เมื่อวันที่ 24 ม.ค. นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวถึงกรณีที่นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ยื่นหนังสือถึงกกต.และนายทะเบียนพรรคการเมือง เพื่อขอให้ไต่สวนและวินิจฉัยพรรคพลังประชารัฐมีมติให้ 21 ส.ส.ของพรรคออกจากสมาชิกสภาพนั้น อาจขัดรัฐธรรมนูญและมีความผิดถึงขั้นยุบพรรคได้นั้นว่า ประเด็นที่นายศรีสุวรรณร้องเรียนกกต.นั้น เป็นการร้องว่าพรรคพลังประชารัฐ ทำผิดพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 92 (2) ที่ระบุว่า เข้าข่ายกระทําการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งจะนำไปสู่การยุบพรรคการเมืองได้ หากพบว่ามีการกระทำดังกล่าว ทางกกต.ต้องดำเนินการสืบสวนสอบสวนเพื่อหาข้อเท็จจริง ถ้าพบว่ามีความผิดจริงจึงส่งศาลรัฐธรรมนูญพิจารณายุบพรรคการเมือง แต่กรณีนี้ตนคิดว่ายังไม่ไปไกลขนาดนั้น เพราะเป็นการประชุมดำเนินการภายในพรรค เพื่อลงมติขับส.ส.ของพรรคออก หลังจากที่พบว่ามีการกระทำรุนแรงเสียหายต่อพรรค แต่ไม่ได้เป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตย
เมื่อถามว่า ข้ออ้างของพรรคในการขับ 21 ส.ส. อ้างว่าส.ส.กลุ่มดังกล่าวเรียกร้องปรับโครงสร้างพรรค ถือเป็นเหตุร้ายแรง กระทบเสถียรภาพและเอกภาพของพรรคนั้นฟังขึ้นหรือไม่ นายสมชัย กล่าวว่า นั้นคือเหตุผลที่พรรคชี้แจงว่าเหตุใดจึงขับ 21 ส.ส.ออกจากการเป็นสมาชิกพรรค ซึ่งตนมองว่าไม่ได้เป็นการกระทำที่เป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตย และเป็นเรื่องภายในของพรรคที่ดำเนินการได้ ไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญ ยกเว้นเสียแต่ว่าจะมีความไม่สมบูรณ์ในการลงมติ เช่น กรรมการบริหารของพรรคและส.ส.ไม่ได้ประชุมร่วมกันจริง หรือองค์ประชุมไม่ครบจริงแล้วส่งเรื่องให้กกต. หากกกต.ตรวจสอบพบความไม่สมบูรณ์ก็จะส่งเรื่องคืนให้พรรคดำเนินการแก้ไขจัดประชุมและลงมติใหม่ให้ถูกต้อง
เมื่อถามถึงกรณีที่นายสมศักดิ์ พันธ์เกษม ส.ส.นครราชสีมา ร้องขอให้ทบทวนมติพรรค นายสมชัย กล่าวว่า เป็นเรื่องของนายสมศักดิ์กับกรรมการบริหารพรรค นายสมศักดิ์สามารถอุทธรณ์เรื่องไปที่กรรมการบริหารพรรคได้ หากต้องการยืนยันตัวเองว่าไม่ได้เกี่ยวข้องกับกลุ่มของร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา และถูกขับออกโดยไม่เหมาะสม ซึ่งเป็นเรื่องที่กรรมการบริหารพรรคจะต้องทบทวนเอง หากเห็นว่านายสมศักดิ์ไม่ได้ก่อความวุ่นวายก็สามารถคืนสถานะให้นายสมศักดิ์ได้ แต่ถ้าเห็นว่าการลงมติขับนายสมศักดิ์ถูกต้องแล้วก็ยืนยันการลงมติไป หากนายสมศักดิ์ไม่พอใจก็สามารถไปฟ้องร้องต่อศาลปกติทั่วไปได้ว่าทำให้สูญเสียสิทธิประโยชน์ในการเป็นสมาชิกพรรค ซึ่งน่าจะเป็นคดีแพ่ง ไม่ใช่คดีอาญา อย่างไรก็ตามกรณีที่จะยุบพรรคได้นั้นมีทางเดียวคือมติของพรรคพลังประชารัฐที่ออกมาขับ 21 ส.ส.พ้นพรรคมาจากการปรึกษาหารือ และร้องขอจากพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหมเท่านั้น เป็นเหตุผลเดียวที่จะยุบพรรคได้ เพราะผิดพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 28 เนื่องจากพล.อ.ประยุทธ์เป็นบุคคลภายนอกดำเนินการครอบงำพรรคการเมือง