No data was found

พล.อ.สมเจตน์ พร้อมร่วมส่งศาลรธน.ตีความแก้รธน.เกินหลักการ

กดติดตาม TOP NEWS

รัฐสภา 23 ส.ค.-  “พล.อ.สมเจตน์” ชี้รัฐสภาพิจารณารธน.เกินหลักการไม่ได้ พร้อมเป็นหนึ่งชื่อส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ตัดสินข้อยุติ เตือนทุกคนต้องยึดหลักการ อย่ายึดหลักกู หวั่นชี้โพรงให้กระรอก ขยายไปสู่เป้าหมาย

พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวท็อปนิวส์ ถึงกรณีการประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ (ฉบับที่…) พ.ศ…. แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 83 และมาตรา 91 ว่าด้วยระบบเลือกตั้ง ในวันที่ 24 -25 ส.ค.ว่า วุฒิสภาไม่ได้เป็นพรรคการเมืองที่เป็นกลุ่มเป็นก้อน เราทุกคน 250 คนก็ 250 พรรค และ 250 แนวความคิด ซึ่งในวันนี้ก่อนการประชุมวุฒิสภา ทางนายศุภชัย สมเจริญ รองประธานสภาฯ ในฐานะประธานคณะกรรมการวิชาการ ได้เชิญคณะกรรมการวิชาการมาให้ข้อมูล และข้อสังเกตเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญที่มีการแก้ไขก่อนที่จะมีการประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อประกอบการตัดสินใจของส.ว.ในวันประชุม ในส่วนของตนมองว่ารัฐธรรมนูญที่ผ่านชั้นรับหลักการคือมาตรา 83 เรื่องการกำหนดจำนวนสมาชิกส.ส. ที่ต้องการแก้ไขเป็นแบบแบ่งเขต 400 คน และแบบบัญชีรายชื่อ 100 คน และมาตรา 91 เรื่องวิธีการคำนวนส.ส.บัญชีรายชื่อที่เปลี่ยนเป็นใช้บัตรเลือกตั้งสองใบ ซึ่งตนมองว่าการเสนอญัตติการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ของพรรคประชาธิปัตย์ที่รัฐสภารับหลักการนั้น เป็นการแก้ไขที่ไม่มีความสมบูรณ์ เพราะไม่ครบทุกมาตรา เนื่องจากเมื่อมีการแก้ไขในชั้นกมธ.ก็มีการแก้ไขเพิ่มเติมไปอีก 7 จุดคือ เชื่อมโยงมาตรา 85 มาตรา 86 มาตรา 92 มาตรา 93 มาตรา 94 และบทเฉพาะกาลอีก 2 จุดที่เกี่ยวข้องกับพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. และการให้อำนาจกกต.กำหนดหลักเกณฑ์วิธีการในการเลือกตั้งก่อนที่รัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขจะบังคับใช้ ปัญหาคือเมื่อสภาฯรับหลักการ 2 มาตรา แล้วไปแก้ไขเพิ่มเติมอีก 7 จุด เป็นการแก้ไขนอกหลักการหรือไม่ ซึ่งตรงนี้กมธ.ชี้แจงว่าสามารถทำได้ โดยยกข้อบังคับรัฐสภาข้อที่ 124 วรรคสามว่ากรณีที่มีการแก้ไขที่เกี่ยวเนื่องสามารถเพิ่มเติมหรือลดมาตราที่เกี่ยวเนื่องได้ ถามว่ามีวิธีการนี้ถูกต้องหรือไม่

