กในยุคปัจจุบัน” มีโอกาสทางการศึกษา และ การเรียนรู้ที่มากกว่า หลากหลายมากขึัน  และ  “สถาพร”  ได้เล่าย้อนประสบการณ์ตรง ที่ถ่ายทอดมาจากชีวิตจริง สอดแทรกแง่คิดไว้ได้อย่างน่าสนใจมาก

 

 

ข่าวที่น่าสนใจ

  • เกิดใน “เกาะเต่า” สุดธุรกันดาร จบ ป.6 ทำเรือประมง

“ผมเป็นคนจังหวัดสุราษฎร์ธานี  โดยเกิดที่ ต.เกาะเต่า อ.เกาะพะงัน จ.สุราษฎร์ธานี เมื่อ 45 ปีที่แล้วเกาะเต่า ไม่มีใครรู้จัก ถ้ารู้จักก็รู้ว่านี่คือสถานที่คุมขังนักโทษ และเป็นพื้นที่ทุรกันดาร ไม่มีไฟฟ้าไม่มีถนน โรงเรียนประจำตำบล มีแค่ ป.6 นักเรียนทั้งระดับมีไม่กี่สิบคน  เกิดมาในครอบครัวที่ยากจน พ่อแม่ จบป.4  ถึงเวลาเข้าเรียน ก็เข้าเรียนที่โรงเรียนบ้านเกาะเต่า ตอนเรียนประถมศึกษา ก็พอเอาตัวรอดได้ เป็นประธานนักเรียน ตอนชั้น ป.5-ป.6 แต่ด้วยความไม่พร้อมของครอบครัว วันหยุด ก็ต้องทำงานหาเงิน รับจ้างปอกมะพร้าวบ้าง หาเศษขยะ ที่ลอยมากับคลื่นลมทะเลบ้าง เพื่อไปขาย หาเงินไว้เรียนหนังสือ อะไรที่ทำได้เงินทำหมด

 

“สถาพร” เล่าให้เราฟังด้วยว่า  จนกระทั่งจบ ป.6 ก็ไม่ได้เรียนต่อมัธยมศึกษา เพราะที่บ้านไม่มีเงินส่งให้เรียน  ก็ออกจากโรงเรียนเพื่อออกเรือกับพ่อ ทำประมง 1 ปีที่ออกเรือได้ประสบการณ์ชีวิตมากมาย จนกระทั่งวันหนึ่ง น้องชายของย่า เสียชีวิตที่ เกาะพะงัน เขาก็ให้มาบวชหน้าไฟ  ก็เลยมาบวชเป็นสามเณร ที่วัดมะเดื่อหวาน อ.เกาะพะงัน ในช่วงที่บวชนั้นปรากฎว่ามี สามเณร 2 องค์ ที่เพิ่งจบ ป.6 มา และมาบวช ก่อนไปสอบเข้าโรงเรียนมัธยมประจำอำเภอ  ตอนเขาไปสอบ ก็เลยตามเขาไปสอบด้วย ทั้งที่ไม่ได้อ่านหนังสืออะไรเลย ผลสอบออกมาปรากฎว่า ได้อันดับที่ 6 ของอำเภอ

 

“ย่าก็เลยบอกกับพ่อว่า อย่างไรก็คงต้องให้เราเรียนต่อมัธยมศึกษา ตอนเรียนมัธยมศึกษา ก็อาศัยอยู่ที่วัดเขาถ้ำ ซึ่งตอนนั้นที่เกาะพะงันเริ่มมีฝรั่งเข้าไปบ้างแล้ว และที่วัดเขาถ้ำ ก็เปิดสอนธรรมะ และ กรรมฐานให้กับฝรั่ง เราก็อาศัยที่วัดแห่งนี้ เพราะอยู่ใกล้โรงเรียน ก่อนไปเรียนก็ไปหิ้วปิ่นโตตามพระบิณฑบาตร เสาร์อาทิตย์ ก็ช่วยที่วัด”

 

 

  • เรียนดีจน “ได้โควตา” เลือกต่อ สายอาชีวะ ได้ รับทุนการศึกษามูลนิธิสำนึกรักบ้านเกิด

“จนกระทั่งจบ ม.3  ก็ได้โควต้าเรียนต่อ ระดับ ปวช. โดยมีให้เลือก 2 ที่ ที่แรก คือวิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานี อีกที คือ วิทยาลัยอาชีวศึกษาสุราษฎร์ธานี ตอนนั้นตัดสินใจเลือก เรียนสาขาบัญชี วิทยาลัยอาชีวศึกษาสุราษฎร์ธานี เหตุผลคือ 1 เรียนสายอาชีพ จบ ปวช. ถ้าไม่มีเงินเรียนต่อก็พอประกอบอาชีพได้ 2 เลือกอาชีวะ แทนจะเลือกเทคนิค เพราะคิดว่าอาชีวะ มีเพื่อนนักศึกษาผู้หญิงเยอะ เราจะได้ไม่เกเร สมัยนั้นเด็กเทคนิคมักจะมีเรื่องชกต่อย ระหว่างสถาบันกันเยอะมาก เราก็กลัวว่าจะเรียนไม่จบ”

 

“สถาพร” ย้อนวันวานให้เราฟังว่า เมื่อครั้งมาเรียนอาชีวศึกษาสุราษฎร์ธานี วันแรกที่ไปปฐมนิเทศ เกิดความประทับใจ กับนายกองค์การนักศึกษา ชื่อว่า “พี่เฮง” เขาเดินขึ้นบนเวที มาเจอน้อง ๆ เรามีความรู้สึกว่าสมาร์ท เท่ อยากเป็นแบบเขาบ้าง ก็บอกกับตัวเองว่าสักวันจะเป็นแบบเขาคือจะเป็นนายกองค์การนักศึกษาบ้าง ซึ่งตอนนั้นยังไม่รู้ต้องทำอย่างไร  อาชีวศึกษาสุราษฎร์ธานี มีนักศึกษาตั้งแต่ระดับ ปวช. ไปจนถึง ปวส.  พอเรียนจนใกล้จะจบ ปวช.1 เขาประกาศรับสมัครองค์การนักศึกษา  เราก็ได้เดินความฝัน ก็ลงสมัคร ทั้งที่ยังไม่จบ ปวช. 1 ซึ่งต้องลงแข่งขันกับรุ่นพี่ ระดับ ปวช.2 ปวช.3 และ ปวส. 1

 

“ในช่วงเวลานั้น เราได้รับการคัดเลือกจากจังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็น 1 ใน 6 คนของจังหวัด เพื่อรับทุนการศึกษาของมูลนิธิสำนึกรักบ้านเกิด ที่มีคุณบุญชัย เบญจรงคกุล เป็นประธานมูลนิธิ มีคุณสนธิญาณ ชื่นฤทัยในธรรม เป็นเลขามูลนิธิ  ซึ่งทุนนี้มอบให้นักเรียน ทุกจังหวัดทั่วประเทศ เริ่มต้นจังหวัดละ 6 คน คืออยู่ในระดับมัธยม หรือเทียบเท่า ม.1- ม.6  หลังจากได้รับคัดเลือก ก็ต้องมาเจอเพื่อนทุกจังหวัดที่ค่าสิทธิศึกษา จ.กาญจบุรี ปรากฎว่า เราได้รับคัดเลือกเป็นประธานโครงการคนแรก ของโครงการนี้”

 

 

  • ทำฝันสำเร็จ คว้าตำแหน่ง “นายกองค์การนักศึกษา” ได้รับรางวัลพระราชทาน

“สถาพร”  เล่าต่อว่า จากการได้รับทุน และ ได้รับเลือกเป็นประธานโครงการ ทำให้เรามีชื่อเสียงในสถาบัน ส่งผลต่อการเลือกตั้งนายกองค์การนักศึกษา ผลของการเลือกตั้งปรากฎว่า เราชนะเลือกตั้ง ได้เป็นนายกองค์การนักศึกษา ตั้งแต่ยังไม่จบ ปวช.1 เป็นเรื่องที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เราก็ทำงานในฐานนะนายกองค์การนักศึกษา ตอนเรียน ปวช.2 ต้องเป็นตัวแทนไปประชุมระดับภาคใต้ และในระดับภาค เราก็ได้รับคัดเลือกเป็นคณะกรรมการองค์การนักศึกษาระดับภาคใต้ ก็ยิ่งทำให้เป็นที่รู้จักของเพื่อนนักศึกษามากขึ้น

 