พล.อ.สมเจตน์ กล่าวว่า ในส่วนของตนมีข้อสังเกตว่าในอดีตเคยมีการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2550 ที่เสนอแก้ไขที่มาของส.ว. ที่มีข้อความแก้ไขที่ไม่สมบูรณ์ขาดตกไป 2 มาตรา คือมาตรา 116 และมาตรา 241 ในครั้งนี้เมื่อเสนอยื่นญัตติแก้ไขมาแล้วปรากฎว่าตรวจพบภายหลังว่าญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่สมบูรณ์ จึงมีการแก้ไขเพิ่มเติมกัน โดยนำร่างใหม่ที่แก้ไขมาตรา 116 และมาตรา 141 ไปแก้ไขแล้วดึงร่างเก่าออก จึงเป็นที่มาของการสลับร่าง ตอนนั้นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าร่างเดิมมีสมาชิกเซ็นต์รับรอง แต่ร่างใหม่ไม่มีใครรับรอง หากย้อนไปดูข้อบังคับรัฐสภาข้อที่ 124 ที่กมธ.อ้างนั้น ก็คือข้อบังคับของรัฐสภาพ.ศ. 2553 ข้อที่ 96 ที่มีข้อความเหมือนกันทุกตัวอักษร คำถามก็เกิดขึ้นว่าพรรคเพื่อไทยในการแก้ครั้งนั้น ทำไมไม่ใช้วิธีการแก้ไขปัญหานี้ เหมือนกับที่กมธ.ใช้ข้อบังคับนี้มาแก้ปัญหา ในอดีตพรรคเพื่อไทยไม่ฉลาดหรือ หรือไม่เคยทำกันมาก่อน จึงเป็นจุดว่าสิ่งที่กมธ.แปลความว่ากระทำได้ถูกต้องและชอบธรรมหรือไม่ เพราะมันไม่เคยทำมาก่อน และในอดีตทำไม่ได้ ปัจจุบันทำได้ ดังนั้นตรงนี้ถ้าทำได้จะกลายเป็นบรรทัดฐานต่อไปว่าการแก้กำหนดเสนอหลักการมา 2 มาตรา แล้วไปแก้อีกหลายส่วนโดยอ้างถึงความเกี่ยวเนื่อง ถามว่าเกี่ยวเนื่องจริงหรือไม่ และอีก 7 จุดที่บอกว่าเกี่ยวเนื่อง ตนเห็นเพียงแค่ 2-3 จุดเท่านั้นเอง ซึ่งความเห็นตนเห็นว่าการแก้ไขครั้งนี้เป็นการแก้ไขเกินหลักการ

เมื่อถามว่า ทางพรรคก้าวไกลยื่นญัตติด่วนขอให้ตีความกระบวนการแก้รัฐธรรมนูญเป็นไปตามข้อบังคับการประชุมสภาข้อ 124 หรือไม่ พล.อ.สมเจตน์ กล่าวว่า น่าจะเป็นสิ่งที่ถูกต้อง เพราะเป็นเรื่องที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ดังนั้นต้องมาคุยก่อนว่าทำได้หรือทำไม่ได้ ถ้าลงมติว่าทำได้จะกลายเป็นบรรทัดฐานในการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งต่อไปว่าการแก้ไขเสนอเพียงมาตราใดมาตราหนึ่งเข้ามาเป็นหลัก แล้วไปอ้างความเกี่ยวเนื่องเพื่อแก้ไขอีกหลายมาตรา จะกลายเป็นบรรทัดฐาน ตนจึงเห็นว่าควรส่งศาลรัฐธรรมนูญเพื่อตีความให้ได้ข้อยุติ เพราะสิ่งนี้ไม่เคยเกิดขึ้น และมาเกิดขึ้นโดยการตีความ ซึ่งถามว่าการตีความของกมธ.เสียงส่วนใหญ่นั้นถูกต้องหรือไม่ อาจจะไม่ถูกต้องก็ได้ เมื่อเกิดสองความเห็นก็ต้องมีความเห็นที่เป็นข้อยุติ ตนคิดว่าจึงต้องใช้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นที่พึ่ง ส่วนศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยไปทางใดก็สุดแล้วแต่ เพื่อให้เป็นบรรทัดฐานต่อไป

เมื่อถามว่า หากจะยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความ ต้องรอให้โหวตผ่านวาระ 3 หรือไม่ พล.อ.สมเจตน์ กล่าวว่า ทำได้สองส่วน หากเป็นความเห็นของสภาฯ จะส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเหมือนกรณีที่พรรคพลังประชารัฐที่เคยเสนอญัตติส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยการทำหน้าที่ของสภาฯในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตนคิดว่าก็สามารถทำได้โดยอาจจะมีการพิจารณาวาระ 3 ไปแล้วแต่ยังไม่ลงมติ จะส่งศาลรัฐธรรมนูญช่วงนี้ก็ได้ หรือหลังจากลงมติวาระ 3 ไปแล้วก็ใช้ส.ส.หรือส.ว. หรือสมาชิกรัฐสภา 1 ใน 10 เข้าชื่อต่อประธานของสภาแห่งตนและยื่นศาลรัฐธรรมนูญเพื่อตีความก็ได้

เมื่อถามว่า แค่เริ่มก็สะดุดแล้ว พล.อ.สมเจตน์ กล่าวว่า ไม่ได้เป็นเรื่องสะดุด แต่เป็นเรื่องความเห็นต่างที่ต้องมีข้อยุติที่เป็นที่ยอมรับกัน นั่นก็คือศาลรัฐธรรมนูญ ดังนั้นกรณีนี้เพื่อความสบายใจของทุกฝ่ายก็ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เพื่อให้เกิดผลผูกพันกับองค์กร

“ประเด็นใดก็ตามที่เห็นไม่ตรงกันหรือขัดแย้งกันก็ต้องหาข้อยุติ ไม่เช่นนั้นจะเถียงกันไปเรื่อย และข้อยุติใช้สภาฯเพียงอย่างเดียวคงไม่พอ เพราะสภาฯใครคุมเสียงข้างมากก็ได้ไป มันต้องมีข้อยุติเป็นที่สุด และคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญผูกพันทุกองค์กร เมื่อเป็นที่สุดก็จะเป็นบรรทัดฐานในการปฏิบัติ ถ้ายังมีแค่มติของสภาฯ ต่อไปก็เปลี่ยนได้ ถ้าฝ่ายไหนมาเป็นรัฐบาล ตรงนี้เป็นเรื่องใหม่ และไม่เคยทำ เมื่อตีความว่าทำได้ และอีกฝ่ายตีความว่าทำไม่ได้ ข้อยุติจึงควรให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ในส่วนของผมก็พร้อม ใครจะยื่นก็แล้วแต่ ผมพร้อมจะเป็นส่วนหนึ่ง เพราะว่าผมคิดว่ามันทำไม่ได้” พล.อ.สมเจตน์ กล่าว

เมื่อถามอีกว่า มองว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ เพื่อประโยชน์พรรคการเมืองเท่านั้นหรือไม่ พล.อ.สมเจตน์ กล่าวว่า แน่นอนว่าการแก้ไขเรื่องการเมืองย่อมมีคนได้ประโยชน์และเสียประโยชน์ ส่วนใครจะได้หรือเสียประโยชน์ตนไม่ได้ให้ความสนใจ แต่ตนสนใจเรื่องหลักการ เพราะหลักการรัฐธรรมนูญเป็นหลักการของประเทศชาติ ถ้าเราไม่ยึดหลักการสำคัญเอาไว้แล้วไปทำอะไรตามอำเภอใจ ประเทศชาติก็จะยุ่งยาก และวุ่นวายขึ้น ไม่เช่นนั้นตนมีอำนาจจะทำอะไรก็ทำ ดังนั้นต้องทำตามหลักการที่กำหนดและเป็นมาตรฐาน ไม่ใช่ว่าครั้งหนึ่งตนเป็นรัฐบาลแล้วทำได้ เมื่อตัวเองมาเป็นฝ่ายค้าน สิ่งที่เขาจะทำเหมือนกันกลับทำไม่ได้ ตนคิดว่านี่ไม่ใช่หลักการ ในอดีตพรรคการเมืองค้านอย่างสุดเลยว่าทำไม่ได้ แต่พอมาอีกครั้งบอกว่าทำได้ ตนก็ไม่เข้าใจว่าการยึดหลักการนั้นยึดเฉพาะเหตุ เฉพาะตำแหน่งหรือเฉพาะอะไร