“จนกระทั่งวิทยาลัยอาชีวศึกษาสุราษฎร์ธานี เสนอรับรางวัลนักศึกษาพระราชทาน ในปีแรกปรากฎว่า ได้รางวัลชมเลย จนกระทั่งขึ้น ปวช.3 อาจารย์ก็ส่งชื่ออีกครั้ง ก็ได้รับคัดเลือกให้เป็นนักศึกษารางวัลพระราชทาน ได้มีโอกาสเข้าเฝ้าสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อรับพระราชทานรางวัลจากพระองค์ทาน ตอนแรกตั้งใจว่าจะเลิกทำกิจกรรม ในการเรียนระดับสูงขึ้น แต่พระองค์ทานได้พระราชทานพระดำรัส ว่ารางวัลกว่าจะได้มาก็ยากลำบาก แต่สิ่งที่ยากกว่าคือการรักษาผลงาน ที่กระทำมา และจะกระทำต่ออย่างไร สิ่งนี้จึงอยู่ในหัวตัวเองมาตลอด”

  • ชิงทุนเรียน ปวส. ทำซีทขาย ติวข้อสอบเพื่อน สู่การคว้าเกียรตินิยมอันดับ 1

 

“สถาพร” บอกกับเราว่า พอจบ ปวช.3 ก็ได้สิทธิเข้าสอบโควต้า ที่มหาวิทยาลัยราชมงคล วิทยาเขตพระนครใต้ ในสาขาวิชาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ ตอนมาเรียนที่มหาวิทยาลัยราชมงคล วิทยาเขตพระนครใต้  เช่าห้องแคบ ๆ เล็ก ๆอยู่แถวบางพลัด แล้วนั่งเรือด่วนเจ้าพระยาไปเรียนที่แถวเจริญกรุง ถ้าจะขึ้นรถเมล์ ก็จะใช้แผนที่ เพราะมาอยู่กรุงเทพฯ แบบไม่รู้จักใคร ตอนเรียน ก็ช่วยอาจารย์เดินสายแลนด์ ติดตั้งระบบคอมพิวเตอร์ร้านเกม หารายได้ เพราะช่วงนั้นร้านเกมกำลังบูมมาก

 

“จนกระทั่งจบการศึกษาระดับ ปวส.2 ที่สถาบันเทคโนโลยี ราชมงคลพระนครใต้ ก็สอบชิงทุนไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร สาขาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ ซึ่งตอนสอบนั้นคือทางมหาวิทยาลัยให้ทุนภาคละ 1 คน เราต้องชิงทุนในส่วนของภาคกลาง สอบทั้งข้อเขียน และสัมภาษณ์ แต่ท้ายที่สุดเราก็สามารถเป็นตัวแทนเข้าไปเรียนได้ เรียนฟรีทั้งหมด แต่มีข้อแม้ว่าต้องเกรียดเฉลี่ยไม่ต่ำกว่า 3.0 ถ้าเกรดไม่ถึงต้องจ่ายค่าใช้จ่ายทั้งหมดเอง”

 

“ตอนเรียนก็ไม่อยู่แถวมหาวิทยาลัย เพราะเกรงว่าจะตามเพื่อน เฮฮากับเพื่อนไม่ได้เรียนหนังสือ ก็อยู่ไกล ๆ เพื่อจะได้รีบกลับที่พัก ได้กลับมาอ่านหนังสือ เพื่อที่บ้านจะได้ไม่ต้องลำบากจ่ายค่าเทอม ในตอนเรียนก็ทำชีต ติวข้อสอบ ขายเพื่อนด้วย เพื่อมีรายได้ และรับเขียนโปรแกรมให้กับเพื่อนต่างสถาบัน จนกระทั่งจบการศึกษาระดับปริญญาตรี ด้วยเกียรตินิยมอันดับ 1”

 

 

 

  • เริ่มต้นเป็นพิธีกรสถานีวิทยุ “ร่วมด้วยช่วยกัน” สู่ “ผู้ประกาศข่าว Top News “

 

“ระหว่างที่ทำงานเป็นโปรแกรมเมอร์ มีคนชวนมาลองจัดรายการที่สถานีวิทยุ ร่วมด้วยช่วยกัน เป็นรายการตอน4 ทุ่ม คุยกัน 4 คน 4 ภาษา เหนือ กลาง ใต้ อีสาน ซึ่งสถาพร เองก็จัดภาษาใต้  และได้จัดต่อเนื่องเป็นประจำ ต่อมา “ร่วมด้วยช่วยกัน” คืนคลื่นวิทยุฯ  ก็ได้รับเลือกจาก สถานีจราจร ให้ไปจัดรายการจราจร ที่สถานีจราจรเพื่อสังคม และขณะที่ทำงานเป็นโปรแกรมเมอร์ตอนนั้นก็ทำเว็บไซต์ วิ่ง ชื่อว่าเว็บรันเนอร์คอร์เนอร์ดอทคอม จนทางไนกี้ประเทศไทย เชิญไป ทดสอบรองเท้าไนกี้ฟรี ที่ไนกี้ แคมป์ โอเรกอน สหรัฐอเมริกา กลับมาก็ยังคงประกอบอาชีพเป็นโปรแกรมเมอร์ เช่นเดิม จนกระทั่งได้กลับมาร่วมงานกับคุณต้อย สนธิญาณที่ ทีนิวส์ และไปจัดรายการที่ “ไบร์ท ทีวี” ย้ายมาเนชั่น ก่อนจะกลายเป็นพิธีกรชุดแรกที่เริ่มบุกเบิกก่อตั้งช่อง Top News อยู่มาจนถึงปัจจุบัน กำลังจะเข้าปีที่ 4 แล้ว”

 

“สถาพร “ ทิ้งท้ายว่า เพราะในสมัยตัวเองเป็นเด็กนั้นต้องมีความพยายามอย่างยิ่งในการที่จะหาความรู้ วางแผน ให้กับตัวเอง ไม่มีโอกาสได้รับสิ่งดี ๆ แบบที่น้อง ๆ ได้รับ ดังนั้นอยากให้ทุกคนที่ได้โอกาสนี้ได้เก็บเกี่ยวความรู้ประสบการณ์เพื่ออนาคตของตัวเอง เพราะโอกาสแบบนี้ไม่ใช่ว่าทุกคนจะได้รับ เมื่อเรามีโอกาสควรจะไขว่คว้าเอาไว้ให้ได้มากที่สุด และดีที่สุดครับ

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด

เสนาธิการทหารเรือ เน้นให้หน่วยงานลงพื้นที่สำรวจ พบปะชาวบ้านสำหรับการป้องกัน "เชิงรุก"
“ธนกร” ค้านร่าง “สุราก้าวหน้า” ฉบับ “เท่าพิภพ” ชี้สุดซอยเกินเหตุ หวั่นไม่ได้มาตรฐาน อาจซ้ำรอย “ยาดองมรณะ”
"กองทัพเรือ" จัดกำลังเข้าช่วยเหลือผู้ประสบภัย 4 จังหวัด พร้อมเฝ้าระวังและรับมือสถานการณ์อุทกภัย
นายอำเภอบางละมุง ร่วมกิ่งกาขาดอำเภอบาวละมุง, ผู้บริหารเมืองพัทยา ลงพื้นที่ บ้านเกาะล้าน มอบทุนการศึกษา-ให้ขวัญกำลังใจ นักเรียนโรงเรียนเมืองพัทยา 10
ฉะเชิงเทรา คึกคัก เทศกาลคืนวันไหว้พระจันทร์
"บิ๊กอ้วน" เป็นประธานพิธีปิดการศึกษา หลักสูตรวปอ.รุ่นที่ 66
จ.ระยอง ชวนชมฟรีคอนเสิร์ต 'Rayong long beach festival 2024 @Laemmaephim' จัดใหญ่ขนนักร้องชื่อดังของเมืองไทย ระเบิดความมันส์ พร้อมเต็มอิ่มกับอาหารทะเล Street food 20-22 ก.ย.นี้ ที่ชายหาดแหลมแม่พิมพ์ อ.แกลง
"รองผู้ว่าการรถไฟฯ" ตามติดน้ำท่วม ม.พะเยา ยันโครงการก่อสร้างทางรถไฟของโครงการทางคู่ ไม่มีเอี่ยวเหตุน้ำท่วม พร้อมสั่งจนท.เข้าลงพื้นที่เข้าช่วยเหลือ-ดูแลประชาชนอย่างใกล้ชิด-ติดตามสถานการณ์ทุกระยะ
บริษัท กรุงสยามเครื่องดื่ม จำกัด ผู้ผลิตเครื่องดื่มชูกำลัง ตรา คอมมานโด ได้มอบสิ่งของช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม
"กรมอุตุฯ" เตือน พายุ "ดีเปรสชัน" ฉบับ 6 จ่อทวีกำลังแรงเป็นพายุโซนร้อน ไทยฝนตกหนักถึงหนักมาก

ดู LIVE รายการ

X

เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น