เมื่อถามว่า นี่จะเป็นจุดแตกของพรรคร่วมรัฐบาลและพรรคร่วมฝ่ายค้านหรือไม่ พล.อ.สมเจตน์ กล่าวว่า พรรคร่วมทั้งสองฝ่ายมีแนวความคิดที่ไม่จำเป็นต้องคิดเหมือนกัน แต่จุดสำคัญคือผลประโยชน์ของประเทศชาติ ที่เชื่อว่าทุกพรรคจะไม่ขัดแย้งกัน เมื่อถามต่อว่าบรรยากาศการประชุมจะราบรื่นหรือไม่ พล.อ.สมเจตน์ กล่าวว่า การอภิปรายถกเถียงกันถือเป็นเรื่องปกติ แต่ขึ้นอยู่กับมารยาทผู้อภิปรายว่าทำตามข้อบังคับได้ขนาดไหน ไปกระทบใครหรือไม่ ไม่ใช่อภิปรายเรื่องรัฐธรรมนูญแต่ไปก้าวล่วงเรื่องการบริหาร อีกทั้งขึ้นอยู่กับประธานที่ประชุมว่าสามารถใช้ข้อบังคับตักเตือนได้หรือไม่ ไม่ใช่เถลไถล หาเหตุเรื่องนี้ไปตีเรื่องนั้นก็จะวุ่นวาย เพราะจะเกิดการประท้วงกันไปมา เป็นภาพพจน์ที่ไม่ดีต่อประชาชน ตนคิดว่าสมาชิกรัฐสภาต้องระมัดระวัง อย่าคิดว่าสิ่งที่ตนเองทำประชาชนมองไม่เห็น เพราะประชาชนตัดสินใจได้ว่าเกินเลย และไร้สาระหรือไม่ การโต้เถียงกันเสียเวลาสภาฯ สมาชิกท่านใดทำแบบนั้นก็เท่ากับฆ่าตัวเอง ไม่ใช่สร้างชื่อเสียงให้ตัวเอง

“เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องระวังให้ดี ถ้าคุณทำแบบนี้ได้ อาจจะนำไปสู่ปัญหาใหญ่ของประเทศชาติ ถ้าสภาฯ บอกว่าการแก้ไขนี้ไปเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยง เขาจะถือเป็นบรรทัดฐาน แล้วต่อไปหากเขาเสนอแก้เพียงมาตราเดียวแล้วไปแก้ความต่อเนื่อง ขนาดเรื่องงบประมาณส่วนหนึ่ง แต่เรื่องนี้เขายังอภิปรายไปกระทบโน้นกระทบนี่ ตีรวนอะไรต่ออะไรได้ ดังนั้นอย่าคิดเพียงตัวเองได้ประโยชน์อย่างเดียวนะ ต้องคิดถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติด้วย ผมอยากฝากว่าถ้ากำหนดเป็นบรรทัดฐานว่าทำได้ จะเป็นเรื่องอันตรายอย่างยิ่งต่อประเทศชาติ ทุกคนต้องยึดหลักการ อย่ายึดหลักกู” พล.อ.สมเจตน์ กล่าว

พล.อ.สมเจตน์ กล่าวถึงกรณีที่พรรคก้าวไกลอภิปรายมุ่งโจมตีมาตรา 36 งบประมาณส่วนราชการในพระองค์ว่า ที่ผ่านมาพรรคก้าวไกลเคยพูดถึงเรื่องงบลับในกระทรวงกลาโหม ตนก็ได้ชี้แจงไปว่าตัวเลขต่าง ๆ ที่ยกมาเป็นข้อมูลที่ไม่จริงทั้งสิ้น การอภิปรายในสภาฯ ต้องมีหลักฐานในการยืนยัน ถ้าไปพูดไร้สาระไม่มีหลักฐานเท่ากับทำลายตัวเอง ในที่สุดก็จะกลายเป็นคนที่ไม่มีใครเชื่อถือ เวลาพูดอะไร คุณก็เห็นนักการเมืองในอดีตเป็นตัวอย่างมากมาย ยกตัวเลขมาเมื่อตรวจสอบแล้วมันไม่จริง คุณก็ขาดความน่าเชื่อถือ ดังนั้นในสภาฯไม่ใช่แค่อภิปรายดีอย่างเดียว แต่ต้องอภิปรายบบนพื้นฐานข้อมูลข้อเท็จจริงที่ถูกต้อง มีเสน่ห์ มีมารยาทจึงจะเป็นนักการเมืองที่ดี

เมื่อถามว่า เป้าหมายของพรรคก้าวไกลคือมุ่งเน้นไปที่การปฏิรูปสถาบัน พล.อ.สมเจตน์ กล่าวว่า “ก็นั้นแหละ ดังนั้นผมคิดว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้จะเป็นเครื่องชี้วัดว่าหากสามารถแก้เกินหลักกการที่รับไว้ได้ จะไปสู่เป้าหมายที่เขาต้องการ เขาจึงฉลาดให้มีการตีความ เพราะเขารู้ว่าเสียงในสภาฯ เขาแพ้คุณ หากครั้งต่อไปเขาทำแบบคุณบ้าง คุณจะว่าอย่างไร และจะไปกระทบกับสถาบันหลักของชาติ”

เมื่อถามว่า การที่พรรคก้าวไกลยื่นญัตติด่วนขอให้ตีความกระบวนการแก้รัฐธรรมนูญเพื่อเปิดช่องหวังสร้างบรรทัดฐานในอนาคตเพื่อตัวเองใช่หรือไม่ พล.อ.สมเจตน์ กล่าวว่า “คุณเปิดช่อง เขาบอกว่าทำไม่ได้ แต่คุณบอกว่าทำได้ โดยคุณลืมและชี้โพรงให้กระรอก ต่อไปกระรอกก็จะใช้โพรงของคุณขยายไปสู่เป้าหมายของเขา พรรคใดก็แล้วแต่ที่เขามีความคิดล้มล้างสถาบันจะใช้ช่องตรงนี้ไปขยาย ขอฝากไปถึงผู้เกี่ยวข้องถ้ายังยืนยันในหลักการนี้อยู่ คุณจะทำให้เกิดความเสียหายของชาติในอนาคต”

ข่าวที่น่าสนใจ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด

"สุชาติ" เปิดบ้านชื่นมื่น ชาวชลบุรีแห่ยินดี รับตำแหน่งรมช.พาณิชย์ ลั่นมุ่งมั่นทำงานเพื่อประชาชน สถาบันหลักชาติ
รอง ผอ.ศรชล.จว.สป. เป็นประธานจัดกิจกรรม "วันอาภากร"
ยายวัย 82 โชคดีหวิดดับ หลังมายืนรดน้ำต้นไม้
ผู้กำกับพัทยาจัดพิธีบวงสรวง เสด็จเตี่ย เนื่องในวันอาภากร
สพป.ขอนแก่น สั่งเด้ง "ผอ." ซื้อบริการเด็ก 12 ปี ตั้งคกก.สอบ เข้าข่ายผิดวินิยร้ายแรง
"โฆษกศธ." ย้ำนโยบายลดภาระเปิดเทอม ผ่อนผัน ยกเว้นแต่งชุดนร.ไม่ใช่ยกเลิก
"ทนายด่าง" เตรียมนำทีมครอบครัว ทวงถามรพ.ราชทัณฑ์ ขอเอกสารก่อน "บุ้ง" เสียชีวิต 5 วัน ยังคาใจใส่ท่อผิดจุด
เตรียมพิธีรับมอบ "Golden Boy–สตรีพนมมือ" หวนคืนแผ่นดินไทย 21 พ.ค.นี้
"นักโบราณคดี" ยืนยัน "โกลเด้นบอย" ถูกค้นพบที่ จ.บุรีรัมย์ ถือเป็นหลักฐานใหม่ พลิกหน้าประวัติศาสตร์
คลิปนี้ชัดมาก “แม่น้องไนซ์” พูดเต็มปากเต็มคำ เชื่อมจิตมีในพระไตรปิฎก โซเชียลจับตาส่อผิด พ.ร.บ.คอมพ์

ดู LIVE รายการ

X

เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น